โพลล์ชี้ 'ค่าเงินเอเชียรวมค่าเงินบาท'อ่อนค่าต่อเนื่อง

โพลล์ชี้ 'ค่าเงินเอเชียรวมค่าเงินบาท'อ่อนค่าต่อเนื่อง

ผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุ ค่าเงินในเอเชีย รวมทั้งค่าเงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่อง ขณะเยนร่วงแตะ 150 เยนต่อดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบ 32 ปี เมื่อวันพฤหัสบดี(20ต.ค.)

ผลสำรวจความเห็นบรรดานักวิเคราะห์ ของรอยเตอร์ซึ่งจับตามองการเคลื่อนไหวของตลาดเงินใน 9 ประเทศ คือค่าเงินหยวนของจีน เงินวอนเกาหลีใต้ ดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ดอลลาร์ไต้หวัน รูปีอินเดีย เปโซฟิลิปปินส์ ริงกิตมาเลเซีย และเงินบาทไทย พบว่า แนวโน้มค่าเงินในเอเชียจะยังอ่อนค่าลงต่อไปจากที่ผ่านมาค่าเงินในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าลงอย่างหนัก ในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ค่าเงินริงกิตและรูปีจะอ่อนค่าลงต่อ เช่นเดียวกับค่าเงินบาทและรูเปียห์ โดยค่าเงินริงกิตมาเลเซีย ที่อ่อนค่าลง 12% ในปีนี้ ในมุมมองนักวิเคราะห์ เชื่อว่าจะอ่อนค่าลงอีกในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียที่จะมาถึง

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์แสดงความกังวลเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกที่สะท้อนถึงความเสี่ยงเรื่องภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ประเด็นค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าจากมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีน และการดำเนินนโยบายการเงินของจีนที่สวนทางประเทศเศรษฐกิจสำคัญด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

ความกังวลของบรรดานักวิเคราะห์มีขึ้นในช่วงที่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นร่วงลงแตะที่ระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกในรอบ 32 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1990 ในการซื้อขายในตลาดเงินเมื่อวันพฤหัสบดี(20ต.ค.) ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่สวนทางกับของสหรัฐที่ดำเนินนโยบายเข้มงวดและมุ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรง

โดยเงินเยนได้อ่อนค่าลงไปแตะถึงระดับ 150.08 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปรับขึ้นมาเล็กน้อยในภายหลัง

นายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น เรียกความผันผวนในตลาดเงินว่ามากเกินไป และกล่าวเตือนว่าทางการจะดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพ ขณะที่เมื่อต้นสัปดาห์นี้ นายซูซูกิปฏิเสธที่จะยืนยันว่ามีการแทรกแซงตลาดที่ไม่มีการเปิดเผยเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้หรือไม่

ทั้งนี้ เงินเยนได้อ่อนค่าลงจากระดับ 115 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ผลจากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ยึดมั่นในนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 โลก

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงในความพยายามที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากหลายปัจจัย รวมถึงสงครามยูเครน

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เงินเยนจะยังคงอ่อนค่าลงต่อไปตราบใดที่นโยบายทางการเงินของญี่ปุ่นและสหรัฐยังดำเนินไปในทิศทางที่แตกต่างกันเช่นนี้ ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่าเฟดยังอาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกในขณะที่ราคาสินค้าในสหรัฐยังคงพุ่งทะยานขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้