บทเรียนจากต่างแดน: เปิดสองทางเลือกรับมืออัตราการเกิดต่ำ

บทเรียนจากต่างแดน: เปิดสองทางเลือกรับมืออัตราการเกิดต่ำ

ปัญหาอัตราการเกิดต่ำกำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศจนกลายเป็นเทรนด์โลก ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตามมา และดูเหมือนว่าทางออกมีไม่มากนัก

ทั้งสหราชอาณาจักร (ยูเค) และสหรัฐ กำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า “ระเบิดเวลาประชากร” อัตราการเกิดลดลงเรื่อยๆ แต่ทราบหรือไม่ว่า นักประชากรศาสตร์ไม่ชอบคำนี้เอามากๆ

“อย่างแรกเลย ดิฉันเกลียดวลีนี้” ซาราห์ ฮาร์เปอร์ ศาสตราจารย์ด้านพฤฒาวิทยา (ศึกษาผลกระทบจากการสูงอายุ) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเปิดฉากกับสำนักข่าวบีบีซี

“ดิฉันไม่คิดว่านี่คือระเบิดเวลาประชากร มันเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านด้านประชากร เรารู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดขึ้น และเกิดขึ้นตลอดศตวรรษที่ 21 จึงไม่ใช่เรื่องไม่คาดคิด และเราควรเตรียมการสำหรับเรื่องนี้” ฮาร์เปอร์ย้ำ

อย่างไรก็ตาม ขนาดของปัญหาหนักหน่วงขึ้น ประเทศที่ต้องการเพิ่มหรือรักษาจำนวนประชากรจะต้องมีอัตราการเกิดเฉลี่ยอยู่ระหว่างเด็ก 2.1-2.4 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน ที่เรียกกันว่า “อัตราทดแทน” บทเรียนจากต่างแดน: เปิดสองทางเลือกรับมืออัตราการเกิดต่ำ

กระนั้น ตัวเลขล่าสุดอัตราการเกิดโดยเฉลี่ยของอังกฤษและเวลส์หรือที่เรียกว่าอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวม ลดลงมาอยู่ที่เด็ก 1.49 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคนในปี 2565 จาก 1.55 ในปี 2564 โดยอัตราลดลงมาตั้งแต่ปี 2553

สกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือที่เก็บข้อมูลแยกต่างหากภาพรวมไม่ต่างกัน เช่นเดียวกับในสหรัฐ อัตราการเจริญพันธุ์ปี 2566 ลดลงเหลือ 1.62 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เทียบกับเมื่อปี 2503 อยู่ที่ 3.65

“จริงๆ แล้วตอนนี้ประเทศสองในสามของโลกมีอัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราทดแทนอยู่แล้ว ญี่ปุ่นต่ำ จีนต่ำ เกาหลีใต้ต่ำที่สุดในโลก” ฮาร์เปอร์กล่าวต่อ

ตอนนี้มีแค่ภูมิภาคซับสะฮาราในแอฟริกาเท่านั้นที่ประชากรเพิ่ม

การที่ต้องกังวลเรื่องอัตราการเกิดลดก็เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่ตามมา เมื่อนานาประเทศเผชิญกับผลกระทบทั้งจากประชากรสูงวัยและประชากรเกิดน้อย รวมถึงกำลังแรงงานน้อยกว่าจำนวนผู้รับบำนาญ

ลองคิดดูว่า เศรษฐกิจของชาติจะโตได้อย่างไรในเมื่อบริษัทต่างๆ ไม่สามารถหาคนงานได้มากพอ คนงานจำนวนน้อยจะหาเงินมาเป็นบำเหน็จบำนาญให้ประชากรวัยเกษียณที่มีจำนวนมากกว่ามากได้อย่างไร คำถามเหล่านี้ทำเอานักเศรษฐศาสตร์ในรัฐบาลถึงกับสะดุ้ง

ในความพยายามเพิ่มอัตราการเกิด หลายประเทศใช้วิธีทำให้ผู้หญิงมีลูกได้ง่ายขึ้น ด้วยการให้ความช่วยเหลืออย่างกว้างขวางกว่าเดิม เช่น ยกเว้นภาษี ขยายเวลาลาคลอดได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน แต่นโยบายแบบนี้ก็ทำได้แค่ชะลออัตราการเกิดลด ไม่สามารถพลิกกระแสได้

พูดง่ายๆ คือ ยิ่งผู้หญิงเรียนสูง ทำงานหนัก เก็บเงินมาก ชีวิตพวกเธอย่อมสุขสบาย หลายคนจึงไม่ทำลายรายได้และเส้นทางอาชีพด้วยการเป็นแม่ พวกเธอมีลูกน้อยลงหรือไม่มีเลย

สองวิธีพื้นฐานที่ประเทศใช้รับมืออัตราการเกิดลดคือ ทำให้ประชากรแข็งแรงทำงานได้นานขึ้น หรือเปิดรับผู้ย้ายถิ่นจำนวนมาก ทางเลือกที่ 3 ยังไม่มี

สิงคโปร์ หนึ่งในประเทศประชากรสูงวัยเร็วที่สุดในโลกเลือกใช้วิธีที่ 1

“มีความพยายามมากมายทั้งเพิ่มอายุเกษียณ ฝึกอบรมวัยกลางคน และกระตุ้นให้บริษัที่เสนอต่อเวลาจ้างงานไปจนถึงอายุ 69 ปี ให้จ้างแรงงานสูงวัย” ศาสตราจารย์แองเจลิก ชาน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาสูงวัยของสิงคโปร์ให้ความเห็น

ทั้งนี้ การว่าจ้างใหม่หมายถึงแรงงานสูงวัยสามารถทำงานต่อได้แม้อายุถึงวัยเกษียณถ้าต้องการ

ปัจจุบันอายุเกษียณของสิงคโปร์อยู่ที่ 63 ปี แต่จะขยายเป็น 64 ปีในปี 2569 และ 65 ปีภายในปี 2573 ซึ่งพอถึงเวลานั้นคาดว่าอายุที่ประชาชนจะสามารถทำงานต่อได้น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 70 ปี

ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลสิงคโปร์ยังเพิ่มความพยายามสร้างหลักประกันว่า พลเมืองทุกคนมีหมอ “ที่จะดูแลและจับตาอาการของคุณ ทำให้มั่นใจได้ว่าเรามีกลุ่มคนสุขภาพดีสามารถทำงานได้ต่อไป”

ชานกล่าวว่า สิงคโปร์กำลังใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาล “เพื่อให้มีประชากรแข็งแรงแรงที่สุด เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทำงาน (ขณะสูงวัย)” บทเรียนจากต่างแดน: เปิดสองทางเลือกรับมืออัตราการเกิดต่ำ

ในสหรัฐ โรนัลด์ ลี ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า ชาวอเมริกันสูงวัยที่ต้องทำงานหาเงินประทังชีพมีมากขึ้นทุกขณะ

“ถ้าเราดูสัดส่วนการบริโภคของคนอายุ 65 ปี และสูงกว่าในสหรัฐที่ได้เงินมาจากการยังคงทำงาน ตัวเลขสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ” ลีกล่าวและว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย

“ผมคิดว่าโลกต้องเลิกคิดได้แล้วว่า คนแก่ต้องพักผ่อนอยู่บ้านยาวไปตลอดชีวิต ผู้คนสุขภาพดีขึ้น กระฉับกระเฉง ความจำดีขึ้น พร้อมเดินหน้าต่อมากกว่าคนสูงวัยในอดีต ผมหวังอายุเกษียณจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงวัย 70 ตอนนี้ชาวอเมริกันได้รับบำนาญเต็มที่ตั้งแต่อายุ 66 ปี 2 เดือนแต่จะค่อยๆ เพิ่มเป็นอายุ 67 ปี”

แนวคิดของลีอาจไม่ถูกใจใครหลายคน แต่เป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่ออายุคาดหวังสูงขึ้นจนเกษียณอายุไม่ได้ อีกหนึ่งทางออกของปัญหาคือเพิ่มจำนวนคนย้ายถิ่น ซึ่งตอนนี้กลายเป็นประเด็นร้อนทั้งในยุโรปและสหรัฐ

เอลิซาเบธ คูเปอร์ จากกลุ่มคลังสมองศูนย์นโยบายยุโรป กล่าวว่า ฮังการีเป็นกรณีตัวอย่าง รัฐบาลอ้างว่าไม่ยอมให้มีผู้ย้ายถิ่น แต่ “เรารู้ว่าแม้ประเทศเหล่านี้ไม่ยอมรับอย่างเปิดเผย แต่หลายภาคส่วน เช่น การดูแลสุขภาพแอบมีกลยุทธ์รับแรงงานย้ายถิ่นบางกลุ่ม”

แต่ปัญหาคือการอพยพย้ายถิ่นในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ไม่ใกล้เคียงกับระดับทดแทนอัตราการเกิดที่ลดลงได้ ขณะเดียวกันประชาชนกลับไม่พอใจอย่างมาก

ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรรู้ดีว่าประเทศที่ประสบปัญหาจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่าง ถ้าไม่ให้ประชาชนทำงานนานขึ้นก็ต้องเพิ่มจำนวนผู้อพยพย้ายถิ่น หรือเผลอๆ อาจต้องทำทั้งสองอย่าง แต่จะทำเช่นนั้นได้ต้องมีฉันทามติทางการเมือง และนักการเมืองรู้ว่า การขอให้ประชาชนเห็นชอบการรับผู้อยพเพิ่ม หรือให้พวกเขาทำงานนานขึ้น ไม่ทำให้ชนะเลือกตั้ง