ศาลล้มละลายชี้ชะตา 'การบินไทย' แก้ไขแผนฟื้นฟูหนุนคืนหนี้เร็วขึ้น

ศาลล้มละลายชี้ชะตา 'การบินไทย' แก้ไขแผนฟื้นฟูหนุนคืนหนี้เร็วขึ้น

“การบินไทย” ลุ้นศาลล้มละลายกลาง เคาะแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ 20 ต.ค.นี้ ยืนยันเป็นแผนที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ หลังปรับลดกรอบวงเงินจัดหาแหล่งทุนใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาท แปลงหนี้เป็นทุน หนุนกลับเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ได้ในปี 2568

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กำลังเข้าสู่ขั้นตอนสุท้ายของการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากที่เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ 78.59% เห็นชอบให้แก้ไขแผนไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2565 หลังจากนั้นเข้าสู่การพิจารณาของศาลล้มละลายกลางที่มีการนัดไต่สวนครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 21 ก.ย.2565 โดยมีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้านคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ 4-5 ราย ซึ่งศาลล้มละลายกลางนัดอ่านคำสั่งในวันนี้ (20 ต.ค.)

นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโส รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่ และมีเจ้าหนี้บางกลุ่มคัดค้าน ทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนรายละเอียดเพิ่มเติมเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ศาลได้กำหนดรับฟังประเด็นดังกล่าว เพื่อพิจารณาข้อคัดค้านขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 20 ต.ค.2565

อย่างไรก็ดี การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ยืนยันว่ารายละเอียดของแผนหลักไม่ได้มีการแก้ไข มีเพียงการแก้ไขรายละเอียดของการแปลงหนี้เป็นทุน เป็นเรื่องของเทคนิคทางการเงิน อีกทั้งมติที่ประชุมเจ้าหนี้พบว่า ส่วนใหญ่ยังได้ลงคะแนนโหวตผ่านแผนฟื้นฟูกิจการถึง 78.59% ส่วนตัวจึงมองว่าการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ เป็นแผนที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบิน และเป็นผลบวกต่อเจ้าหนี้

ชี้แผนใหม่ดีกับทุกฝ่าย

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูกิจการนั้น ทราบว่าปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาจากศาลล้มละลายกลาง ตามที่การบินไทยได้ยื่นปรับปรุงแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ และมีเจ้าหนี้บางส่วนคัดค้านทำให้ต้องพิจารณารายละเอียดคำคัดค้านเพิ่มเติม แต่ในภาพรวมของการแก้ไขแผนฟื้นฟูไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม อีกทั้งเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เกือบ 80% โหวตเห็นด้วยกับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการครั้งนี้

“ตอนนี้ผลประกอบการของการบินไทยก็กลับมาเป็นบวกในรอบหลายเดือน ทิศทางของธุรกิจอยู่ในช่วงตั้งตัว ดังนั้นแผนฟื้นฟูกิจการที่มีการปรับแก้ไขนั้น เป็นแผนที่ดี ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งเจ้าหนี้และการบินไทยเอง เพราะไม่ต้องจัดหาแหล่งเงินใหม่ถึง 50,000 ล้านบาท แต่เหลือ 25,000 ล้านบาท ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของเจ้าหนี้ก็ให้การสนับสนุน แต่อย่างไรก็ต้องรอฟังคำตัดสินของศาลล้มละลายกลาง และฟังเหตุผลของการคัดค้านจากเจ้าหนี้ด้วย”

เจ้าหนี้รับชำระคืนเร็วขึ้น

สำหรับการยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ ผู้บริหารแผนมีเป้าหมายลดกรอบจัดหาเงินทุนใหม่ และปรับรายละเอียดแผนฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะการดูแลเจ้าหนี้ให้ครบทุกกลุ่ม และจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับหนี้คืนเร็วขึ้น 

ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูฉบับแก้ไขยังคงแผนการชำระหนี้ตามเดิม เช่นเดียวกับแผนจัดตั้งบริษัทลูกแยกมาจากหน่วยธุรกิจที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย ครัวการบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ธุรกิจขนส่งสินค้า ตลอดจนแผนขายสินทรัพย์รองที่ไม่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจ เช่น อสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ อากาศยานที่ปลดระวาง เป็นต้น

ขณะที่ความจำเป็นในการจัดหาเงินทุนใหม่ 25,000 ล้านบาท ยืนยันว่าเป็นเพียงการขออนุมัติกรอบวงเงินเท่านั้น โดยผู้บริหารแผนประเมินว่าการบินไทยอาจไม่จำเป็นต้องหาทุนใหม่สูงถึง 25,000 ล้านบาท เพราะยังมีกระแสเงินสด หรือแคชโฟว์ และมีแนวโน้มที่รายได้จะเพิ่มมาต่อเนื่อง เบื้องต้นประเมินว่าอาจจำเป็นใช้เงินทุนใหม่ 10,000 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นกรอบวงเงินเผื่อฉุกเฉินในอนาคต เป็นการบริหารความเสี่ยง เงินสำรองในการดำเนินธุรกิจ และคาดว่าเริ่มเงินส่วนนี้ใช้ในปี 2566

สำหรับความจำเป็นของการใช้เงินทุนใหม่ในช่วงดังกล่าว เพราะการบินไทยมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสาร และเป็นเครื่องมือการตลาดหารายได้ เช่น การพัฒนาช่องทางขายผ่านดิจิทัล การปรับปรุงบริการ อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และการซ่อมบำรุงอากาศยาน

 

4 ประเด็นหลักแก้ไขแผนฟื้นฟู

ในส่วนของรายละเอียดสาระสำคัญในการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยมีประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย 

1.จัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปี และ/หรือตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นจำนวนไม่เกิน 12,500 ล้านบาท นอกจากนั้น บริษัทยังได้เตรียมการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Facility) ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาทเผื่อไว้อีกด้วย

2.ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนประมาณ 31,500 ล้านหุ้น โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนทุนเป็นบวกเพื่อทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีความมั่นคงและเพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัทสามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง ด้วยแนวทางต่อไปนี้

(ก) ให้สิทธิผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้สินเชื่อใหม่ที่บริษัทเบิกใช้จริง (Drawdown Amount) เป็นจำนวนเงินประมาณ 12,500 ล้านบาท

(ข) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เดิมของเจ้าหนี้ทางการเงินตามแผนด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยกระทรวงการคลังที่เป็นทั้งเจ้าหนี้ทางการเงินและผู้ถือหุ้นหลักเดิมจะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นทั้งจำนวนเป็นทุน ในขณะที่เจ้าหนี้ทางการเงินกลุ่มอื่นๆ และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นจำนวน 24.5% เป็นทุน

โดยหนี้เงินต้นส่วนที่เหลือในอัตรา 75.5% จะได้รับชำระหนี้จากกระแสเงินสดของการบินไทยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนเดิม ซึ่งการแปลงหนี้เป็นทุนนี้จะทำให้การบินไทยสามารถมีส่วนทุนเพิ่มเติมและลดภาระหนี้ตามแผนลงได้ประมาณ 37,800 ล้านบาท

(ค) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อร้องรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักตามแผนเป็นทุน ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งทำให้การบินไทยอาจสามารถลดภาระการชำระหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักไปได้ประมาณ 4,845 ล้านบาท

(ง) จัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ ในราคาที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเห็นสมควรและไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม และในกรณีที่ไม่มีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน หรือผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เต็มจำนวน ให้นำหุ้นส่วนที่มาเสนอขายให้แก่พนักงานบริษัท และหรือบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งคาดว่าจะสามารถระดมทุนให้แก่การบินไทยเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 25,000 ล้านบาท

 

มั่นใจซื้อขายหุ้นได้ปี 68 รวมเป็นส่วนทุนที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุนตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนประมาณ 80,000 ล้านบาทเศษ โดยการบินไทยคาดหมายว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนข้างต้นให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งหากการดำเนินการเป็นไปตามข้อเสนอข้อแก้ไขแผน ส่วนของทุนจะกลับมาเป็นบวกในปี 2567 และหลักทรัพย์ของบริษัทน่าจะสามารถกลับมาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2568

3.แก้ไขและเพิ่มเติมรายละเอียดการแผนการชำระหนี้ของเจ้าหนี้บางกลุ่ม เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการปฏิบัติตาม และให้บริษัทมีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการในภาวะที่อุตสาหกรรมการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและการชำระหนี้ของเจ้าหนี้เดิมตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับปัจจุบัน

4.แก้ไขรายละเอียดในส่วนของผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนที่ไม่มีความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับบริบทและข้อเท็จจริงในปัจจุบัน