'ราคาน้ำมัน'ชนวนเพิ่มรอยร้าวสหรัฐ-ซาอุฯ

'ราคาน้ำมัน'ชนวนเพิ่มรอยร้าวสหรัฐ-ซาอุฯ

ความสัมพันธ์ที่ดีมาตลอดระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบียเริ่มปรากฏรอยร้าวมากขึ้นจากปมราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น และล่าสุด มีข่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ ประกาศว่าจะทบทวนความสัมพันธ์ทวิภาคีกับซาอุดีอาระเบียใหม่

ความสัมพันธ์ที่ดีมาตลอดระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบียเริ่มปรากฏรอยร้าวมากขึ้นจากปมราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น และล่าสุด มีข่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ ประกาศว่าจะทบทวนความสัมพันธ์ทวิภาคีกับซาอุดีอาระเบียใหม่หลังจากสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและชาติพันธมิตรที่เรียกว่า “โอเปกพลัส” ตัดสินใจลดกำลังการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่ ซึ่งสวนทางกับความต้องการของสหรัฐ

“ผมคิดว่าท่านประธานาธิบดีได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าเราจำเป็นต้องประเมินความสัมพันธ์ใหม่กับซาอุดีอาระเบีย หลังการตัดสินใจดังกล่าวของโอเปกพลัส โดยท่านประธานาธิบดีจะหารือร่วมกับสภาคองเกรสเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ในอนาคตกับซาอุดีอาระเบีย” จอห์น เคอร์บี โฆษกทำเนียบขาว กล่าว

ที่ผ่านมา สหรัฐพยายามกดดันซาอุดีอาระเบียและโอเปกพลัสเพื่อให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน เนื่องจากกังวลว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นจะกระทบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนหน้า

อย่างไรก็ดี โอเปกพลัสตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 และเป็นการปรับลดกำลังการผลิตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

 กรณีปัญหาราคาน้ำมัน “ศรี มุลยานี อินทราวาตี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยระบุว่า การที่คณะทำงานของประธานาธิบดีไบเดน พยายามผลักดันให้มีการกำหนดเพดานราคาน้ำมันนำเข้าจากรัสเซีย จะเป็นการสร้างแบบอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ และอาจทำให้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกรุนแรงขึ้น

อินทราวาตี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กนิวส์เมื่อวันอังคาร (11 ต.ค.) ว่า “เมื่อสหรัฐดำเนินการคว่ำบาตรโดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะสร้างแบบอย่างสำหรับทุกสิ่งนั้น จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนตามมา ไม่เพียงแต่กับอินโดนีเซีย แต่กับทุกประเทศด้วย”

อินทราวาตี กล่าวด้วยว่า การจำกัดเพดานราคาน้ำมันดังกล่าวมีแนวโน้มจะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของกลุ่มประเทศสมาชิกโอเปกพลัส ที่มีมติปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และสร้างความผิดหวังให้กับปธน.ไบเดน รวมถึงเป็นผลเสียต่อความพยายามที่รัฐบาลสหรัฐจะปรับลดราคาพลังงานโลกลงก่อนถึงการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งสำคัญ

ที่ผ่านมา อินทราวาตี ได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ซาอุดีอาระเบียซึ่งกล่าวว่า เมื่อการจำกัดเพดานราคาน้ำมันทำให้เกิดการใช้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อเป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์ได้ ก็ไม่มีใครรู้ว่าประเทศใดจะเป็นเป้าหมายรายต่อไป

สหรัฐพยายามหาเสียงสนับสนุนการจำกัดเพดานราคาน้ำมันนำเข้าจากรัสเซียเพื่อลดรายได้ด้านพลังงานของรัสเซีย ไม่ให้รัสเซียมีเงินทุนไปใช้ในการรุกรานยูเครน ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ทำให้ราคาพลังงานและอาหารพุ่งทะยานขึ้น และแม้กลุ่ม G7 จะสนับสนุนมาตรการดังกล่าว แต่ประเทศอื่น ๆ เช่น อินเดียและจีน ยังคงเป็นผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่จากรัสเซีย ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนหนึ่งก็ปฏิเสธที่จะแสดงท่าทีต่อต้านรัสเซียอย่างชัดเจน

ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดตลาดวันอังคาร (11 ต.ค.) ปรับตัวลง เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 1.78 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 89.35 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.9 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 94.29 ดอลลาร์/บาร์เรล

ไอเอ็มเอฟ เผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) โดยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 สู่ระดับ 2.7% จากเดิมที่ระดับ 2.9% พร้อมระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ได้แก่ การที่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครน วิกฤตค่าครองชีพ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และนิเวศวิทยา

ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้และปีหน้า สู่ระดับ 1.6% และ 1% ตามลำดับ โดยได้รับผลกระทบจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

นอกจากนี้  ไอเอ็มเอฟ ยังปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้และปีหน้า สู่ระดับ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับ เพราะได้รับผลกระทบจากการที่จีนใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด