สภาผู้บริโภคฯ ขอ กสทช.ยึดอุดมการณ์เคาะดีล 'ทรู-ดีแทค'

สภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพฯ ยื่นหนังสือต่อประธาน กสทช. ให้ยึดมั่นต่อหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ยื่นหนังสือต่อ กสทช.เพื่อขอให้บอร์ดใช้หลักอุดมการณ์และยืนหยัดข้างผู้บริโภคและประชาชน เนื่องจากกรณีที่ทรูและดีแทคนั้น มีเจตนาจะทำการควบรวมบริษัทในธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งท่านในฐานะคณะกรรมการองค์กรอิสระที่ดูแลกำกับกิจการโทรคมนาคมจะต้องใช้อำนาจพิจารณาการควบรวมครั้งนี้ เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นบริษัทในกิจการโทรคมนาคม ที่หลังจากการควบรวมจะมีการเข้าไปถือหุ้นมากกว่า 10% ในบริษัทลูก คือบริษัท ทรูมูฟเอช จำกัด และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด

ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน อันขัดต่อตามบัญญัติมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ยิ่งไปกว่านั้น ยังขัดต่อแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562-2566 ที่มีผลผูกพันต่อ กสทช.ในทางปกครองนับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม “ตามกฎหมายของปี 2549 กำหนดว่า การเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 10 ของผู้ได้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดเพื่อให้มีสิทธิ์กำหนดนโยบาย ต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. ก่อนเท่านั้น จะกระทำก่อนไม่ได้”

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ในฐานะเป็นตัวแทนผู้บริโภค ที่มีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าการควบรวมกิจการโทรคมนาคมดังกล่าว จะเกิดผลกระทบต่อสังคมในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าด้านการศึกษา และหากบอร์ดกสทช.อนุญาตให้เกิดการควบรวมจะทำให้เกิดการผูกขาด และลดการแข่งขันในตลาดค่ายมือถือและตลาดอินเตอร์เน็ตที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาความรู้ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ ของ กสทช. พบว่า การควบรวมครั้งนี้เป็นอันตรายต่อการแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่แสดงค่า HHI ที่เป็นดัชนีวัดการกระจุกตัวของตลาด ที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 2500 แต่หากเกิดการควบรวม ดัชนีนี้จะทะยานสูงถึง 5007 ที่ส่งสัญญาณอันตรายต่อตลาดนี้ที่นำทรัพยากรคลื่นความถี่ของประชาชนมาบริหาร โดยมีการคาดการณ์ว่า ราคาค่บริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มจะสูงขึ้นจาก 2.07% ในระดับเริ่มต้นของการแข่งขันหลังควบรวม และจะทะยานถึง 244.5% และทำให้ผู้บริโภคขาดทางเลือกในการใช้บริการ กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในยุคดิจิทัล รวมถึงความมั่นคงในการบริการโครงข่ายสาธารณะเพราะการมีผู้ประกอบการน้อยรายย่อมเสี่ยงมากกว่าการมีผู้ประกอบการมากราย

“ในวันที่ 12 ต.ค. หากมีการลงมติให้ควบรวมได้ ทางสอบ. ก็มีแนวนโยบายอยู่แล้วว่าเรื่องนี้คงไปจบที่ศาลปกครอง ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรก็คงมีการฟ้องร้องตามหลักนิติธรรมปกติ แต่ขอให้ กสทช. มั่นใจว่า ถ้าลงมติ เพื่อประโยชน์สาธารณะแล้ว ถูกเอกชนฟ้อง ทาง สอบ. ก็พร้อมสนับสนุนในขั้นตอนของศาล แต่หากผลลงมติดูแล้วเอื้อเอกชนมากกว่าสาธารณะ ทาง สอบ. ก็ต้องฟ้องต่อศาลปกครองเช่นเดียวกัน” นางสาวสุภิญญา กล่าว