ชลประทาน เตือนระดับน้ำเขื่อนเจ้าพระยายังสูง

ชลประทาน เตือนระดับน้ำเขื่อนเจ้าพระยายังสูง

กรมชลประทาน จัดจราจรน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างผ่าน “คลองระพีพัฒน์” สู่ แม่น้ำนครนายก – บางปะกง ลงอ่าว ขณะน้ำเหนือยังหนุน ทำระดับน้ำเจ้าพระยายังสูง ต้องระบายน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มอัตราไม่เกิน 3,100 ลบ.ม./วินาที

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ขอรายงานว่า ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเต็มความจุ จำเป็นต้องระบายน้ำเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของเขื่อน ในอัตราประมาณ 901 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงไปรวมกับน้ำที่มาจากคลองชัยนาท - ป่าสัก ก่อนจะไหลผ่านเขื่อนพระรามหก

 

ชลประทาน เตือนระดับน้ำเขื่อนเจ้าพระยายังสูง

โดยได้ใช้ระบบชลประทานฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำส่วนหนึ่งผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ลงสู่คลองระพีพัฒน์ ตามศักยภาพของคลองที่รับได้ ก่อนจะลำเลียงน้ำลงสู่คลอง 13 และคลองในแนวเหนือ-ใต้ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง และอ่าวไทยตามลำดับ

พื่อช่วยลดปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก รวมถึงช่วยบรรเทาและลดผลกระทบในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยปริมาณน้ำดังกล่าวไม่ได้ผ่านเข้าสู่พื้นที่เทศบาลนครรังสิต จังหวัดปทุมธานี แต่อย่างใด

 

ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะควบคุมให้ไหลผ่านท้ายเขื่อนพระรามหกในอัตรา 1,043 ลบ.ม./วินาที และไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,982 ลบ.ม./วินาที

 

 

กรมชลประทาน ยัง รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (9 ตุลาคม 2565) เมื่อเวลา 16.00 น. ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 3,099 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ซึ่งจะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรังอีก 306 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาตามลำดับ

กรมชลประทาน รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเต็มศักยภาพ ก่อนจะเร่งผลักดันน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด

ปัจจุบัน ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่ +17.71 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก) ทั้งนี้ เพื่อควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ที่เหมาะสม กรมชลประทาน มีแผนที่จะปรับการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราไม่เกิน 3,100 ลบ.ม./วินาที ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ หากในระยะต่อไปปริมาณน้ำทางตอนบนเริ่มลดลง กรมชลประทานจะปรับลดการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่รับช่วงต่อการระบายน้ำให้สอดคล้องกัน โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก รวมทั้งได้จัดชุดทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำผ่านระบบชลประทานต่าง ๆ โดยการขุดลอกเสริมคันดินและแนวป้องกันร่วมกับประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำตลอดเส้นทางน้ำ

พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ รวมทั้งแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย

 

 ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ดังนี้

 1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

  ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 49/2565 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 3,077 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานได้พิจารณารับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเต็มศักยภาพคลองที่สามารถรองรับน้ำได้ ปัจจุบันระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.64 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง

ซึ่งสูงกว่าระดับเก็บกัก 1.14 (+16.50 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง) เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของบานระบายน้ำและตัวเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ +17.60 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรามากกว่า 2,900 – 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา

บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ โดยระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.90 – 2.20 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ในช่วงวันที่ 8 – 13 ตุลาคม 2565

จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท อำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมก และไชโย คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล อำเภอเสนา และผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.10 - 0.15 เมตร และบริเวณตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15 - 0.30 เมตร

2. ผลการดำเนินงาน

      กรมชลประทาน ชะลอการระบายน้ำเหนือ ด้วยการลดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ตอนบนตามความเหมาะสม และรับน้ำผ่านระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะเร่งผลักดันน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย

เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน พร้อมกันนี้ ได้จัดชุดเฉพาะกิจสายก่อสร้างร่วมกับโครงการชลประทานในพื้นที่

ติดตามตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของคันกั้นน้ำให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเสริมคันดิน

พร้อมเตรียมกระสอบทราย เพิ่มความแข็งแรงของคันคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหลากเข้าพื้นที่เสี่ยง ที่สำคัญได้เร่งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลได้สะดวกขึ้น รวมถึงการเพิ่มจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุดด้วย

3. สถานการณ์น้ำท่วม

      จากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันตก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้

และอ่าวไทย ประกอบกับสถานการณ์พายุ "โนรู ที่เข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 65 ทำให้มีฝนตกหนังถึงหนักมากบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ภาคใต้ ส่งผลให้มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนเมือง รวม 17 จังหวัด ภาคเหนือ 2 จังหวัด ตาก เพชรบูรณ์ ภาคกลาง 8 จังหวัด นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม ภาคกลาง 5 จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ภาคตะวันออก 1 จังหวัดนครนายก ภาคใต้ 1 จังหวัดนครศรีธรรมราช