“พาณิชย์”ชี้เงินเฟ้อไทยเริ่มแผ่ว เอกชนจ่อส่งผ่านต้นทุนราคาสินค้า

“เงินเฟ้อ” ก.ย.แตะ 6.41% ผลจากราคาพลังงานทรงตัว คาดไตรมาส 4 ชะลอตัวตามราคาน้ำมันดิบ ราคาอาหาร ด้าน นักเศรษฐศาสตร์ ยังห่วงตัวเลขเงินเฟ้อ แม้ส่งสัญญาณพ้นจุดสูงสุด แแนะจับตา “เงินเฟ้อพื้นฐาน” หวั่นทำเงินเฟ้อหยั่งรากลึก กกร.ห่วงเงินบาทอ่อนค่า กระทบนำเข้าพลังงาาน
กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) เดือน ก.ย.2565 เท่ากับ 107.70 ขยายตัว 6.41% โดยชะลอตัวลงจากเดือน ส.ค.2565 ที่สูงถึง 7.86% ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เคหสถาน และเครื่องประกอบอาหาร ส่วนเงินเฟ้อรวม 9 เดือนปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) เพิ่มขึ้น 6.17%
ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหารสดและพลังงานที่ผันผวนด้านราคาออก มีค่าดัชนีอยู่ที่ 103.73 เพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบเดือน ส.ค.2565 และเพิ่มขึ้น 3.12% เมื่อเทียบเดือน ก.ย.2564 และเฉลี่ย 9 เดือนเพิ่มขึ้น 2.26%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 6.41% มาจากการขยายตัวของสินค้าในกลุ่มพลังงาน เพิ่ม 16.10% ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แม้ว่าราคาจะลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ราคายังสูงกว่าเมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อน และมีการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เช่น ค่าแต่งผมชาย ยาสีฟัน แชมพู ค่าโดยสารสาธารณะ การศึกษา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ทั้งบุหรี่ เบียร์ สุรา ยังสูงกว่าปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้สินค้าหมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 4.10%
ส่วนสินค้ากลุ่มอาหารสด ขยายตัว 10.97% ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และเครื่องประกอบอาหาร ราคาเริ่มชะลอตัว แต่ยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง ประกอบกับพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตร ทั้งพืชผักและปศุสัตว์ประสบปัญหาจากฝนตกชุกและน้ำท่วมขัง
คาดแนวโน้มเงินเฟ้อชะลอ
ส่วนเงินเฟ้อเดือน ต.ค.คาดว่า จะชะลอตัวจากเดือนนี้ โดยมีสาเหตุสำคัญคือ 1.ฐานสูง 2.ราคาน้ำมันเริ่มทรงตัวและต่ำกว่าช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามผลของการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตและโลจิสติกส์ในประเทศและค่าเงินบาทยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาบางส่วนยังสูงอยู่ ดังนั้นคาดว่าในเดือนหน้าเงินเฟ้อจะยังคงขยายตัวแต่ในอัตราลดลง
สำหรับ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 4 ปี 2565 มีแนวโน้มชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ตามต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ในประเทศที่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบและอาหารโลกที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับฐานราคาที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน และมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐที่อาจจะมีเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี จะทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง
นอกจากนี้ ราคาพลังงานโลกที่ผันผวน และเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบเพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่จำกัด
โดยกระทรวงพาณิชย์คงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 อยู่ที่ 5.5-6.5% ค่ากลาง 6.0% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจไทย
สำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทางสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินไว้ว่าหากขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% จะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ 0.04-0.12% และหากขึ้นรวม 4 ครั้ง อัตราครั้งละ 0.25% กระทบเงินเฟ้อ 0.20-0.80%
นักเศรษฐศาสตร์ชี้เงินเฟ้อยังสูง
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า เงินเฟ้อทั่วไปเดือนล่าสุดที่ลดลง ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี และน่าจะลดความกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ แม้โอเปกจะลดกำลังการผลิตลง แต่โอกาสที่น้ำมันจะเด้งขึ้นเกินระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อาจมีไม่มาก ดังนั้นคาดว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อจึงมีไม่มากเช่นกัน
นอกจากนี้ หากดูเงินเฟ้อทั่วไปที่ประกาศออกมา ก็น่าจะผ่านระดับสูงสุดไปแล้ว แต่ตัวที่น่าจับตาใกล้ชิด คือ เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่มีการเอาปัจจัยพลังงานและอาหารออก หากเงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่ลง และยังกระจายมากตัวมากขึ้น ซึมไปสู่กลุ่มอื่นในระบบเศรษฐกิจ อาจเป็นสัญญาณอันตรายว่าเงินเฟ้อพื้นฐานอาจลงยากในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ แม้เงินเฟ้อทั่วไปผ่านจุดพีคไปแล้ว และไม่ได้เร่งตัวขึ้น แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังส่งผ่านไม่หมด เช่น ค่าไฟฟ้า การพยุงราคาน้ำมันผ่านกองทุนน้ำมัน แก๊สหุงต้ม ที่รอวันส่งผ่านสู่ระบบ ดังนั้น เหล่านี้อาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อฝังกราก หรือ wage price spiral ได้
“เงินเฟ้อที่ค้างนาน ก็น่ากลัว และข้างหน้าเรายังต้องเจอกับการขึ้นค่าแรง การขาดแคลนแรงงาน ที่มาจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว อาจมีการขึ้นราคาเพื่อดึงแรงงานกลับ เหล่านี้อาจนำไปสู่ wage price spiral มากขึ้น และปลายปี อาจเห็นเงินเฟ้อกระตุกขึ้นได้ หากราคาน้ำมันยังสูง ซึ่งมาจากฐานที่ต่ำเป็นหลัก
เงินเฟ้อช่วงที่เหลือยังยืนสูง6%
นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง สะท้อนว่าเงินเฟ้อผ่านจุดพีคไปแล้ว ยกเว้นว่า หลังจากนี้ จะมีเหตุการณ์เลวร้าย สถานการณ์สงครามรัสเซียยูเครนรุนแรง อาจกระตุกราคาน้ำมันให้เพิ่มขึ้นอีกรอบ แต่หากเหตุการณ์ยังทรงตัวระดับนี้ มองว่าราคาน้ำมันจะค่อยๆ ลดลงมา ซึ่งสอดคล้องกับเงินเฟ้อที่ลดลงมา แต่ยังอยู่ระดับสูงที่ระดับ 6% ในช่วงที่เหลือปีนี้ และทั้งปีเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 6.1%
อย่างไรก็ตาม การที่โอเปกลดกำลังการผลิต คงจะทำให้ราคาน้ำมันทรงตัวระดับสูง ไม่ได้ลดลง ประกอบกับมีประเด็นเรื่องการขึ้นค่าแรง และอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าต่อเนื่อง หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อาจเป็นประเด็นที่ทำให้เงินเฟ้อไม่ได้ลงลงเร็วนัก หรือโอกาสเห็นระดับกว่า 1% คงเป็นไปได้ยากในปีหน้านี้
ดังนั้น เงินเฟ้อยังคงเป็นประเด็นที่ นโยบายการเงิน ยังต้องคำนึงถึง ภายใต้สถานการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อเนื่อง ดังนั้น อาจเห็น กนง.ยังคงปรับดอกเบี้ยขึ้นอยู่ เพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงมากนัก
“เงินเฟ้อตัวเลขค่อยๆลดลง ทำให้เราไม่ห่วงเงินเฟ้อเหมือน 4-5 เดือนก่อน แต่ประเด็น ที่เกี่ยวกับกำลังซื้อของผู้บริโภค ราคาสินค้าที่ยังขยับขึ้นอยู่ และหลังปีใหม่จะมีการปรับขึ้นค่าแรง เหล่านี้จะถูกนำเข้ามาในราคาสินค้า ดังนั้นประเด็นเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภคจะยังคงเป็นประเด็นต่อเนื่องไปถึงปีหน้า”
ผู้ประกอบการเตรียมส่งผ่านต้นทุน
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า เงินเฟ้อถือว่าเป็นไปตามคาด และเงินเฟ้อระยะถัดไปคงลดลงแต่อาจไม่เร็วมาก เพราะหลังจากนี้จะเห็นการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการมายังผู้บริโภคมากขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ทำให้มีโอกาสที่ผู้ประกอบการที่เผชิญภาระต้นทุนที่สูง ดัชนีผู้ผลิต สูงกว่าผู้บริโภค ทำให้ส่วนต่างผู้ประกอบการแคบลง เมื่อเศรษฐกิจฟื้น โอกาสที่จะส่งผ่านต้นทุนเหล่านี้มีมากขึ้น
ดังนั้น แปลว่าเงินเฟ้อลง แต่ไม่น่าจะลงเร็ว และแม้ราคาพลังงานในตลาดโลกลดลง เช่น ราคาน้ำมัน แต่ขณะเดียวกันเงินบาทอ่อนค่า ดังนั้นแปลงเป็นเงินบาทต้นทุนไม่ได้ลงมากนัก ดังนั้นต้นทุนยังสูง
“เงินเฟ้อคือการเปลี่ยนแปลงของราคา ถามว่าราคาจะลดลงหรือไม่ ไม่ใช่ ราคาไม่ลดลง แต่เงินเฟ้อที่ลดลง ราคาอาจขึ้นแต่ในอัตราชะลอลง"
กกร.ห่วงบาทอ่อนดันเงินเฟ้อ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังประชุม กกร.ว่า กกร.ได้หารือภาวะเศรษฐกิจ โดยประเด็นอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มยืนอยู่ระดับสูง แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลงอยู่ที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาเรล แต่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มยืนอยู่ระดับสูง เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นจากเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับบาทละ 38 ดอลลาร์
“ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังไม่สามารถลดลงได้มากนัก ขณะที่ค่าไฟฟ้ามีการปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย.2565 รวมถึงการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ล้วนเป็นปัจจัยกดดันต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะต้องส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการ”
ทั้งนี้ กกร.ได้ประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 2565 ขยายตัว 3.0-3.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกขยายตัว 7-8% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 6.0-6.5% เพิ่มจากรอบก่อนเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 ที่คงประมาณการเศรษฐกิจที่ 2.75-3.5% ขณะที่ส่งออกคาดว่าขยายตัว 6-8% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 5.5-7.0%