เอกชน”ห่วงขึ้นดอกเบี้ย ดันต้นทุนการเงินพุ่งขึ้น

เอกชน”ห่วงขึ้นดอกเบี้ย ดันต้นทุนการเงินพุ่งขึ้น

หอการค้าไทย ชี้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มต้นทุนธุรกิจ คาดแนวโน้มเอกชนเจรจาแบงก์ประนอมหนี้มากขึ้น สรท.ห่วงค่าเงินบาทผันผวนแรง ส่งออกได้ผลบวก แต่นำเข้าต้นทุนสูงขึ้น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 28ก.ย.2565 เชื่อว่า กนง.จะพิจารณาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจรอบด้านของประเทศไทยและของโลก ซึ่งจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่าไรนั้นตอบยากแต่ไม่ว่าจะขึ้นเท่าไรก็คือต้องขึ้น โดยเมื่อดอกเบี้ยของประเทศขยับขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจเพิ่มจากผลกระทบจากโควิด-19 

ทั้งนี้ การที่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นจะมีผลต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ ซึ่งอาจทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มมากขึ้นก็เป็นไปได้ โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรับมือจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย คือ การลดต้นทุนธุรกิจ การปรับสินค้าให้เข้ากับกำลังซื้อที่เริ่มหดตัวลงเพื่อสามารทำราคาแข่งขันกับคู่แข่งได้ นอกจากนี้หนี้สินเดิมที่มีอยู่คงต้องเร่งเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อหาทางผ่อนปรนหนี้สินจาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังมีผลต่อการลงทุนใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งการที่สหรัฐประกาศขึ้นดอกเบี้ยบ่อยครั้งจะส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย การลงทุนใหม่ไม่มี ธุรกิจเดิมเดินต่อได้ยาก แต่ก็ยังเชื่อสหรัฐคงไม่ขึ้นดอกเบี้ยได้ตลอด เมื่อถึงระดับภาวะเศรษฐกิจถดถอยสหรัฐก็ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายเงินก็จะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงส่งผลให้เงินสกุลอื่นๆแข็งค่า”นายวิศิษฐ์ กล่าว

สำหรับสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากเป็นไปตามทิศทางค่าเงินทั่วโลกหลังจากธนาคารกลางสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งเงินบาทพูดไม่เต็มปากว่าอ่อนค่าเมื่อเทียบประเทศคู่ค้าของไทย โดยค่าเงินบามมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วงกลางๆ มีประเทศที่อ่อนค่ามากกว่าและแข็งค่ามากกว่าไทย แต่ทั้งโลกได้รับอิทธิพลจากเงินสกุลดอลลาร์ที่แข็งค่า ดังนั้นการเทียบค่าเงินอ่อนกับเงินดอลลาร์เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้

ทั้งนี้ เมื่อเงินบาทอ่อนจำเป็นต้องรีบสร้างประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะเครื่องจักรเศรษฐกิจ 2 ตัว คือ การส่งออกและการท่องเที่ยว ที่เร่งสร้างรายได้เข้าประเทศมากที่สุด ซึ่งช่วงนี้การส่งออกแข่งขันด้านราคาได้ต่างจากช่วงเงินบาทแข็งค่าที่ต่อรองราคาไม่ได้ โดยผลิตสินค้าส่งออกรู้แล้วว่าขาดทุนแต่ต้องทำต่อเพื่อรักษาตลาด ซึ่งช่วงนี้เป็นจังหวะดีของการส่งออกแม้ว่าแนวโน้มการส่งออกเริ่มชะลอลงจากกำลังซื้อทั่วโลกหดตัว โดยผู้บริโภคเริ่มมองสินค้าราคาไม่แพงจึงทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้มากขึ้น

คาดขึ้นดอกเบี้ย0.25%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทใกล้ทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า กนง.จะพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ 0.25% โดยคำนึงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจตามบริบทของประเทศซึ่งกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเรื่อยๆ ซึ่งจะกระทบถึงภาคการผลิตในประเทศ

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทถือเป็นโอกาสของผู้ส่งออก อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่กำลังกลับมาคึกคัก ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่าที่คาดการณ์ไว้เป็น 8-10 ล้านคน

ในขณะที่ผู้นำเข้าน้ำมันและวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศจะได้รับผลกระทบหนัก ทำให้ต้องส่งผ่านต้นทุนบางส่วนไปยังผู้บริโภคและจะทำให้สินค้าและค่าครองชีพจะปรับตัวขึ้นสูงกว่ารายได้

“สำหรับผู้ประกอบการในวันนี้กำลังอยู่ในจุดที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง ตั้งแต่การรับมือค่าไฟฟ้า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และค่าเงินบาทอ่อน ซึ่งผู้กำหนดนโยบายจะต้องหาจุดสมดุลสำหรับทั้งสองฝ่ายที่ได้ประโยน์และเสียประโยชน์ ส่วนผู้ประกอบการเองที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมต้องเร่งปรับตัวและเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ลดต้นทุนและประหยัดโดยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตต้องเร่งคว้าโอกาสของเทรนด์ในปัจจุบัน ทั้งโมเดลบีซีจี และปรับตัวให้เกิดความยั่งยืน”

ห่วงเงินบาทอ่อนค่าเร็วแรง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เงินบาทอ่อนค่าใกล้สู่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าอ่อนค่าเร็วและแรงมาก ซึ่งจะส่งผลต่อดุลการค้าของไทยเพราะจะทำให้มูลค่าการนำเข้าสูงกว่าการส่งออก 

"การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นทิศทางเดียวกับค่าเงินหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ สหภาพยุโรป แต่ขอให้รัฐบาลดูแลให้มีเสถียรภาพ เพราะอ่อนค่าเร็วและแรงเกินไปแม้ดีต่อการส่งออก แต่ต้องไม่ลืมว่าค่าเงินของคู่แข่งไทยอ่อนค่าด้วย เช่น อินเดียและจีน"

รวมทั้งการที่เงินอ่อนค่ามากจะมีผลต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการที่นำเข้าพลังงาน น้ำมัน ปุ๋ยและอาหารสัตว์ ที่ต้องนำเข้ามาทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้น ซึ่งกระทบห่วงโซ่อุปทานได้ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและการผลิต ส่วนสินค้าที่จำหน่ายในประเทศอาจต้องขึ้นราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น และจะเห็นเร็วๆนี้ ซึ่งจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อไทยสูงขึ้นตามราคาขึ้น

ส่วนการปรับตัวของผู้ประกอบนั้นต้องคำนวณต้นทุนการผลิตให้ถูกต้องตามสถานการณ์ค่าเงินบาท และรักษาสภาพคล่องการเงินไว้ รวมทั้งการสต๊อกสินค้าหรือวัตถุดิบไว้ด้วยเช่นกัน และต้องหาทางลดต้นทุนด้านอื่น เช่น การประหยัดพลังงานผ่านโครงการอนุรักษ์พลังงานของรัฐ ซึ่งการตรึงราคาดีเซลยังเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำต่อเนื่อง และรัฐต้องดูค่าไฟฟ้าที่เป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบและประชาชน

นายชัยชาญ กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทในระยะสั้นยังคงผันผวนสูง จะต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะธนาคารกลางสหรัฐมีท่าทีขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง อย่างไรก็ตามควรใช้โอกาสที่เงินบาทอ่อนค่าเร่งส่งออกให้ได้มากที่สุด และเร่งดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น