ธปท.เล็งปรับเกณฑ์ปล่อยกู้หวังแก้หนี้ครัวเรือน

ธปท. และกระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตรงจุด รวดเร็ว และเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง โดยภาคการเงินเป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ระบุ หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่สะสมมานาน และถูกซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด เห็นได้จากปี 2553 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 60% ต่อ GDP ผ่านไป 10 ปี หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 80% ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในไตรมาส 1 ปี 2564 จากโควิด และล่าสุด ไตรมาส 2 ปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ 88% ในช่วงโควิด 

ธปท. และกระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตรงจุด รวดเร็ว และเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง โดยภาคการเงินเป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ 

นอกจากนี้ ธปท. ได้ยกระดับการดูแลการให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรมเพิ่มเติม เช่น การคิดดอกเบี้ยผิดนัดบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริง และปรับลำดับการตัดชำระหนี้ เพื่อช่วยลดภาระหนี้ของประชาชนและลดโอกาสเกิดหนี้เสียในระบบ

วันนี้แม้เศรษฐกิจไทยจะปรับดีขึ้นจากผลกระทบของโควิด และคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวในแต่ละภาคส่วนยังไม่เท่าเทียม (K-shaped) โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ยังเจอกับภาวะค่าครองชีพสูง ซึ่งอาจยิ่งซ้ำเติมลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง และทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงขึ้น จนอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุดการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1.ทำอย่างครบวงจร สอดคล้องกับลักษณะและสาเหตุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ โดยตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ ต้องสร้างวินัยทางการเงินให้ลูกหนี้ ขณะที่เจ้าหนี้ต้องปล่อยหนี้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้กู้ 

2. ทำอย่างถูกหลักการ โดยพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม รู้ว่าอะไรควรทำ และไม่ควรทำ ต้องแก้หนี้ให้ตรงจุด สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้ ไม่ทำแบบวงกว้างเพราะภาคการเงินจะมีทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องการจริง ๆ ได้น้อยลง ไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับลูกหนี้ในอนาคต เช่น พักชำระหนี้ไปเรื่อย ๆ จนลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ เช่น ลบหรือแก้ประวัติสินเชื่อของลูกหนี้ จนสถาบันการเงินไม่รู้จักลูกหนี้และไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ และ เจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องร่วมมือและตั้งใจจริงในการแก้ไขหนี้ 

3.บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเงินในฐานะเจ้าหนี้ ที่ต้องให้สินเชื่อใหม่โดยคำนึงถึงศักยภาพลูกหนี้ในการชำระหนี้มากขึ้น พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่ไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินตัว ภาครัฐ มีบทบาทในการสร้างรายได้และเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านข้อมูล ที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ภาคเอกชน ยกระดับบทบาทนายจ้างในการดูแลปัญหาหนี้ของลูกจ้าง และลูกหนี้ ต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ก่อหนี้โดยคำนึงถึงศักยภาพของตนเอง และมีวินัยในการชำระหนี้ 

จากข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2563 สถาบันการเงินได้ช่วยเหลือลูกหนี้สะสมสูงสุดที่ 12.5 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 7.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นราว 40% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ ก่อนทยอยลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุด ณ เดือนมิถุนายน 2565 คงเหลือลูกหนี้ในความช่วยเหลือรวม 3.9 ล้านบัญชี ยอดหนี้เกือบ 3 ล้านล้านบาท หรือ 14% ของสินเชื่อรวม

สำหรับงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” เกิดจากทุกภาคส่วนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาชำระหนี้ ให้สามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งงานมหกรรมครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งก่อน เพราะมีเจ้าหนี้เข้าร่วมกว่า 60 ราย และครอบคลุมประเภทหนี้มากขึ้น  ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้เจรจาแก้หนี้กับเจ้าหนี้บนข้อตกลงที่ผ่อนปรนและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งจะตรงกับความต้องการของลูกหนี้มากขึ้น