สนข.ชงคมนาคมปีนี้ ชูมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใช้ถนนแก้รถติด

สนข.ชงคมนาคมปีนี้ ชูมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใช้ถนนแก้รถติด

สนข.เตรียมชงคมนาคมปีนี้ เคาะมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่จราจรหนาแน่นกรุงเทพฯ หลังจับมือเยอรมันดึงโมเดลต่างประเทศร่วมศึกษา ดันเป้าหมายลดการปล่อบก๊าซเรือนกระจกภาคขนส่ง 31 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาปิดโครงการสนับสนุนการพัฒนามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความท้าทายของภาคการขนส่ง (TRANSfer III–Facilitating the Development of Ambitious Mitigation Actions) โดยระบุว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การขยายเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และการปรับปรุงการใช้รถโดยสารประจำทาง โดยการเปลี่ยนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า เป็นต้น

โดยกระทรวงคมนาคมได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 31 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions: NDC) ภายในปี 2030 และหากประเทศไทยได้รับการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประเทศไทยจะมาสามารถยกระดับเป้าหมาย NDC ขึ้นเป็น 40% และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในหรือก่อนหน้าปี 2065

สนข.ชงคมนาคมปีนี้ ชูมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใช้ถนนแก้รถติด

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า เยอรมันและไทยได้ลงนามความร่วมมือในการศึกษามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกันในการศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาการขนส่งที่มีความท้าทาย เช่น การจราจรติดขัด และการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเบื้องต้นของโครงการ พบว่าหากมีการดำเนินมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนจะสามารถช่วยลดปริมาณการจราจรติดขัดและมลพิษทางอากาศ เพิ่มความเร็วในการเดินทางและจำนวนผู้ใช้งานระบบขนส่งสาธารณะ โดยจากการวิเคราะห์ทางการเงินพบว่า ต้นทุนการเป็นเจ้าของรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า ต่ำกว่ารถโดยสารประจำทางที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงถึง 23% เนื่องมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าที่ต่างกันถึง 3 เท่า

อีกทั้งหากมีการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางที่ใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า 3,200 คันได้ ก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 184,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของรถโดยสารประจำทางยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

สนข.ชงคมนาคมปีนี้ ชูมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใช้ถนนแก้รถติด

“ที่ผ่านมาเราได้ร่วมกันศึกษาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมาจากปัญหาการจราจรติดขัด จึงได้ทดลองนำโมเดลในต่างประเทศที่ใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่การจราจรหนาแน่นมาวิเคราะห์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็พบว่าหากใช้มาตรการนี้จะลดปริมาณจราจรไปได้ 20% ลดค่าฝุ่น PM2.5 ในอัตรา 3-3.6% และยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อีก 1-6.5 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี”

นายปัญญา กล่าวด้วยว่า การศึกษาใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่การจราจรหนาแน่น เป็นโมเดลที่ต่างประเทศใช้กันเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด ทางเยอรมันจึงนำโมเดลนี้มาศึกษากับการแก้ไขปัญหาในกรุงเทพฯ ซึ่งก็พบว่าได้ผลลัพธ์ที่ดี แต่ขณะนี้ยังเป็นเพียงขั้นตอนศึกษายังไม่ได้นำไปใช้จริง โดย สนข.จะต้องเสนอผลการศึกษาดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อน คาดว่าจะเสนอได้ภายในปีนี้ หลังจากนั้นอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลในการผลักดัน

ทั้งนี้ มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ สนข.ศึกษาจะจัดเก็บในราคาเริ่มต้น 60 บาทต่อคัน ซึ่งอ้างอิงมาจากราคาค่าผ่านทางพิเศษที่ประชาชนยอมรับในการจ่ายได้ แต่อย่างไรก็ดี การจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ นี้ จะต้องศึกษาความเหมาะสมอย่างรอบคอบ สนข.เตรียมลงพื้นที่เปิดรับฟังความเห็นภาคประชาชน อีกทั้งมาตรการจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีระบบขนส่งสาธารณะสมบูรณ์พอที่จะเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

นอกจากนี้ สนข.ยังศึกษาจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะเพื่ออากาศสะอาด โดยจะเป็นกองทุนที่นำเงินจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนจากประชาชนมาพัฒนาระบบขนส่งให้มีคุณภาพมากขึ้น อาทิ พัฒนาป้ายรถเมล์ พัฒนาบริการต่างๆ ซึ่งโมเดลของการจัดตั้งกองทุน ตามผลการศึกษาจะต้องจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมด้วย