เปิดปมร้อนการบินไทย แบงก์กรุงเทพยื่นค้านแก้แผนฟื้นฟู

เปิดปมร้อนการบินไทย แบงก์กรุงเทพยื่นค้านแก้แผนฟื้นฟู

เปิดปมร้อน ‘แบงก์กรุงเทพ’ ถอดบทคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู ‘การบินไทย’ สวมบทเจ้าหนี้รายใหญ่ ค้านแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่สอง ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวน 27 ก.ย.นี้ คาดเคาะกลางเดือนหน้า

นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าข้อเสนอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลางได้นัดไต่สวนนัดแรก กรณีที่เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุปผลการพิจารณา ซึ่งทางศาลล้มละลายกลางได้นัดไต่สวนนัดที่สอง ในวันที่ 22 ก.ย.นี้ แต่เนื่องจากตัวแทนเจ้าหนี้ธนาคารกรุงเทพ ไม่สะดวกในวันนัดไต่สวนดังกล่าว ศาลฯ จึงอนุมัติให้เลื่อนนัดไต่สวนเป็นวันที่ 27 ก.ย.นี้

สำหรับการยื่นคัดค้านแก้ไขแผนฟื้นฟูนั้น สืบเนื่องจากในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหนี้บางส่วน 5 - 6 ราย ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่ ซึ่งหนึ่งในเจ้าหนี้ดังกล่าวมีธนาคารกรุงเทพที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของการบินไทยด้วย โดยการลงคะแนนโหวตไม่เห็นด้วยของเจ้าหนี้นั้น ยังไม่เป็นผลต่อการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากมติที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ที่ลงคะแนนโหวตผ่านแผนฟื้นฟูกิจการเป็นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 78.59

ส่งผลให้เจ้าหนี้ 5 - 6 รายที่ไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ได้ยื่นคำร้องคัดค้านข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการมายังศาลล้มละลายกลาง และเป็นที่มาของการนัดไต่สวนข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการตามที่คณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้ยื่นเสนอต่อศาลล้มละลายกลาง

รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุด้วยว่า ธนาคารกรุงเทพถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่การบินไทยมีหนี้สินที่ยื่นขอชำระจากกลุ่มเจ้าหนี้สถาบันทางการเงินไม่มีประกัน โดยจากรายชื่อเจ้าหนี้ธนาคารรัฐ ธนาคารเอกชนไทยและต่างชาติ ข้อมูล ณ มี.ค.2564 รวมเจ้าหนี้ทั้งสิ้น 17 แห่ง เงินต้น 29,659 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1,569 ล้านบาท รวม 31,228 ล้านบาท แบ่งเป็น

สถาบันการเงินเอกชนในประเทศ ประกอบด้วย 

  1. ธนาคารกรุงเทพ 9,344 ล้านบาท
  2. ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 2,149 ล้านบาท
  3. ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) 1,270 ล้านบาท
  4. ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 782 ล้านบาท

สถาบันการเงินต่างประเทศ ประกอบด้วย 

  1. นาทิซิส (Natixis) 695 ล้านบาท
  2. มอร์แกน สแตนลีย์ แอนด์โค อินเตอร์เนชั่นแนล พีแอลซี 551 ล้านบาท
  3. ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เนชั่นแนล แอสโซซิเอชั่น 532 ล้านบาท
  4. ENGIE Global Markets 347 ล้านบาท เมอร์ริล ลินซ์ อินเตอร์เนชันแนล 291 ล้านบาท
  5. Macquarie Bank Limited 217 ล้านบาท
  6. เจ.อารอน & คอมพานี (สิงคโปร์) พีทีอี 63 ล้านบาท
  7. BP Singapore Pte Limited 50 ล้านบาท
  8. ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด 13 ล้านบาท

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ธนาคารกรุงเทพเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้สำคัญที่ร่วมทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวแทนจากธนาคารกรุงเทพที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารแผน ในจำนวนผู้บริหารแผนรวม 5 คน ประกอบด้วย

1.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย

2.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร อดีตรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารการบินไทย

3. นายพรชัย ฐีระเวช รองปลัดกระทรวงการคลัง

4. นายไกรสร บารมีอวยชัย จากธนาคารกรุงเทพ

5.นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

โดยผู้บริหารแผนที่เป็นตัวแทนจากธนาคารกรุงเทพ เป็นรายชื่อที่ถูกเสนอในที่ประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2564 อยู่ในส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ 13 ธนาคารกรุงเทพ (เจ้าหนี้รายที่ 6414) ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูในส่วน “ผู้บริหารแผน” โดยได้เสนอรายชื่อผู้บริหารแผนเพิ่ม 2 ราย คือ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายไกรสร บารมีอวยชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการประนอมหนี้และกฎหมาย ธนาคารกรุงเทพ และเป็นอดีตอธิบดีกรมบังคับคดี เข้าเป็นผู้บริหารแผน อีกทั้งยังมีการแต่งตั้งตัวแทนธนาคารกรุงเทพเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเจ้าหนี้ด้วย

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ ระบุว่า ส่วนตัวมีข้อสงสัยกับการยื่นคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยจากเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ เนื่องจากที่ผ่านมาก็มีตัวแทนเป็นหนึ่งในผู้บริหารแผนที่ร่วมกันหารือรายละเอียดแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้มาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีตัวแทนที่เป็นคณะกรรมการเจ้าหนี้ ซึ่งก็ทราบข้อมูลและมติโดยรวมของเจ้าหนี้กับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ

อย่างไรก็ดี ตนมองว่าเป็นสิทธิที่เจ้าหนี้ทุกรายจะดำเนินการคัดค้านได้ ทางธนาคารกรุงเทพอาจมีเหตุผลในฐานะเจ้าหนี้ที่มองว่าแผนฟื้นฟูฉบับแก้ไขใหม่นี้ไม่สอดคล้องกับมุมมองที่เจ้าหนี้ต้องการ โดยประเด็นข้อคัดค้านของทางธนาคารกรุงเทพมี 6 – 7 ข้อ แต่ในภาพรวมของเจ้าหนี้ทั้งหมดมองว่าแผนฟื้นฟูฉบับนี้จะทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วกว่าเดิม และการกลับเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ก็ทำให้เจ้าหนี้มีโอกาสรับชำระหนี้ได้เร็วขึ้น

ขณะที่นายปิติ สิทธิอำนวย ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ เคยระบุก่อนหน้านี้ว่า ธนาคารกรุงเทพในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่พร้อมให้การสนับสนุนตามแผนการฟื้นฟูกิจการ ส่วนเรื่องของการใส่เงินเพิ่มทุนนั้นจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ คือ 1.ธุรกิจจะต้องไปได้ และ 2.ผู้บริหารมีความซื่อสัตย์ สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายและต้นทุนการดำเนินงานให้มีความโปร่งใส เพราะเราไม่เคยไม่สนับสนุนลูกหนี้ที่มีปัญหา และเรียกเงินคืน เพราะถ้าลูกค้าอยู่ได้ ธนาคารก็อยู่ได้