เศรษฐกิจปากท้องของคนหาเช้ากินค่ำ | พงศ์นคร โภชากรณ์

เศรษฐกิจปากท้องของคนหาเช้ากินค่ำ | พงศ์นคร โภชากรณ์

สัญญาณชีพจรเศรษฐกิจปากท้อง เราสามารถดูได้จากอัตราเงินเฟ้อและรายจ่ายของครัวเรือน อัตราเงินเฟ้ออาจจะเข้าใจยาก แต่รายจ่ายของครัวเรือนเข้าใจง่ายกว่า ไม่ต้องแปลความ ซึ่งก็คือ “จำนวนเงินที่ใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของครัวเรือนในแต่ละเดือน” 

ข้อมูลนี้ได้จากการสำรวจครัวเรือนจำนวน 52,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ และใช้อัตราเงินเฟ้อเข้าไปร่วมคำนวณ เพื่อให้ออกมาเป็นค่าใช้จ่ายในเดือนปัจจุบัน

ข้อมูลนี้ประชาชนสามารถวิเคราะห์ได้เองว่า เดือนนี้ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเราเพิ่มขึ้นกี่มากน้อย เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายตัวไหน แล้วสามารถนำไปเทียบเคียงกับรายได้ของครัวเรือนได้ทันทีว่า ระหว่างรายได้และรายจ่าย อะไรมากกว่ากัน 

รายจ่ายของครัวเรือนในแต่ละเดือน แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือ รายจ่ายในการซื้อของกิน และส่วนที่ 2 คือ รายจ่ายในการซื้อของใช้และค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการกิน

ผมเริ่มที่เดือนมกราคม 2565 ก่อน เพราะเป็นเดือนปกติที่ยังไม่มีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ราคาน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ ยังเคลื่อนไหวตามปกติ ไม่มีสถานการณ์ฝนถล่ม น้ำท่วม

ในเดือนมกราคม 2565 ค่าใช้จ่ายรายครัวเรือนอยู่ที่ 17,321 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2564 ร้อยละ 3.2 รายจ่ายในการซื้อของกิน ซึ่งมีมูลค่า 7,269 บาท ส่วนนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 จากเดือนมกราคม 2564  และรายจ่ายในการซื้อของใช้และค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการกิน ซึ่งมีมูลค่า 10,052 บาท ส่วนนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากเดือนมกราคม 2564

เศรษฐกิจปากท้องของคนหาเช้ากินค่ำ | พงศ์นคร โภชากรณ์

แม้ว่ารายจ่ายในการซื้อของกินดูจะเพิ่มไม่มากนัก แต่ถ้าเจาะลงไปดูรายรายการ จะพบว่า ค่าใช้จ่ายในการซื้อเนื้อสัตว์และเครื่องปรุงอาหาร เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.3 และ 6.3 จากเดือนมกราคม 2564 ตามลำดับ (ตอนนั้นคงจำเรื่องหมูแพงได้) ส่วนตัวอื่น ๆ ยังไม่ขยับสูงขึ้นจนผิดสังเกต ดังนั้น นี่ถือเป็นคลื่นลูกแรกที่กระทบปากท้องของคนหาเช้ากินค่ำ

พอมาเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ผลของความขัดแย้งนั้นสร้างแรงกระเพื่อมต่อราคาพลังงานและราคาโภคภัณฑ์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และเห็นชัดในเดือนมีนาคม 2565

โดยค่าใช้จ่ายรายครัวเรือนในเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 17,620 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 5.7 โดยรายจ่ายในการซื้อของกิน ซึ่งมีมูลค่า 7,368 บาท ส่วนนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากเดือนมกราคม 2564 และรายจ่ายในการซื้อของใช้และค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการกิน ซึ่งมีมูลค่า 10,252 บาท ส่วนนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากเดือนมกราคม 2564

ตัวที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ รายจ่ายในการซื้อของใช้และค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการกิน โดยเฉพาะค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ถึงร้อยละ 12.5 ดังนั้น นี่จึงถือเป็นคลื่นลูกที่สองที่กระทบคนหาเช้ากินค่ำ 

เศรษฐกิจปากท้องของคนหาเช้ากินค่ำ | พงศ์นคร โภชากรณ์

ต่อมาเดือนล่าสุดสิงหาคม 2565 ปัจจัยลบที่เพิ่มเข้ามา คือ ฝนถล่ม น้ำท่วม โดยค่าใช้จ่ายรายครัวเรือนเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 18,069 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 ร้อยละ 7.9 โดยรายจ่ายในการซื้อของกิน ซึ่งมีมูลค่า 7,720 บาท ส่วนนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.1 จากเดือนสิงหาคม 2564

และรายจ่ายในการซื้อของใช้และค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการกิน ซึ่งมีมูลค่า 10,350 บาท ส่วนนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 จากเดือนสิงหาคม 2564

ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ ตัวที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มาจากทั้งรายจ่ายเพื่อของกินและไม่ใช่ของกิน

ฝั่งค่าใช้จ่ายในการซื้อของกินเป็นหลัก ได้แก่ รายจ่ายในการซื้อเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.2 รายจ่ายในการซื้อผักและผลไม้ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.8 รายจ่ายในการซื้อเครื่องปรุงอาหาร เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.9

รายจ่ายเพื่อซื้ออาหารบริโภคในบ้าน Delivery เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 และรายจ่ายเพื่อซื้ออาหารบริโภคนอกบ้าน (ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง KFC Pizza) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2564

ส่วนรายจ่ายฝั่งของใช้ที่ไม่เกี่ยวกับการกิน ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2564

เศรษฐกิจปากท้องของคนหาเช้ากินค่ำ | พงศ์นคร โภชากรณ์

ส่วนค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือแม้จะลดลงมาเหลือหลักเดียวที่ร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2564 แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับสูงกว่าต้นปีมาก ดังนั้น นี่จึงถือเป็นคลื่นลูกที่สามที่กระทบคนหาเช้ากินค่ำ รอบนี้โดนแบบหน้ากระดาน   

ที่ผมเล่ามาทั้งหมด พอจะเห็นภาพใช่ไหมครับว่า คนจน คนหาเช้ากินค่ำ จะได้รับผลกระทบขนาดไหนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากในอัตราเช่นนี้ ผมจึงสรุปปัญหาของคนหาเช้ากินค่ำได้ 3 ประการ ดังนี้  

1. รายจ่ายท่วมรายได้ : สมมติว่าคนหาเช้ากินค่ำ คือ ผู้มีรายได้น้อยซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 8,333 บาทเท่านั้น ในขณะที่รายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ยเดือนล่าสุดอยู่ที่ 18,069 บาทต่อเดือน ต่างกันถึง 10,000 บาท

จริงอยู่ว่าคนหาเช้ากินค่ำคงไม่มีกำลังใช้จ่ายมากขนาดนี้ แต่สะท้อนให้เห็นว่าความแตกต่างกันอยู่มากพอสมควร ซึ่งรายจ่ายรายเดือนนี้สูงกว่าเส้นความยากจนถึง 6.5 เท่าเลยทีเดียว

ถ้าเป็นครอบครัวขยาย มีอัตราการพึ่งพิงสูง แบกหน้าที่การหารายได้ไว้คนเดียว อาจจะได้รับผลกระทบมากกว่านี้เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น แต่ถ้าครัวเรือนไหนมีคนหารายได้ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ผลกระทบก็จะบรรเทาลงได้ 

2. ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นแทบทุกรายการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน : ค่าครองชีพที่ผูกโยงกับราคาพลังงานแพงอาจจะคลี่คลายลงไปตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงในอนาคต แต่ราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เครื่องปรุงอาหาร อาหารบริโภคในบ้าน Delivery

อาหารบริโภคนอกบ้าน (ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง KFC Pizza) ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสาร ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าเช่าบ้าน ยังอยู่ในระดับสูง แถมเพิ่มในอัตราเร่งอย่างไม่เคยมีมาก่อน ส่งผลให้คนหาเช้ากินค่ำมีความต้องการซื้อ (Purchasing to pay) และกำลังซื้อ (Ability to pay) ลดลง 

3. เศรษฐกิจฟื้นจริง แต่ไปถึงคนหาเช้ากินค่ำหรือไม่ : การฟื้นตัวของเศรษฐกิจชัดเจนว่ามาจากการท่องเที่ยวและการบริโภคที่ผูกโยงกับการท่องเที่ยว แต่คนหาเช้ากินค่ำน่าจะได้ประโยชน์น้อย โดยเฉพาะในจังหวัดที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศ หรืออยู่ในชนบทห่างไกล ผมจึงไม่ค่อยดีใจกับการฟื้นแบบกระจุกตัวเท่าไร

เศรษฐกิจปากท้องของคนหาเช้ากินค่ำ | พงศ์นคร โภชากรณ์

ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์ปัญหาข้างต้น ผมเห็นว่าสิ่งที่น่าจะทำในระยะสั้น ได้แก่

1) การพยุงกำลังซื้อและบรรเทาภาระค่าครองชีพของคนหาเช้ากินค่ำ เช่น การช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ซึ่งรัฐบาลทำอยู่แล้ว แต่ผมอยากให้ทำต่อไปจนถึงสิ้นปี

2) การดูแลควบคุมราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของผู้มีรายได้น้อย ไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นตามการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างน้อย ๆ ตรึงให้ผ่านปีนี้ไปก่อน

3) การกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองอย่างจริงจัง โดยการหาวิธีดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศไปเที่ยวเมืองข้าง ๆ ด้วย ไม่ใช่กระจุกเฉพาะ กทม. พัทยา ภูเก็ต

ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทย ควรจัดมหกรรมและโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ โดยเฉพาะเดือนธันวาคมและมกราคม และเน้นเฉพาะเมืองรองเท่านั้น เพื่อให้เม็ดเงินกระจายออกไปเป็นรายได้ให้คนต่างจังหวัด ผมว่าเมืองท่องเที่ยวไม่ต้องกระตุ้นมากก็ได้ อย่างไรเสียคนก็ไปเยอะอยู่แล้ว

ส่วนในระยะยาว คงต้องเน้นเรื่องการสร้าง/ขยายเมืองใหม่ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน การจ้างงาน ตามด้วยการพัฒนาอาชีพ การหาพื้นที่ขาย การเพิ่มช่องทางการขาย พร้อม ๆ กับการเสริมทักษะดิจิทัล และสุดท้ายต้องขจัดสวัสดิการที่ซ้ำซ้อนเพื่อนำเงินงบประมาณไปใช้ในด้านอื่น

เป้าหมายสูงสุดของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ คือ การทำให้เศรษฐกิจปากท้องของคนหาเช้ากินค่ำดีขึ้น 

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด