สงคราม เศรษฐกิจปากท้อง จะแก้ปัญหาอย่างไร | พงศ์นคร โภชากรณ์

สงคราม เศรษฐกิจปากท้อง จะแก้ปัญหาอย่างไร | พงศ์นคร โภชากรณ์

ช่วงต้นปี 2565 เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดูสดใสมาก เป็นช่วงของการพักฟื้นเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมหลังจากวิกฤติโควิด 19 รัฐบาลมีแผนกระตุ้นและแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากปี 2564

รัฐบาลหวังให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการคนละครึ่ง ล้อไปกับการทิศทางฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้หลายฝ่ายมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ถึง 4.0% แต่เป้าหมายที่วางไว้ต้องมาสะดุดลงเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประเทศรัสเซียเริ่มโจมตีประเทศยูเครน 

จริง ๆ แล้ว 2 ประเทศที่กำลังรบกันอยู่นี้ มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทยน้อยมากในเชิงการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนระหว่างประเทศ อาจจะมีอิทธิพลในด้านการท่องเที่ยวอยู่บ้าง เพราะชาวรัสเซียมาเที่ยวบ้านเราไม่น้อย 
 

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่า แต่ยังไม่ค่อยพูดถึงมากนัก คือ อิทธิพลต่อ “เศรษฐกิจปากท้อง” การวิเคราะห์วันนี้จะไม่เน้นผลกระทบในเชิงตัวเลข แต่เน้นให้เห็นการส่งผ่านผลกระทบว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง 10 ขั้น ซึ่งพี่น้องประชาชนจะได้เตรียมรับมือได้อย่างไม่ตื่นตระหนก 

ขั้นที่ 1 หุ้น ทองคำ อัตราแลกเปลี่ยน : ทุกครั้งที่มีสงคราม ผลกระทบแบบข้ามคืนที่วิ่งมาบ้านเรา จะเริ่มจากตัวที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือ ราคาหุ้นตก ราคาทองคำขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ประเด็นนี้แม้ไม่กระทบปากท้องโดยตรง แต่ส่งผลทางอ้อมไปที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

ขั้นที่ 2 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก : สงครามกับราคาน้ำมันดิบเป็นของคู่กัน สงครามทำให้เกิดความกังวลว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกจะหายไป เพราะรัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันและแก๊สเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก บวกกับความต้องการน้ำมันดิบตุนไว้ล่วงหน้า ทำให้ราคาน้ำมันดิบทุกตลาดแพงขึ้นทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายในไม่กี่วัน ตรงนี้จึงเป็นสัญญาณเตือนแรกสุดว่าปัญหาปากท้องกำลังจะตามมา

ขั้นที่ 3 ราคาปุ๋ยและอาหารสัตว์ : สินค้าที่แพงขึ้นมาไล่เลี่ยกับน้ำมันดิบ คือ ปุ๋ย เพราะรัสเซียเป็นประเทศส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ของโลก เช่นเดียวกับน้ำมันดิบ รวมถึงโภคภัณฑ์ทางการเกษตรต่าง ๆ ตลาดโลกจึงมีความกังวลเรื่องอุปทานปุ๋ยและต้นทุนอาหารสัตว์ 

ดังนั้น กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบด้านนี้ คือ เกษตรกรปลูกพืชอย่างเดียว 4.5 ล้านครัวเรือน ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ 2.4 ล้านครัวเรือน ปลูกพืชและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2.2 แสนครัวเรือน และครัวเรือนที่ทำทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2.1 แสนครัวเรือน รวมที่ได้รับผลกระทบประมาณ 7.3 ล้านครัวเรือน จากเกษตรกรทั้งหมด 8.1 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 90% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด

สงคราม เศรษฐกิจปากท้อง จะแก้ปัญหาอย่างไร | พงศ์นคร โภชากรณ์

ขั้นที่ 4 ราคาน้ำมันขายปลีก : เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้น ราคาน้ำมันขายปลีกในปั๊มที่เราเติมกันอยู่ทุกวัน ก็ค่อย ๆ ขยับตามขึ้นมาทั้งแผง แทบจะขึ้นรายวัน ยกเว้นน้ำมันดีเซลที่วันนี้ยังตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร 

ดังนั้น ถ้าดูข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เฉพาะคนที่มีใบอนุญาต จะพบว่า กระทบคนจำนวน 31.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ขับรถยนต์ส่วนบุคคล 17.3 ล้านคน จักรยานยนต์ 12.2 ล้านคน รถสาธารณะ 2.5 แสนคน ที่เหลือเป็นรถอื่น ๆ 

ขั้นที่ 5 ค่าไฟฟ้า : อีกตัวที่ขยับตามมาทันที คือ ค่าไฟฟ้า ซึ่งเริ่มขยับขึ้นมาแล้ว 1 ครั้ง และมีโอกาสจะขยับขึ้นไปอีกหากราคาน้ำมันและก๊าซสูงขึ้นอีก ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้า จะกระทบครัวเรื่อนในประเทศทั้งหมดประมาณ 22 ล้านครัวเรือน ผู้ประกอบการอีกประมาณ 3 ล้านราย 

ขั้นที่ 6 ค่าก๊าซหุงต้ม : ตัวต่อไปที่มีคิวขึ้นชัดเจนแล้ว คือ ก๊าซหุงต้มที่จะขึ้นวันที่ 1 เมษายนนี้จาก 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เป็น 333 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม หรือปรับขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท ซึ่งรายการนี้กระทบต่อพ่อค้าแม่ค้าอาหารตามสั่ง แกงถุง ข้าวต้มกุ๊ย และร้านอาหารต่าง ๆ โดยตรง

ขั้นที่ 7 ค่าโดยสารสาธารณะ : เมื่อราคาน้ำมันขายปลีก ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้มแพงขึ้น ทำให้ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการโดยสารสาธารณะต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะแพงขึ้นด้วย 

สงคราม เศรษฐกิจปากท้อง จะแก้ปัญหาอย่างไร | พงศ์นคร โภชากรณ์

ขั้นที่ 8 ค่าอาหาร สินค้า และบริการต่าง ๆ : เมื่อต้นทุนการผลิตต่าง ๆ สูงขึ้น ย่อมส่งผลให้กับข้าวกับปลา อาหาร แกงถุง ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มีโอกาสจะขึ้นราคาได้ ผมเห็นตามข่าว สินค้าหลายรายการจ่อจะขึ้นราคากันเป็นแถว เมื่อมาถึงช่วงนี้หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย

ขั้นที่ 9 ค่าครองชีพแซงรายได้ : เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้น แต่รายได้กลับลดลง เท่าเดิม หรือเพิ่ม แต่เพิ่มในอัตราที่น้อยกว่าค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ประเด็นนี้อาจมีผลพวงที่ลากยาวมาจากวิกฤติโควิด 19 หากหารายได้ไม่พอรายจ่าย ย่อมทำให้เศรษฐกิจฐานรากอ่อนแอมากขึ้น 

ขั้นที่ 10 เงินเฟ้อและอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ : การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ อาหาร สินค้าและบริการต่าง ๆ ต่อเนื่อง จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน กำลังซื้อและความต้องการซื้อลดลง ทำให้การบริโภคลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว
  
ในความเห็นของผม การแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่น่าจะ “ได้ผลและตรงจุดที่สุด” คือ 

1) แบ่งคนเป็นกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพราะแต่ละอาชีพเจอปัญหาไม่เหมือนกัน เช่น ผู้มีรายได้น้อย (ค่าครองชีพสูง) เกษตรกร (ปุ๋ยแพง) วินมอเตอร์ไซค์ (น้ำมันแพง) ลูกจ้างรางงาน (รายได้ไม่พอรายจ่าย) เป็นต้น 

2) เสนอมาตรการที่เหมาะสมกับกลุ่มคนนั้น ๆ โดยแจกงานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกลุ่มคนต่าง ๆ เสนอมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนนั้น ต้องใช้หลัก 5 ต้อง ได้แก่ ต้องง่ายไม่ซับซ้อน ต้องทำได้ทันที ต้องตรงตัวคนที่ได้รับผลกระทบ ต้องมีเงินพอและมีแหล่งเงินชัดเจน และต้องบอกประชาชนบ่อยๆ ถี่ๆ 

3) ใช้มาตรการแบบผสานวิธี (Mixed Method) 2 รูปแบบ ได้แก่ มาตรการบริหารจัดการเรื่องราคาโดยหน่วยงานภาครัฐ ทำได้ทันที แค่ออกกติกาเงื่อนไขให้ชัดเจน และมาตรการสนับสนุนที่ตัวกลุ่มเป้าหมายโดยตรง เช่น ช่วยผ่านบัตรสวัสดิการ ช่วยเป็นเงินโดยตรง ช่วยเป็นส่วนลดการใช้จ่าย เป็นต้น 

ทุกวิกฤติ มีทางออกเสมอครับ.

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด