ม.หอการค้าไทย มองทั้งปีจีดีพีไทยโต 3.1% แม้โลกเสี่ยงเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยย

ม.หอการค้าไทย มองทั้งปีจีดีพีไทยโต 3.1% แม้โลกเสี่ยงเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยย

ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจภาค ธุรกิจกังวลค่าครองชีพพุ่งกระทบต้นทุน ชี้ ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงาน เงินเฟ้อ ทำเศรษฐกิจโลกถดถอย กระทบประเทศคู่ค้าของไทย กดดันให้จีดีพีไทยลดลงมา หวังภาคท่องเที่ยวช่วย มั่นใจจีดีพีไทยยังโตได้ 3.1%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯได้สำรวจความเห็นจากภาคธุรกิจถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกต่อธุรกิจไทยในปัจจุบัน จำนวน 850 ตัวอย่างทั่วประเทศ สำรวจระหว่างวันที่ 6-12 ก.ย. 2565 พบว่า ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับผลกระทบทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและกำไร แต่ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2565 ยังมีความเสี่ยงในระดับปานกลางถึงสูงที่ประเทศคู่ค้าหลักของไทย อาทิ จีน และสหรัฐฯ จะประสบกับภาวะเศรษฐกิจ ถดถอย (Recession) ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อมายังเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 ขณะที่ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ คือ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบด้านกำไร ยอดขาย และจำนวนลูกค้าที่จับจ่ายน้อยลดลง ส่วนเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย กว่า 77.1% มองว่าส่งผลกระทบต่อต้นทุน และส่งผลต่อสภาพคล่อง 43.4% ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม 5% ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนต.ค.2565 เป็นต้นไป นั้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ค้าส่ง และภาคการเกษตร กว่า 61.3% แต่ไม่ใช่เป็นเหตุให้ภาคอุตสาหกรรมปรับลดแรงงานให้น้อยลง โดยกว่า ร้อยละ 80 เห็นว่า จะไม่มีการปรับลดคนงานออกจากงาน หลังค่าแรงขั้นต่ำขึ้นแต่อย่างใด

 “ภาคธุรกิจอยากให้รัฐบาลหาหนทางสกัดกันเงินเฟ้อไม่ให้สูงมากจนเกินไป โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถเดินหน้าทำธุรกิจต่อไปได้และเห็นว่าการที่รัฐบาลใช้นโยบายดูแลด้านพลังงานด้วยการใช้มาตรการด้านภาษีและชดเชยนั้น เห็นว่าเป็นมาตรการทีดีเพื่อลดความร้อนแรงด้านต้นทุนการผลิตและต้นทุนค่าครองชีพและเป็นมาตรการเหมาะสมต่อการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ

ส่วนปัญหาน้ำท่วมในประเทศหลายพื้นที่โดยคาดว่ากระทบด้านความเสียหายประมาณ 5,000 ล้านบาทถือว่ากระทบต่อจีดีพีของประเทศน้อยมาก โดยทางศูนย์ฯมองว่า ไม่มีผลกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้มากนัก เนื่องจากพื้นที่ทางการเกษตรแม้จะได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ศูนย์ฯยังได้ประเมินผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆต่อเศรษฐกิจไทยปี 65 โดยเริ่มจากนิยามคำว่า “เศรษฐกิจถดถอย”เป็นสถานการณ์ที่เศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวกน้อยลง2 ไตรมาสคือเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวติดลบ 3 ปีจะเรียกว่าเศรษฐกิจตกต่ำ

สำหรับสาเหตุของเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในปี 2565 คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะผลก็คือจะทำให้จีดีพีประเทศลดลง ต้นทุนสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลง

สิ่งที่ทั่วโลกกังวลใน ขณะนี้คือ เศรษฐกิจในสหรัฐที่อัตราการขยายตัวติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทางเทคนิค ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยคาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งหน้า 1 % ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า ส่งผลให้เงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าในขณะที่ไทยยังนำเข้าน้ำมันในราคาแพง และยังไม่สามารถลดปริมาณการนำเข้าได้ อาจทำให้ไทยขาดดุลการค้า ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อ จีดีพี และทำให้การส่งออกของไทยไม่โดดเด่น

ทั้งนี้ หากเกิดกรณีภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย คาดว่าปริมาณการค้าโลกจะลดลง 1.0-2.0% ฉุดส่งออกไทยลดลง 185,596 ล้านบาท ส่งผลให้การบริโภคเอกชน การลงทุนเอกชนการนำเข้าสินค้า ลดลง 200,282 ล้านบาท ฉุดจีดีพีลดลง 1.22%

ดังนั้นในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปี 65 จึงมีความเสี่ยงระดับปานกลางถึงสูงที่ประเทศคู่ค้าหลักของไทยจะประสบกับกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ศูนย์ฯคาดว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ จะมีผลกดดันให้จีดีพี ในปี 2565 ให้ลดลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อน แต่ถ้าหากสามารถผลักดันให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงหรือมากกว่า 10 ล้านคน ก็จะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวไปได้เกือบทั้งหมด ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยทะลุ 10 ล้านคน ซึ่งจะสร้างเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจกว่า 2.4 แสนล้านบาท  

ศูนย์ฯยังคงคาดการณ์เดิมว่าในปี 2565 จีดีพีจะอยู่ที่ 3.1% ส่งออกอยู่ที่ 5-6% และคาดการณ์ว่าในปี 2566 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้าประเมินว่าจะขยายตัวไม่โดดเด่น เพราะความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัวจากราคาน้ำมันแพง ส่งผลต่อเงินเฟ้อ ต้นทุนธุรกิจสูง โดยจีดีพีจะเติบโตอยู่ในกรอบ 3-3.5%  อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์พยากรณ์จะมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือนพ.ย.นี้ต่อไป