เงินเฟ้อชะลอ แต่ต้นทุนสินค้ายังพุ่ง คนไทยยังต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่ม

เงินเฟ้อชะลอ แต่ต้นทุนสินค้ายังพุ่ง คนไทยยังต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่ม

พลังงาน และอาหาร กดดันค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยสูง เผย คนไทยยังต้องใช้จ่ายเกือบ 2 หมื่นบาทต่อเดือนต่อเนื่องไปอีก เตรียมใจสินค้าจ่อปรับขึ้นราคาอีกหลายรายการ

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ (สนค.) ได้รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนส.ค.2565  เพิ่มขึ้น 7.86%  ทำสถิติเพิ่มสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง จากที่เงินเฟ้อของไทยแตะระดับสูงสุดเมื่อเดือนมิ.ย.ที่อยู่ในระดับ ที่ 7.66%   และย่อลง 7.61% ในเดือนก.ค.  ซึ่งสาเหตุหลักเงินเฟ้อของไทยที่สูงขึ้นก็ยังคงเป็นเรื่องของราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตลอดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเงินเฟ้อของไทยเทียบกับต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อของไทย เดือนก.ค. 2565 อยู่ที่ 7.61 % อยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยสูงเป็นอันดับที่ 85 จาก 127 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข (ข้อมูลจาก TradingEconomics ณ วันที่ 29 ส.ค. 2565) ยังดีกว่าหลายประเทศ อาทิ  สหราชอาณาจักร เดือนก.ค. 65  สูง 10.1%  บราซิล  สูง10.07% และสเปน ในเดือนส.ค. 65 สูง 10.4% 

เงินเฟ้อชะลอ แต่ต้นทุนสินค้ายังพุ่ง คนไทยยังต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่ม

โดยสนค.มองว่า เงินเฟ้อของไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและจะค่อยปรับตัวลดลงในเดือนถัดๆไป เหตุผลเนื่องจากในช่วงระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา การขึ้นของเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน หรืออย่างน้อยอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัว นอกจากนี้ เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจการค้าอื่น ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามสนค.ยังให้จับตาปัจจัยภายนอกที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อของไทยไม่ว่าจะเป็น ความตรึงเครียดในภูมิภาคต่าง ๆ การสู้รบไม่เพิ่มขึ้น ต้นทุนสินค้านำเข้าบางชนิดไม่เพิ่มขึ้น เงินบาทจะอ่อนค่าแค่ไหน จากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ราคาพลังงานปลายปี จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกพลังงานของรัสเซียจะเป็นอย่างไร 

แม้ว่าเงินเฟ้อของไทยจะมีสัญญาณชะลอลงก็ตาม แต่เมื่อโฟกัสลงดูค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในเดือน ส.ค. พบว่า  ค่าใช้จ่ายรายเดือนของคนไทยยังสูงเกือบ 20,000  ต่อเดือน หรือเฉลี่ย 18,069  บาท  เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอาหาร ยังคงอยู่ในระดับสูง เช่น ราคาหมูเนื้อแดง สะโพกไม่ตัดแต่ง ราคา 190-195 บาทต่อ กก. หมูสามชั้น ราคา 230-250 บาทต่อกก. ไก่สดทั้งตัวไม่รวมเครื่องในราคา75-85 บาทต่อกก.

ขณะที่ไข่ไก่  เบอร์ 3 ฟองละ 4.00-4.20 บาทต่อฟอง อาหารสำเร็จรูปที่ปรับราคาเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง  ยังไม่นับรามกับราคาผัก พริกสด ต้นหอม ผักคะน้า ที่คาดว่าจะราคาปรับสูงขึ้นเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในหลายจังหวัด

เงินเฟ้อชะลอ แต่ต้นทุนสินค้ายังพุ่ง คนไทยยังต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่ม

นอกจากนี้คนไทยยังต้องเตรียมรับมือกับการปรับราคาสินค้าอีกหลายรายการที่กำลังจะทยอยตามมาหลังจากที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ไฟเขียวให้ขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่เกิน 1 บาทต่อซอง ใน 3 ยี่ห้อคือ มาม่า ไวไวและยำยำ

จากข้อมูลล่าสุดจากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2564 จนถึงก.ค. 2565 รวมระยะเวลา 8 เดือน มีผู้ผลิตยื่นขอขึ้นราคาสินค้ารวม 127 ครั้ง จาก 116 บริษัท รวมสินค้าทั้งสิ้น 936 รายการ ใน 11 หมวดสินค้า ได้แก่ 1. หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ 2. หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง 3. หมวดปัจจัยทางการเกษตร

 4. หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 5. หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ 6. หมวดวัสดุก่อสร้าง 7. หมวดสินค้าเกษตรที่สําคัญ 8. หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค 9. หมวดอาหาร 10. หมวดอื่นๆ และ 11. หมวดบริการ

แม้ว่าขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ไม่ให้ปรับราคาสินค้าขึ้นแต่คาดว่า เงินเฟ้อ บวกกับค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับขึ้นในเดือน ต.ค.และราคาพลังงานที่ยังคงทรงตัวในระดับสูงจะเป็นแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ต้องไฟเขียวให้ขึ้นราคาสินค้า  ซึ่งคนไทยต้องเตรียมตัวเตรียมใจควักเงินในกระเป๋าเพิ่มเพื่อค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้น