ท่าเรือจ่อประมูลแหลมฉบัง ลุยเชิงพาณิชย์มิกซ์ยูส 90 ไร่

ท่าเรือจ่อประมูลแหลมฉบัง ลุยเชิงพาณิชย์มิกซ์ยูส 90 ไร่

กทท.เตรียมดึงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง 90 ไร่ เปิดประมูลหาเอกชนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในปี2566 ปั้นจุดจอดรถบรรทุก โรงแรม สถานีน้ำมัน และโครงการมิกซ์ยูส เผยเป็นโมเดลหารายได้ใช้พื้นที่ท่าเรืออย่างมีประสิทธิภาพ

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงแผนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โดยระบุว่า ปัจจุบันนอกจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 ที่ กทท.อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาพื้นที่่ส่วนงานถมทะเล ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาโครงการจุดพักรถบรรทุก เพื่อหารายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ อำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการท่าเรือ และลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังระหว่างรอขนถ่ายสินค้า

โดยโครงการจุดพักรถบรรทุก กทท.นำต้นแบบมาจากหลายท่าเรือระดับโลก อาทิ เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่มีการจัดสรรพื้นที่บริเวณโดยรอบท่าเรือมาพัฒนาเป็นจุดพักคอย จุดจอดรถบรรทุกที่รอขนถ่ายสินค้า เป็นอีกหนึ่งแนวทางของการจัดระเบียบคิวรถบรรทุกที่จะเข้าออกภายในท่าเรือให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังปัจจุบันมีปริมาณรถบรรทุกเข้าออกเฉลี่ย 3 แสนคันต่อเดือน และเกิดปัญหาการจราจรติดขัดบางช่วงเวลาที่มีการขนถ่ายสินค้าจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี กทท.จึงเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่เพิ่มรายได้และแก้ปัญหาการจราจรในท่าเรือแหลมฉบัง จึงอยู่ระหว่างศึกษาโครงการจุดพักรถบรรทุก โดยจะใช้พื้นที่ประมาณ 90 ไร่ ซึ่งอยู่นอกเขตขนถ่ายสินค้า นำมาพัฒนาเป็นจุดพักรถบรรทุก พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ โรงแรม สถานีน้ำมัน ร้านค้าร้านอาหาร ตลอดจนห้องน้ำและบริการด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ในลักษณะโครงการแบบผสมผสาน (มิกซ์ยูส)

“ตอนนี้การท่าเรือฯ เรากำลังสำรวจความต้องการของภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการจุดพักรถบรรทุก เพื่อทำให้พื้นที่ว่างเปล่าเกิดประโยชน์ สามารถหารายได้เพิ่มขึ้น และยังแก้ปัญหาการจราจรติดขัดระหว่างรอรับบริการขนส่งสินค้า ซึ่งคาดว่ารูปแบบโครงการจะแล้วเสร็จในอีก 2-3 เดือนนี้ และจะเริ่มดำเนินการทันทีในปีงบประมาณ 2566”

อย่างไรก็ตาม กทท.มีเป้าหมายในการพัฒนาโครงการจุดพักรถบรรทุกแห่งนี้ให้เป็นต้นแบบของการบริหารพื้นที่ในท่าเรือเพื่อประโยชน์สูงสุด โดยเอกชนสามารถเข้ามาเสนอแผนพัฒนาโครงการและเสนอส่วนแบ่งรายได้ให้กับ กทท.อย่างเหมาะสม รวมทั้งโครงการนี้จะส่งเสริมให้ท่าเรือของ กทท.เป็นท่าเรือสีเขียวที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากมลภาวะเผาพลาญเชื้อเพลิง เพราะสามารถลดการติดเครื่องยนต์ในการรอขนถ่ายสินค้าได้

นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า ร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) ในโครงการพัฒนาจุดพักรถบรรทุกนั้น กทท.จะมีการกำหนดรูปแบบโครงการที่ต้องการให้เอกชนพัฒนา อาทิ จำเป็นต้องมีโรงแรม สถานีน้ำมัน พื้นที่พักคอยของรถบรรทุก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆส่วนรายละเอียดของร้านค้าหรือลักษณะในการออกแบบโครงการทางเอกชนจะต้องเป็นผู้นำเสนอ พร้อมยื่นข้อเสนอส่วนแบ่งรายให้กับ กทท.ด้วย โดยโครงการนี้คาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาให้เอกชนยื่นข้อเสนอได้ภายในปี 2566

“โครงการจุดพักรถบรรทุก จะจัดตั้งอยู่บริเวณหอคอยสังเกตการณ์ของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ว่างเปล่า มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาโครงการ สามารถรองรับการจอดรถบรรทุกได้จำนวนมาก อยู่ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบังที่อำนวยความสะดวกผู้ขับรถบรรทุกมาใช้บริการระหว่างรอขนถ่ายสินค้า โดยไม่ต้องไปจอดรถบริเวณโดยรอบท่าเรือแหลมฉบังเหมือนที่เคยเป็นมา”

ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน กทท.ยังได้ลงนามความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการขนส่งระหว่าง กทท. และ ขบ. โดย กทท. จะนำข้อมูลจาก ขบ. ไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ ข้อมูลทางทะเบียนยานพาหนะ ไปใช้ในการดำเนินการในระบบตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Matching) ที่พัฒนาเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนงานพิธีการส่งออกร่วมกับกรมศุลกากร และข้อมูลใบอนุญาตขับรถ ให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือระหว่างประเทศ (ISPS CODE)

นอกจากนี้ กทท. จะจัดส่งข้อมูลด้านการบรรทุกสินค้าให้กับ ขบ. เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปริมาณการขนส่งสินค้า ประเภทสินค้า น้ำหนักบรรทุก รถบรรทุกที่เข้าท่าเรือและเข้าใช้งานสถานีขนส่งสินค้า เพื่อประโยชน์ในการบริหารข้อมูลด้านการขนส่งและการให้บริการประชาชน โดยข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ท่าเรือได้เป็นอย่างดี

“โดยปกติรถบรรทุกสินค้าเข้ามาขนถ่ายสินค้าในท่าเรือ จะต้องผ่านการตรวจเช็คน้ำหนัก ลงทะเบียนเข้าออกท่าเรือ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 3 นาที แต่การที่เราแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก ก็จะทำให้เราทราบน้ำหนักของรถบรรทุกที่จดทะเบียนได้อย่างแม่นยำ ทำให้ระบบสามารถคำนวณค่าธรรมเนียมขนถ่ายสินค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดระยะเวลาในการลงทะเบียนเข้าออกท่าเรือแก้ปัญหารถติด”

นายเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้ายว่า กทท. ต้องเร่งให้มีการพัฒนาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง สำหรับการดําเนินงานด้านข้อมูลดิจิทัลเพื่อพัฒนาการให้บริการ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร จึงเร่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงข่ายข้อมูลภาครัฐ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลสำเร็จในการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริงเพื่อยกระดับท่าเรือสู่ World Class Gateway Port ต่อไป