อุตฯ การบินปรับทัพรับโจทย์ใหม่ เป้าหมายลดคาร์บอน ปูทางสู่ความยั่งยืน

อุตฯ การบินปรับทัพรับโจทย์ใหม่ เป้าหมายลดคาร์บอน ปูทางสู่ความยั่งยืน

อุตสาหกรรมการบินปรับทัพรับโจทย์ใหม่ มุ่งแผนลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หวังปูทางธุรกิจเติบโตยั่งยืน นกแอร์ - ไทยแอร์เอเชีย พร้อมใจลดต้นทุน ชูทางออกน้ำมันอากาศยานทดแทน

เมื่อการเปลี่ยนแปลง “สภาพภูมิอากาศ” ได้กลายเป็นวาระระดับโลก! “อุตสาหกรรมการบิน” จึงต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบอย่างยิ่ง เนื่องจาก “ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” จากภาคธุรกิจการบินนั้น นับเป็น 2.5% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก

รายงานข่าวจาก สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุว่า ข้อบังคับว่าด้วยการตรวจวัดและการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกิจการการบิน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.2565 โดยกำหนดให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศต้องจัดเก็บข้อมูลและรายงานข้อมูลปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้และสถิติการจราจรทางอากาศโดยรวมในแต่ละปีต่อ กพท.ตามรูปแบบและรายการที่กำหนดไว้

สำหรับข้อบังคับดังกล่าวเกิดขึ้นจากประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เป็นกลุ่มประเทศแรก (Pilot Phase) โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2564 จึงต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการรักษาระดับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของภาคการบินพลเรือนระหว่างประเทศไม่ให้เกินกว่าระดับปริมาณสุทธิของปี 2563 โดยใช้กลไกการชดเชยและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  สำหรับสายการบินนกแอร์ขณะนี้มีนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นมลภาวะทางอากาศ โดยใช้แผนบริหารจัดการฝูงบิน ปลดระวางอากาศยานที่มีอายุใช้งานสูง เพราะอากาศยานส่วนนี้ทำให้อัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิงสูง ประกอบกับต้องมีการซ่อมบำรุงบ่อยครั้ง 

“นกแอร์จึงใช้กลยุทธ์ในการสับเปลี่ยนหมุนเวียนอากาศยานให้ใหม่เสมอ เพื่อลดต้นทุนซ่อมอากาศยาน และอากาศยานรุ่นใหม่ก็มีเทคโนโลยีในการประหยัดน้ำมัน ลดการเผาผลาญพลังงานด้วย”

อุตฯ การบินปรับทัพรับโจทย์ใหม่ เป้าหมายลดคาร์บอน ปูทางสู่ความยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ด้านไทยแอร์เอเชีย ก็มีแผนลดการปล่อยคาร์บอนฯด้วยเช่นกันโดย  รายงานข่าวจากฝ่ายสื่อสารองค์กร สายการบินไทยแอร์เอเชีย  อ้างอิงตามรายงานประจำปีของ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่นจำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัทไทยแอร์เอเชียจำกัด ระบุว่า ไทยแอร์เอเชีย ใช้กลยุทธ์เพื่อบริหารจัดการปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้กรอบการดำเนินงานด้วยความปลอดภัยสูงสุด

“การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ยับยั้งการก่อมลพิษ และลดการปล่อยก๊าซ CO2 ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ คือหนึ่งในหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนของไทยแอร์เอเชีย ภายใต้การดำเนินงานของผู้อำนวยการแต่ละแผนกในการควบคุมการดำเนินงานโดยยึดหลักความยั่งยืนเป็นที่ตั้ง”

ทั้งนี้ “ประสิทธิภาพการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง” ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ไทยแอร์เอเชีย สามารถ “ลดต้นทุนการบิน” ได้อย่างมีนัยสำคัญ จากการดำเนินโครงการลดและควบคุมปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 และมีการเพิ่มโครงการใหม่เข้าไปในแผนงานตลอดระยะเวลา จนเกิดเป็น “แผนการปฏิบัติการบินสีเขียว” (Green Operating Procedure) ซึ่งได้ระบุขั้นตอนวิธีการปฏิบัติการบินสำหรับนักบินไว้โดยละเอียด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราการใช้เชื้อเพลิง การลดมลพิษทางเสียงต่อประชากรภาคพื้น โดยยังคงรักษามาตรฐานความปลอดภัยในการบินเป็นปัจจัยหลัก

สำหรับการดำเนินงานวิธีปฏิบัติการบินสีเขียวเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไทยแอร์เอเชียยังคงเดินหน้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศด้วยวิธีปฏิบัติการบินสีเขียวในทุกมิติให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ต่อเนื่องจากปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2564 ไทยแอร์เอเชียสามารถลดปริมาณก๊าซ CO2 ที่ถูกลดลงจากการถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ จะเท่ากับ 3,838 ตัน โดยประมาณ และสามารถเทียบเท่ากับการปลูกต้นโกงกางใบใหญ่ ทั้งหมด 66,172 ต้น

นอกจากนี้ ไทยแอร์เอเชียได้เข้าร่วมการหารือกับ ICAO เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกภาคการบินระหว่างประเทศ “State Action Plan” (SAP) โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการบินระหว่างประเทศให้คงที่ตั้งแต่ปี 2563 (Carbon Neutral Growth) และการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำมันอากาศยานในอัตรา 2% ต่อปี (2 Percent Annual Fuel Efficiency Improvement Through 2050)

"อีกหนึ่งในวิธีการสำคัญที่จะช่วยให้สายการบินลดการปล่อย CO2 คือการใช้ “น้ำมันอากาศยานทดแทน” (SAF) ซึ่งสามารถลดการปล่อย CO2 ได้มากถึง 80% ตลอดวัฏจักรชีวิตของเชื้อเพลิงเมื่อเทียบกับน้ำมันเจ็ทแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ ICAO ออกมาสนับสนุนให้มีการทดแทนเชื้อเพลิงอากาศยานหรือน้ำมันเจ็ทที่ผลิตจากฟอสซิลด้วยการใช้ SAF ในสัดส่วนที่เหมาะสมภายในปี 2593"