‘บล.ทรีนีตี้์’ ชี้ ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าไทยต่อเนื่อง

‘บล.ทรีนีตี้์’ ชี้ ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าไทยต่อเนื่อง

“บล.ทรีนีตี้” มองความตึงเครียดจีน-สหรัฐ-ไต้หวัน หนุนฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย พร้อมปรับเป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ 1,690 จุด เดิม 1,500 จุด คาดทิศทางเงินบาทแข็งค่าขึ้น-เงินเฟ้อทำจุดสูงสุดในไตรมาส 3 ปี 65

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศจีน ไต้หวัน และสหรัฐ ทำให้เม็ดเงินต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกจากตลาดหุ้นไต้หวัน ซึ่งมีมาร์เก็ตแคปเป็นอันดับ 3 ของตลาดลงทุนโลก ส่งผลให้ตลาดหุ้นเพื่อนบ้านในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ประโยชน์ รวมทั้งประเทศไทยด้วย 

‘บล.ทรีนีตี้์’ ชี้ ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าไทยต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. 2565 มีนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเป็นฝ่ายซื้อสุทธิในตลาดหุ้นกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท และตลาดพันธบัตรกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งฟันด์โฟลด์ต่างชาติไหลเข้าประเทศไทยอยู่ที่ 826 ล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกันไหลออกจากตลาดหุ้นไต้หวัน 811 ล้านดอลลาร์ ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยยังคงแข็งแกร่ง คาดเป้าหมายดัชนีสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,690 จุด จากที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,500 จุด

สำหรับ ค่าเงินบาทคาดมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ปลายก.ค. 65 ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่ามากที่สุดในสกุลเงินอาเซียน โดยแข็งค่าขึ้นกว่า 4% แม้ว่าอาจจะมีความเสี่ยงของเงินทุนไหลออกจากนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 0.5%

นอกจากนี้ การที่เฟดเริ่มมีนโยบายลดความรุนแรงในการขึ้นดอกเบี้ยนำไปสู่การทำกำไรของค่าเงินดอลลาร์และภายหลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.5-0.75% ในเดือนก.ย. นี้ อาจจะทำให้เกิดความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ขณะที่เงินเฟ้อทั่วโลกรวมทั้งไทย อาจจะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 3 ปีนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว 

‘บล.ทรีนีตี้์’ ชี้ ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าไทยต่อเนื่อง

และคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของไทยจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไปที่ระดับ 0.25% ต่อครั้ง คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ใน 12 เดือนข้างหน้าสู่ระดับ 1.5% ในกลางปี 2566 แต่ก็ยังถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในอาเซียน 

ทั้งนี้ ยังมีความเสี่ยงเรื่องเงินพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3% ในเดือนก.ค. 65 และการที่ค่าแรงขั้นต่ำมีโอกาสปรับขึ้นได้ 5-8% ทำให้ Core Inflation มีโอกาสสูงกว่าที่เป้าหมายธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 1-3%

อย่างไรก็ตาม ยังต้องคำนึงถึงปัจจับลบ ด้านเศรษฐกิจถดถอยอาจ เกิดขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ตามสัญญาณเทคนิคตัวแปรชี้นของเศรษฐกิจโลกหลายตัวเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว เช่น ภาคการผลิต และแรงกดดันเงินเฟ้อไทยที่อาจแพร่กระจายมากขึ้น รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ