Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 15 August 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 15 August 2022

ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แม้ตลาดยังกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 84-95 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 89-100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 15 August 2022

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (15-19 ส.ค. 65) 

ราคาน้ำมันดิบผันผวน ภายหลังดัชนีผู้บริโภค (CPI) สหรัฐฯ และจีน ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวไปเล็กน้อย ประกอบกับมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย รวมถึงการปรับเพิ่มปริมาณการผลิตของ OPEC+ ที่มีอย่างจำกัด ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว  อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนยังถูกกดดัน และอาจส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับลดลง 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

-  ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เดือนก.ค. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดที่ระดับ 8.5 % Y-o-Y ลดลงจากระดับ 9.1 % ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นการปรับลดลงของเงินเฟ้อสหรัฐฯ นับตั้งแต่เดือนเม.ษ. 65 แม้ว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง แต่ยังคงยืนอยู่ในระดับสูง จึงต้องจับตาการดำเนินโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่จะประชุมครั้งถัดไปในเดือน ก.ย. 65 ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง

-  ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนเดือนก.ค. 65  ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับที่ 2.7 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ต่ำกว่าคาดที่ 2.9 % แต่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดือนก่อนที่ 2.5 % สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นนั้น ส่งผลมาจากราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรรวมถึงราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ก่อนหน้านี้จีนประกาศตัวเลขดัชนีภาคการผลิต (PMI) เดือน ก.ค. 65 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 49.0 ซึ่งต่ำกว่า 50.0 แสดงถึงกิจกรรมในภาคอุตสาหกกรรมที่ซบเซาลง ส่งผลให้ตลาดจับตาทิศทางการกำหนดนโยบายของรัฐบาลจีน เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับไม่เกินกว่าที่กำหนด ขณะที่ยังรักษาเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ 

-  เมืองท่องเที่ยวหลักของจีน หรือเมือง Sanya  ประกาศล๊อกดาวน์เมื่อวันที่ 6-7 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 1,000 รายตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 65 เป็นต้นมา เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวในเมืองดังกล่าวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมในแถบเกาะไหหลำของจีนปรับตัวลดลง ส่งผลกดดันการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมัน
 

-  ปริมาณสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสิ้นสุดสัปดาห์ ณ วันที่ 5 ส.ค. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดที่ระดับ 73,000 บาร์เรล เนื่องจากความต้องการน้ำมันดิบที่ถูกกดดันจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจหดตัวของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ปริมาณสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2565 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง สะท้อนถึงความต้องการใช้น้ำมันที่ยังอยู่ในระดับดี จากการฟื้นตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น

-  มอลโดวาเปิดเผยว่าไม่สามารถชำระค่าก๊าซสำหรับเดือน ส.ค. ให้ Gazprom เนื่องจากไม่มีงบประมาณ และเจรจาขอเลื่อนการชำระเป็นช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี จากเหตุการณ์ความไม่แน่นอนดังกล่าวอาจส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นจากอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัว ซึ่งอาจส่งผลให้มีการหันมาใช้น้ำมันทดแทนก๊าซธรรมชาติมากขึ้น

-  เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขการภาคการผลิตของสหรัฐฯ (industrial production) เดือน ก.ค. 65 ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ได้แก่ ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะเติบโตน้อยลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 0.2 % Q-o-Q และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งตลาดคาการณ์ว่าอาจจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 3.7 % และตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีน ได้แก่ ตัวเลขภาคการผลิต เดือน ก.ค. 65 ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าอาจปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 3.4 % y-o-y และดัชนียอดค้าปลีก (retail sales) เดือนก.ค. 65 โดยตลาดคาดการณ์ว่าอาจมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (8-12 ส.ค. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.33 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 92.09 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 98.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 98.09 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ภายหลังตลาดคลายความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อลงบ้าง หลังสหรัฐฯ และจีน ประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจดีกว่าคาด ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบยังคงตึงตัว หลังการประชุมของ OPEC+ ที่ผ่านมามีมติปรับเพิ่มปริมาณการผลิตเพียงแค่ 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตสำรองประกอบกับบริษัท Transneft ของรัสเซียประกาศหยุดระงับส่งออกน้ำมันดิบชั่วคราวสำหรับน้ำมันที่ผ่านท่อ Druzhba pipeline ซึ่งเป็นท่อที่ผ่านทางยูเครนไปยังฮังการี สาธารณรัฐฯ เช็กและสโลวาเกียตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียทางด้านการเงิน ส่งผลให้ Transneft ไม่สามารถชำระเงินให้กับบริษัท UkrTransNafta ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการขนส่งน้ำมันดิบของยูเครนได้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการน้ำมันยังคงถูกกดัน ภายหลัง EIA รายงานสต็อกน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดที่ระดับ 73,000 บาร์เรล 

----------------------------------