วิกฤติหนี้ครัวเรือน ในภาวะ "ดอกเบี้ยขาขึ้น"

วิกฤติหนี้ครัวเรือน ในภาวะ "ดอกเบี้ยขาขึ้น"

"หนี้ครัวเรือน" ที่มาก "ดอกเบี้ยขาขึ้น" เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทยในภาพรวม กำลังซื้อส่งผลต่อภาคธุรกิจการจ้างงาน ลูกหนี้เสี่ยงชำระหนี้ยากขึ้น เสี่ยงผิดชำระกระทบคุณภาพชีวิตลูกหนี้และสมาชิกในครอบครัว เสี่ยงหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น

หนี้ครัวเรือนคนไทยอยู่ในระดับสูง แต่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นกำลังซ้ำเติมวิกฤติหนี้ครัวเรือนให้หนักขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ณ ปี 2564 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ระดับ 90.1% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 89.7% 

ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังพบว่า

- ครัวเรือนที่เป็นหนี้มีสัดส่วนมากขึ้น คิดเป็น 51.5% เพิ่มขึ้นจาก 45.2% ในปี 2562 

- รายได้ของครัวเรือนขยายตัวช้ากว่าการขยายตัวของหนี้สิน 

- หนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนไทยในปี 2564 อยู่ที่ 205,679 บาท เทียบจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 164,005 บาท หนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 25.4% ขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไทยในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นแค่ 5.1% 

ขณะที่ข้อมูลจาก Bank for International Settlements ระบุว่า ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงที่สุด

ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นปัจจุบัน ที่หลายประเทศต่างขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีแนวโน้มต้องขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน ทั้งเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ตลอดจนลดความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเสี่ยงซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยให้หนักขึ้นโดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจถดถอย ประชาชนมีรายได้ลดลง แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้แพงขึ้น หรือกู้มากขึ้น

ตัวอย่างประชากรลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่มที่เสี่ยงได้รับผลกระทบหนักจากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ย

1.กลุ่มประชากรลูกหนี้ที่อายุน้อยและหนี้บัตรเครดิต ปัจจุบันพบว่าหนี้บัตรเครดิตมีหนี้เสียมากขึ้น หนี้เสียจากบัตรเครดิตประมาณ 1 ใน 3 เป็นของผู้มีอายุต่ำกว่า 35 ปี สอดคล้องกับฐานข้อมูลเครดิตบูโร หนี้ครัวเรือนในฐานข้อมูลอยู่ที่ 12.4 ล้านล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ 31 ล้านคน จากสถิติพบว่าในลูกหนี้ 100 คน มีหนี้เสีย 18 คน และหากเจาะลึกในกลุ่มลูกหนี้ที่อายุ 30-34 ปี พบว่าใน 100 คน มีหนี้เสียมากถึง 24 คน ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเสี่ยงซ้ำเติมลูกหนี้กลุ่มนี้

2. ปัญหาหนี้ครัวเรือนเสี่ยงรุนแรงในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จากการสำรวจของ EIC ระหว่าง 27 ส.ค.-27 ก.ย. 2564 ระบุว่า มากถึง 78% ของผู้ที่รายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือนและมีหนี้ ประเมินว่าตนเองเป็นผู้มีปัญหาภาระหนี้ โดยมากกว่า 1 ใน 4 (27.4%) ของผู้มีรายได้น้อยระบุว่าตัวเองมีปัญหาภาระหนี้ในระดับหนัก สอดคล้องกับผลสำรวจกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่พบว่ามีหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีรายได้น้อยน่าเป็นห่วงสุด ผลสำรวจพบว่าแรงงานที่มีรายได้ระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อเดือน มีรายได้ไม่พอชำระหนี้ โดยในปี 2565 แรงงานมีหนี้เพิ่มขึ้น 99% สูงสุดในรอบ 13 ปี นับแต่มีการสำรวจมา (ยกเว้นปีที่มีการล็อกดาวน์จากโควิดที่ไม่มีการสำรวจ) 

3. กลุ่มเกษตรกร เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีหนี้อยู่แล้ว แต่หลายท่านอาจไม่ทราบ สองปีนับแต่มีโควิด ช่วงปี 2563-2564 เกษตรกรไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นถึง 74% หรือเพิ่มจากครัวเรือนละ 150,636 บาทมาอยู่ที่ 262,317 บาท สาเหตุจากมาตรการล็อกดาวน์ ตลาดถูกปิด ประชาชนลดการใช้จ่าย พืชผลทางการเกษตรขนส่งไม่ได้ ราคาตกต่ำ ประการสำคัญสุดคือ โดยพื้นฐานของเกษตรกรที่ส่วนใหญ่ต้องกู้มาลงทุนและเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เนื่องจากรายได้ไม่พอรายจ่าย รายได้มาเป็นฤดูกาล แต่รายจ่ายเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ต้องกู้มาเป็นค่าใช้จ่ายครัวเรือน ขณะที่เมื่อทุนจำกัด ทำให้ต้องกู้มาลงทุน

นอกจากหนี้ครัวเรือนแล้ว หนี้ภาคธุรกิจก็น่าห่วงโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือ SMEs ปัจจุบัน SMEs มีปริมาณหนี้รวมอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสียราว 2.6 แสนล้านบาท และมีหนี้ที่กล่าวถึงพิเศษหรือที่ควรระวังเป็นพิเศษอีก 4.09 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาลักษณะของ SMEs ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีบทบาทในการจ้างงาน แต่ส่วนใหญ่มีทุนน้อย สายป่านสั้น ยิ่งน่าเป็นห่วง 

ข้อควรระวังในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

ประการแรก หนี้ครัวเรือนที่มากและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทยในภาพรวม กระทบกำลังซื้อ ความสามารถในการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ส่งผลต่อผลประกอบการของภาคธุรกิจและการจ้างงาน

ประการที่สอง การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ย โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เงินเฟ้อสูง สินค้ามีราคาแพงขึ้น ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ครัวเรือนที่มีหนี้สูง ยิ่งประสบความลำบากในการดำรงชีวิต ลูกหนี้เสี่ยงชำระหนี้ได้ยากขึ้น เสี่ยงผิดชำระหนี้ กระทบคุณภาพชีวิตของลูกหนี้ตลอดจนสมาชิกในครอบครัว

ประการที่สาม ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ลูกหนี้ที่ชักหน้าไม่ถึงหลังเสี่ยงหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในรอบครึ่งปี 2564 มูลค่าหนี้นอกระบบอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากระดับ 5.6 หมื่นล้านบาทในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าในเวลา 2 ปี การพึ่งพาหนี้นอกระบบเสี่ยงผลักให้ลูกหนี้ลำบากขึ้น ใช้หนี้ไม่มีวันหมด ปัญหาหนี้หนักขึ้น กระทบคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะสุขภาพจิตของลูกหนี้และครอบครัว

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อสูง ครัวเรือนไทยมีหนี้มาก ขณะเดียวกันดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น รัฐบาลต้องออกมาตรการที่จำเป็นเพื่อดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางให้ผ่านช่วงเวลาที่ลำบากนี้ไปได้ ทางที่ดีคือไม่กลายเป็นหนี้เสีย ไม่ต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ขณะเดียวกันยังมีงานทำ ดูแลครอบครัวได้ต่อไป ไม่เสียสุขภาพจิต คิดสั้น ส่งผลต่อทั้งผลิตภาพทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของครอบครัว 

ตัวอย่างมาตรการที่รัฐบาลสามารถพิจารณาใช้ได้โดยเฉพาะต่อกลุ่มเปราะบาง เช่น มาตรการพักชำระหนี้ มาตรการยืดหนี้ หรือมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น

หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในภาวะวิกฤต ดอกเบี้ยที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นเสี่ยงซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้น รัฐบาลไทยต้องเตรียมรับมือให้ดี