เจน 3 ดุสิตธานี เคลื่อนกลยุทธ์กระจายเสี่ยง บุกปักธงแบรนด์โรงแรมไทยในยุโรป

“ศิรเดช โทณวณิก” ทายาทเจน 3 ของ “กลุ่มดุสิตธานี” บุตรชายคนโตของ ชนินทธ์-วิภาดา โทณวณิก และเป็นหลานย่าของ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งกลุ่มฯ ผู้มีคุณูปการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจ “โรงแรม” เสาหลักแรกตั้ง สร้างชื่อแก่แบรนด์ไทยบนเวทีโลก!
ศิรเดช โทณวณิก รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจโรงแรม กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า ทิศทางการขยายธุรกิจโรงแรมเครือดุสิตธานีจะโฟกัสทั้งในเอเชียและ “ยุโรป” ซึ่งเป็นอีกตลาดสำคัญนับจากนี้ ตามแผน “กระจายความเสี่ยง” (Diversify) หนึ่งใน 3 กลยุทธ์การเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืนของกลุ่มดุสิตธานี ร่วมกับ “การสร้างความสมดุล” (Balance) และ “การเติบโต” (Expand)
“ช่วงวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย เราเห็นชัดว่าการท่องเที่ยวและโรงแรมในยุโรปฟื้นตัวเร็วกว่าในเอเชียที่ปัจจุบันยังไม่กลับมาเท่าปี 2562 ก่อนการระบาดใหญ่ ต่างจากยุโรปที่ใน ปี 2564-2565 สามารถทุบสถิติเดิมได้แล้ว กลยุทธ์กระจายความเสี่ยงจึงสำคัญมาก ต้องกระจายออกไป ไม่ใช่เปิดโรงแรมแค่ในเอเชีย โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้วเราเปิดโรงแรมแห่งแรกในยุโรปที่ประเทศกรีซ และอยากไปเปิดเพิ่มในเยอรมนีและฝรั่งเศส โดยตอนนี้เรามีสำนักงานตัวแทนเพื่อพัฒนาโครงการทั้งในกรุงเบอร์ลินและกรุงปารีสแล้ว”
อย่างไรก็ตาม “เอเชีย” ยังคงเป็นหมุดหมายสำคัญในการขยายโรงแรมใหม่ โดยเฉพาะเวียดนาม ญี่ปุ่น และจีน แม้ว่าตอนนี้จีนจะมีปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี แต่ความสำคัญของตลาดแดนมังกรยังดำรงอยู่ นอกจากนี้ “อินเดีย” หนึ่งในตลาดแห่งอนาคตของการท่องเที่ยวโลก เป็นพื้นที่เป้าหมายที่ต้องเจาะอย่างต่อเนื่องเพื่อเกาะกระแสการเติบโต ในห้วงเวลาที่ตลาดจีนแผ่วไป
“ปี 2567 กลุ่มดุสิตธานีเซ็นสัญญารับบริหารโรงแรม 14 แห่งทั้งในเอเชีย อินเดีย และยุโรป ขณะที่ปี 2568 เราตั้งเป้าเซ็นเพิ่มอีก 15-17 แห่ง”
จะเห็นว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มดุสิตธานีได้กระจายความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอ สร้างความหลากหลายจนครอบคลุมถึง “5 กลุ่มธุรกิจ” ในปัจจุบัน ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจอาหาร ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการต้อนรับ
หนึ่งในไฮไลต์คือโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มิกซ์ยูสระดับโลก มูลค่ากว่า 4.6 หมื่นล้านบาท บนที่ดิน 23 ไร่ มุมถนนสีลม-พระราม 4 ภายใต้การร่วมทุนระหว่างกลุ่มดุสิตธานีและกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา ซึ่งมีองค์ประกอบทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และแบรนเด็ด เรสซิเดนส์ มีกำหนดเปิดครบเต็มรูปแบบภายในปี 2568 สู่การเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ
องค์ประกอบแรก “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ” ได้ฤกษ์เผยโฉมใหม่ไปเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 หลังปิดปรับปรุงครั้งใหญ่เพื่อรื้อสร้างอาคารใหม่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ถือเป็น “แฟลกชิป” หรือโรงแรมระดับเรือธง และยังสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความเป็น “ดุสิตธานี” โรงแรมที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมานานกว่าครึ่งศตวรรษ!
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดีไซน์ ศิลปะ และการสร้างความร่วมมือกับหลายบริษัทที่มีหลักคิดหรือปรัชญาการทำธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน เช่น จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) เพื่อสร้างไลฟ์สไตล์ “นิวลักชัวรี” (New Luxury) ร่วมกัน ขณะเดียวกันยังได้คอลแลบส์กับผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกมามอบประสบการณ์ “ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” (Wellness Tourism) แก่ลูกค้า ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดที่มีกำลังใช้จ่ายสูง และกำลังมองหาบริการด้านสุขภาพที่มากกว่าคำว่าสปา
ด้านกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทางกลุ่มดุสิตธานีเห็นโอกาสของตลาด “แบรนเด็ด เรสซิเดนส์” (Branded Residences) หรือ ที่พักอาศัยแบรนด์เนม ในประเทศไทยมาแรงเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย! โดยข้อมูลของ C9 Hotelworks ระบุว่า มีมูลค่าตลาดนี้ในไทยกว่า 1.91 แสนล้านบาท จากจำนวน 46 โครงการ รวม 10,081 ยูนิต ขณะที่ธุรกิจโรงแรมเองก็มีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก
ด้วยปัจจัย “คนเชื่อมั่นในแบรนด์” และคนซื้อที่พักอาศัยหรือคอนโดมิเนียมต้องการซื้อไลฟ์สไตล์และบริการ ศิรเดช จึงมองว่า “เข้าทาง” ในแง่กลยุทธ์ของกลุ่มดุสิตธานีพอดี ซึ่งกำลังเดินหน้าพัฒนาแบรนเด็ด เรสซิเดนส์ เจาะตลาด “ซีเนียร์ ลิฟวิ่ง” วางเป้าหมายเปิดแห่งแรกใน “หัวหิน” บนที่ดินเดียวกับโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน เพื่อซินเนอร์ยี (Synergy) ด้านบริการกับทางโรงแรมที่มีอยู่
โดยใช้ชื่อโครงการว่า “ดุสิต อจารา หัวหิน” เน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม มีจำนวนประมาณ 100 ยูนิต ภายใต้แนวคิด “เจเนอเรชัน ลิฟวิ่ง” ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัยแต่อยู่ร่วมกันได้ทุกรุ่น โดยความคืบหน้าล่าสุดของโครงการนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ หลังได้รับการอนุมัติให้พัฒนาและวางคอนเซ็ปต์แล้ว
“หลังจากทำรีเสิร์ชมา เราไม่ได้จำกัดคอนเซ็ปต์ของ ดุสิต อจารา ว่าจะต้องเป็นโครงการที่ต้อนรับเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยเหมือนกับประเทศฝั่งตะวันตก แต่เรามองว่าต้องสามารถรองรับได้ทุกเจเนอเรชันในครอบครัว เนื่องจากลูกค้าเป้าหมายของเราเป็นตลาดคนไทย อาศัยเป็นครอบครัวใหญ่แบบเอเชีย ลูกหลานมาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายายได้ และที่สำคัญคนไทยชอบแบรนด์ดุสิตธานี ทำให้เราเลือกพัฒนาคอนเซ็ปต์ตอบโจทย์ เจเนอเรชัน ลิฟวิ่ง มากกว่าการยึดติดว่าต้องเป็น ซีเนียร์ ลิฟวิ่ง อย่างเดียว ลูกหลานสามารถอยู่ร่วมกับผู้สูงวัยได้ ถือเป็นคอนเซปต์ที่น่าจะตอบโจทย์ตลาด”
ทั้งยังสอดรับกับทิศทางขยายธุรกิจของกลุ่มดุสิตธานีที่ ศิรเดช ย้ำว่า “ไม่ว่ากลุ่มดุสิตธานีจะขยายไปสู่ธุรกิจอะไร หัวใจหลักของเรายังคงเป็นธุรกิจบริการ”
ศิรเดช โทณวณิก