การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการปรับตัวของธุรกิจโดยการจัดการความเสี่ยง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการปรับตัวของธุรกิจโดยการจัดการความเสี่ยง

ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ และผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย แนวทางการดำเนินงานแบบองค์รวมในปัจจุบัน คือการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงขององค์กร

ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.... ได้มีการปรับปรุงและอยู่ระหว่างการขอรับฟังความคิดเห็นสาธารณะนั้น มีการปรับปรุงเนื้อหาอย่างมีนัยสำคัญเพื่อนำเอากลไกทางเศรษฐศาสตร์ ได้แก่ ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระบบภาษีคาร์บอน และคาร์บอนเครดิต เข้ามาใช้ควบคู่กับข้อบังคับในการเปิดเผยข้อมูลที่มีอยู่เดิม แม้ว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2569 แต่จะกลายเป็นรากฐานให้ทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย กระบวนการ และเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของภาคเอกชนในอนาคตอันใกล้

ภาคธุรกิจจึงต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ และผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย แนวทางการดำเนินงานแบบองค์รวมในปัจจุบัน คือการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงขององค์กร และบริหารจัดการความเสี่ยงนั้นอย่างเหมาะสม โดยต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะของความเสี่ยงนี้ และบูรณาการเข้ากับการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยภาคธุรกิจควรพิจารณากระบวนการดังนี้

1.ระบุและประเมินความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงที่มีผลกระทบทางกายภาพ (Physical Risk) ต่อทรัพย์สินหรือทำให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงัก ทั้งความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติฉับพลัน เช่น ไฟป่า หรือน้ำท่วม และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และใช้เวลานาน เช่น ภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านต่อระบบเศรษฐกิจ (Transition Risk) อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และนโยบายของภาครัฐ พฤติธรรมของผู้บริโภคและนักลงทุน และพัฒนาการของเทคโนโลยี ธุรกิจควรประเมินผลกระทบต่อการดำเนินงานและความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งต้องครอบคลุมไปถึงความเสี่ยงในอนาคต โดยมีระยะเวลายาวนานกว่าการประเมินความเสี่ยงทั่วไป ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า

2. กำหนดสถานการณ์จำลองและการทดสอบภาวะวิกฤติ (Scenario analysis and Stress testing) เพื่อประเมินผลกระทบของความเสี่ยงดังกล่าวในสถานการณ์จำลองแตกต่างกัน เช่น ในสถานการณ์ที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่ต่างกัน ในระยะเวลาต่างกัน เพื่อทราบถึงระดับความรุนแรงและมูลค่าความเสียหาย ตลอดจนภาวะวิกฤติที่ธุรกิจสามารถรับได้ในสภาพภูมิอากาศ สภาพตลาดและนโยบายที่แตกต่างกัน เพื่อช่วยให้กิจการสามารถเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน 

3. กำหนดกลยุทธ์ โดยเข้าใจผลกระทบ และจัดทำกลยุทธ์ หรือแผนงานเพื่อบรรเทาความเสี่ยง หรือมองหาโอกาสใหม่ๆ จากการเปลี่ยนแปลง จากกรณีศึกษามากมายสะท้อนว่า ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยหันไปพึ่งพาพลังงานสะอาดมากขึ้น ธุรกิจจึงควรเริ่มมองหาและพึ่งพิงกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาจศึกษาจาก Thailand Taxonomy ซึ่งจัดกลุ่มกิจกรรมเหล่านี้เป็นรายอุตสาหกรรม 

4. จัดเก็บและการเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อเป็นข้อมูลเริ่มต้นในการกำหนดเป้าหมายและกำหนดแผนงานให้สอดคล้องกับธุรกิจ ความท้าทายที่สำคัญคือข้อมูลที่จัดเก็บทั้งการดำเนินงานและห่วงโซ่คุณค่า ต้องครบถ้วนและถูกต้อง โดยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นข้อกำหนดพื้นฐานของ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ความพร้อมของการจัดเก็บข้อมูลจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด องค์กรจึงต้องเร่งทำความเข้าใจการจัดทำบัญชีและการคำนวณการปล่อยก๊าซฯ ที่ถูกต้อง เพื่อให้มั่นใจว่ามีข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อเปิดเผยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนด และเป็นข้อมูลในการตัดสินใจบริหารจัดการความเสี่ยงหรือวางแผนดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต 

กระบวนการนี้จะทำให้ธุรกิจบริหารจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ นอกจากนี้ องค์กรควรมีโครงสร้างการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว โดยกำหนดเป็นวาระสำคัญและได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารระดับสูง ซึ่งควรบูรณาการความเสี่ยงเหล่านี้ในการพิจารณากำหนดกลยุทธ์ขององค์กร ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อรับมือกับความเสี่ยงหรือโอกาส รวมถึงจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอและกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบของบุคลากรที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับการดำเนินการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเป็นระบบ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางนโยบายจากรัฐบาลอย่างเหมาะสม