เปิดใจ ‘ชนินทธ์ โทณวณิก’ บิ๊กดุสิตธานี ภารกิจสานตำนานบทใหม่โรงแรมไทย

เปิดใจ ‘ชนินทธ์ โทณวณิก’ บิ๊กดุสิตธานี ภารกิจสานตำนานบทใหม่โรงแรมไทย

นับถอยหลังเพียง 6 เดือน จะถึงฤกษ์เผยโฉมใหม่ของ 'โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ' พร้อมเปิดอย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือน ก.ย. 2567 หลังจากตำนานโรงแรมไทยอายุเกือบ 5 ทศวรรษ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2513 จำต้องปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2562 เพื่อก้าวสู่ตำนานบทใหม่!

นั่นคือการเป็นส่วนหนึ่งของ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” โครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสมผสาน (Mixed-Use) มูลค่ากว่า 46,000 ล้านบาท 

ภายใต้การร่วมทุนของบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ปักหมุดพัฒนา “แลนด์มาร์ก” แห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ บนที่ดิน 23 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนสีลมตัดกับพระราม 4 มีขนาดพื้นที่รวม 440,000 ตารางเมตร มุ่งหมายสร้างความคึกคักให้กับย่านซูเปอร์ซีบีดีแห่งนี้

บิ๊กโปรเจกต์นี้วางไทม์ไลน์เปิดเฟสแรก ประเดิมด้วย โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ในไตรมาส 3 ปี 2567 โดดเด่นด้วยโครงสร้างอาคารสูงสีทองขนาด 39 ชั้น (จากเดิม 22 ชั้น) ประกอบไปด้วยห้องพักสุดหรู ตั้งแต่ห้องดีลักซ์ จนถึงห้องสวีท รวม 257 ห้อง (จากเดิม 517 ห้อง) ซึ่งได้รับการพัฒนาและก่อสร้างขึ้นใหม่อย่างพิถีพิถัน พร้อมมอบประสบการณ์การเข้าพักอันยอดเยี่ยมเหนือระดับ สมกับเจตนารมย์ของ “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” ผู้ก่อตั้งกลุ่มดุสิตธานี ในการนำความเป็นไทยให้ปรากฏสู่สากล!

ด้านองค์ประกอบอื่นๆ ของโครงการฯ มีอาคารที่พักสุดหรู (Super Luxury) ภายใต้ชื่อ “ดุสิต เรสซิเดนเซส” และ “ดุสิต พาร์คไซด์” รวมถึงอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าชั้นนำ ภายใต้แบรนด์ใหม่ “เซ็นทรัล พาร์ค” (Central Park) รวมถึง รูฟพาร์ค (Roof Park) พื้นที่สีเขียวลอยฟ้าใจกลางกรุงที่มีขนาด 11,200 ตารางเมตร โดยจะทยอยเปิดภายในปี 2568

“กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ ชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ถึงความคืบหน้าของแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไม่ค่อยจะสู้ดี แต่ยังมี “ภาคท่องเที่ยว” คอยประคอง และภาคเอกชนขับเคลื่อนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

 

โจทย์แรกตั้ง 'ดุสิตธานี กรุงเทพ' ต้องใหญ่และใหม่ ภายใต้บุคลิกเดิม

ชนินทธ์ เริ่มต้นเล่าว่า หลังจากได้ส่งไม้ต่อให้ ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เข้ามาบริหารต่อจากเขาเมื่อปี 2559 ตอนนั้นมีโจทย์ปั้นตุ๊กตาตัวหนึ่ง ซึ่งก็คือโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ให้ประสบความสำเร็จ! และนับว่าโชคดีอย่างมากที่ได้ร่วมมือกับ “เซ็นทรัลพัฒนา” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน

“บอกตามตรงว่าโครงการนี้ออกมาดีอย่างที่เราคิด โดยเฉพาะคนที่มาซื้อเรสซิเดนส์ เขาไว้ใจในแบรนด์ดุสิตธานี เราจึงตั้งใจทำออกมาให้ดีที่สุด ไม่ได้มองแค่เรื่องรายได้ระยะสั้น”

เปิดใจ ‘ชนินทธ์ โทณวณิก’ บิ๊กดุสิตธานี ภารกิจสานตำนานบทใหม่โรงแรมไทย

ชนินทธ์ โทณวณิก ทายาทรุ่นที่ 2 ของกลุ่มดุสิตธานี

 

ด้าน โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ก่อนปิดให้บริการ เคยทำรายได้ให้กับกลุ่มดุสิตธานีในสัดส่วน 20% และหลังจาก “คิดมานาน” ว่าจะทำอย่างไรกับโรงแรมนี้ ซึ่งผ่านการปรับปรุงใหญ่มา 2 ครั้ง เมื่อราวปี 2523 และราวปี 2539-2540 ไม่ว่าจะปรับปรุงหรือตกแต่งอย่างไร ก็ยังอยู่บนโครงสร้างอาคารเก่า โดยเฉพาะปัญหา “ขนาดห้องพัก” 

พอไปดูงานโรงแรมเก่าทั้งในและต่างประเทศว่าเขามีการตกแต่งใหม่และสู้กับโรงแรมเกิดใหม่อย่างไร ก็ได้คำตอบว่า “ทำใหญ่” ไปเลยดีกว่า!

ด้วยการวางโจทย์แรกตั้งว่า “ต้องทำอะไรใหม่ๆ ภายใต้บุคลิกเดิม” เพื่อรักษาความเป็น “ดุสิตธานี” ให้ได้มากที่สุด ตามที่คุณแม่ (ท่านผู้หญิงชนัตถ์) สร้างเอาไว้

“สิ่งที่กลัวที่สุดคือ ดวงวิญญาณคุณแม่จะมาบ่น” ชนินทธ์ เล่าด้วยน้ำเสียงเจือรอยคิดถึง

สำหรับความคืบหน้าของการก่อสร้างโรงแรมนี้ ล่าสุดเดินหน้ากว่า 80-90% แล้ว การวางระบบทุกอย่างเสร็จหมดแล้ว เหลือแค่ขั้นตอนตกแต่งภายใน ส่วนจะได้อย่างใจคิดหรือไม่นั้น ต้องขอดูจุดนี้ก่อน โชคดีที่เรามีทีมที่ดี ตอนแรกมีการถกกันว่าอยากได้อะไรที่ดูสมัยใหม่ แต่สุดท้ายก็ยืนยันว่าอยากได้บุคลิกเดิม เช่น “ยอดแหลมสีทอง” สัญลักษณ์แห่งความทรงจำของโรงแรมฯ รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ที่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้โครงการบันทึกการเปลี่ยนผ่านหน้าประวัติศาสตร์ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ

เปิดใจ ‘ชนินทธ์ โทณวณิก’ บิ๊กดุสิตธานี ภารกิจสานตำนานบทใหม่โรงแรมไทย

 

รื้อพบ 'ประวัติศาสตร์' ยาวนาน สมนาม 'ตำนานโรงแรมไทย'

พอย้อนไปตอนประกาศรื้อถอนโรงแรมโฉมเก่า ชนินทธ์ เคยเล่าว่า น่าจะเป็นช่วงที่เขาถูกต่อว่ามากที่สุดในชีวิต! ผ่านทุกช่องทาง ทั้งจดหมาย อีเมล และต่อหน้า

“ตอนนี้ผมก็ยังเก็บจดหมายกับอีเมลไว้อยู่ และรู้ด้วยว่าใครต่อว่าผมมากที่สุด ว่างๆ อาจจะเชิญเขามาดูโฉมใหม่ของโรงแรม อย่างล่าสุดวันที่เรานำยอดแหลมสีทองกลับขึ้นไปตั้งบนชั้นสูงสุดของอาคารใหม่ ก็มีคนเขียนถึงเราเยอะผ่านโซเชียลมีเดีย” สะท้อนเรื่องราวการรักษาความต่อเนื่องบน “ประวัติศาสตร์” หน้าสำคัญของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ

“ผมคิดว่าไม่มีโรงแรมไหนที่จะรื้อแล้วทำได้แบบเรา เพราะประวัติศาสตร์มันยาว ผมอยากให้โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ โฉมใหม่ มาสานต่อประวัติศาสตร์โรงแรมเดิม แต่ให้มีอะไรที่ดีกว่า ทั้งการให้บริการจากบุคลิกเดิมของโรงแรม รวมถึงขนาดห้องพัก เพราะสมัยก่อนมีขนาดแค่ 28-30 ตารางเมตรเท่านั้น แต่ตอนนี้ใหญ่ขึ้นเป็น 50-60 ตารางเมตร รวมถึงความสูงของห้อง เมื่อก่อน 2.80 เมตร ตอนนี้ขยับเป็น 3.80 เมตร”

เปิดใจ ‘ชนินทธ์ โทณวณิก’ บิ๊กดุสิตธานี ภารกิจสานตำนานบทใหม่โรงแรมไทย

เฉพาะ “งบลงทุน” โรงแรมนี้ ถือว่าบานพอสมควร! บานตั้งแต่ 2 ปีแรกที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ต่อมาก็มีการเปลี่ยนโจทย์ใหม่ เน้นเรื่องคุณภาพและขนาดห้องพัก เพราะเห็นว่ามีโครงการโรงแรมอื่นๆ เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ถ้าดูในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ว่ามีใครเปิดโรงแรมบ้าง ก็จะเห็นว่ามีทั้งแบรนด์ระดับอินเตอร์ฯ มากมาย เช่น ปาร์คไฮแอท โรสวูด โฟร์ซีซัน และคาเพลลา

 

ชูหลักใหญ่ 'ต้องมีแบรนด์ของคนไทย สู้กับต่างประเทศ'

ชนินทธ์ เล่าถึง “ความคาดหวัง” ที่มีต่อโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ซึ่งถือเป็นโครงการใหญ่ที่สุดตั้งแต่กลุ่มดุสิตธานีเคยทำมาว่า จริงๆ ตอนท่านผู้หญิงชนัตถ์สร้างโรงแรมดุสิตธานีเดิม ถือว่าเป็นโครงการใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในสมัยนั้น เขาจึงหวังว่าโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จะออกมาดี และเป็นที่ชื่นชอบของทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ แม้คนรุ่นเก่าอาจจะบ่นว่าไม่เหมือนเดิม แต่ยืนยันว่าเราพยายามทำให้ดีที่สุด ด้วยหลักใหญ่ “ต้องมีแบรนด์ของคนไทยสู้กับต่างประเทศ” และหวังว่าโครงการนี้จะเป็นแฟลกชิปของกลุ่มดุสิตธานี รวมถึงกลุ่มธุรกิจโรงแรมไทยในการไปสู้กับต่างประเทศ!

 

ผสานพลัง 'เพื่อนบ้าน' อสังหาฯ ย่านพระราม 4 สร้างเดสติเนชัน เคลื่อนทั้งกรุงเทพฯ 

ส่วนภาพการแข่งขันระหว่างโครงการอสังหาฯ เพื่อนบ้านในย่านพระราม 4 และรอบๆ สวนลุมพินี เช่น “วัน แบงค็อก” อภิมหาโปรเจ็คต์มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท จากกลุ่มทีซีซีและเฟรเซอร์ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่จะเปิดโครงการรีเทลในเดือน ต.ค.นี้ ชนินทธ์ เล่าว่า “ผมเห็นภาพรวมแล้ว เขาทำดี ผมว่าประเทศไทยจะดีก็ตรงนี้ ถ้าช่วยกันทำ”

อย่างวันก่อนได้มีโอกาสไปเยือน “เวลา สินธร วิลเลจ” (Velaa Sindhorn Village) คอมมูนิตี้มอลล์ของสยามสินธร บริเวณหลังสวน เขาทำออกมาได้ดี พอรอบๆ สวนลุมพินีมีโครงการดีๆ น่าสนใจ ก็จะช่วยทำให้แถบนี้ เป็นศูนย์กลางใหม่ของธุรกิจในกรุงเทพฯ

“เราไม่ได้ถือว่าเขาเป็นคู่แข่ง เราอยากให้เขาทำออกมาดี ช่วยกันขับเคลื่อน สร้างเป็นเดสติเนชัน ไม่ใช่แค่ย่านสีลม-พระราม 4 เท่านั้น แต่ช่วยทั้งกรุงเทพฯ” 

เปิดใจ ‘ชนินทธ์ โทณวณิก’ บิ๊กดุสิตธานี ภารกิจสานตำนานบทใหม่โรงแรมไทย

เปิดใจ ‘ชนินทธ์ โทณวณิก’ บิ๊กดุสิตธานี ภารกิจสานตำนานบทใหม่โรงแรมไทย