BA เชื่อ ‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ รัฐแจ้งเกิดได้! ยันเดินหน้าเมืองการบิน EEC

BA เชื่อ ‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ รัฐแจ้งเกิดได้! ยันเดินหน้าเมืองการบิน EEC

‘พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ’ หัวเรือใหญ่แห่ง BA หรือ บางกอกแอร์เวย์ส เชื่อโครงการ ‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ ที่ยังติดหล่มปัญหา ภาครัฐจะหาวิธีแก้ได้ พร้อมยืนยัน เดินหน้าลุยโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกต่อ หลังใช้งบลงทุนส่วนแรกไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3” ของกรุงเทพฯ เชื่อมกับสนามสุวรรณภูมิและดอนเมือง ด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไฮสปีด 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กิโลเมตร ที่มีบริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เป็นผู้ชนะประมูลเมื่อ 5 ปีก่อน แต่ยังติดสารพัดปัญหาค้างคา


อ่านเพิ่มเติม: 6 ปี 3 รัฐบาล 'ไฮสปีดเทรน' 3 สนามบิน อนาคตโครงการอยู่ในมือ 'ซีพี'

เชื่อภาครัฐแจ้งเกิด 'ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน' ได้! 

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA หนึ่งในพันธมิตรของ “กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส” ผู้คว้าประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เปิดเผยว่า สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มีเอกชนอีกรายเป็นผู้ดูแลนั้น เชื่อว่าสุดท้ายแล้วโครงการนี้จะต้องมาพร้อมกับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มาหนุนเสริม พึ่งพาซึ่งกันและกัน

แต่การจะเดินหน้าต่อไปให้ได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะปรับเปลี่ยนหาวิธีการอย่างไร หากจะมาบอกว่าไม่มีวิธีแก้ปัญหาเลย แบบนี้มองว่าไม่น่าจะใช่ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเกิดขึ้นให้ได้ เนื่องจากส่งผลต่อภาพรวมของทั้งโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินฯ

จุดกังวล! ผู้โดยสารไปสนามบิน 'อู่ตะเภา' ต้องการความสะดวก

เดิมภาพรวมของเมกะโปรเจกต์นี้ ทั้ง 2 โครงการ คือ 1.โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และ 2.โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เคยอยู่ด้วยกัน เป็นโครงการเดียวกันมาก่อน 

ก่อนจะถูกจับแยกออกจากกัน มีกลุ่มพันธมิตรของภาคเอกชนเข้ามาลงทุนและพัฒนา 2 ราย เลยทำให้ดูเหมือนยุ่งไปหน่อย 

“จุดที่เรากังวลคือการเดินทางของผู้โดยสารเข้าสู่สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินฯ มีความจำเป็นที่ต้องใช้การเดินทางที่สะดวก รองรับการเดินทางเข้า-ออก ให้เป็นไปตามเป้าหมายปลายทางของสนามบินอู่ตะเภา ว่าในปีที่ 50 จะต้องมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการ 60 ล้านคน นั่นหมายความว่าต้องมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 100,000 คน เท่าๆ กับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งยังมีเวลาให้สร้างการเติบโตได้”

 

ตั้งแต่ Day 1 ใช้งบลงทุนส่วนแรกไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท

“ตอนนี้เราอาจจะไม่ต้องรอความชัดเจนเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ให้ออกมาก่อน เพราะหากรอขนาดนั้นแล้วไม่มีออกมา รอไปอีก 10 ปี เราก็ไม่ได้สร้างสักที ทำให้ต้องมาปรึกษาภายในของเราเองว่า จะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่มาก งบประมาณของโครงการก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะพันธมิตรทางการเงินของเรา ก็ต้องทำให้เขาเชื่อมั่นว่าไปด้วยกันได้ อย่างไรก็ต้องเดินหน้าต่อตามแผนงานแน่นอน”

โดยนับตั้งแต่วันแรก (Day 1) ของโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ใช้งบประมาณส่วนแรกไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการ เช่น ทำแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) 

BA เชื่อ ‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ รัฐแจ้งเกิดได้! ยันเดินหน้าเมืองการบิน EEC

 

CFO แห่ง BA ร่วมยืนยัน เดินหน้าโปรเจกต์ ไม่ได้หยุดนิ่ง!

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ยังคงเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ไม่ได้หยุดนิ่งเลย แต่เงื่อนไขที่จะเข้าไปพัฒนาโครงการได้นั้นมีหลายประการที่เป็นข้อตกลงกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ว่าภาครัฐจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง

โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา กองทัพเรือได้ดำเนินการเปิดประมูลก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 ไปแล้ว แต่ยังเหลืออีกบางข้อที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการอีกเช่นกัน 

ในขณะเดียวกัน ทางเราก็ได้เตรียมการกันมานับตั้งแต่เซ็นสัญญาลงทุนโครงการนี้ ออกแบบแล้วออกแบบอีก เรียกได้ว่าดูกันจนฉ่ำ และอยากเข้าไปพัฒนาแล้ว ก็ได้มีการคุยกับภาครัฐเพื่อขอเปิดพื้นที่ให้เราได้เข้าไปเตรียมงานก่อน เช่น การเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง เพราะโครงการนี้มีขนาดใหญ่มากซึ่งต้องใช้เวลาก่อสร้างนาน ก็จะช่วยประหยัดเวลาไปได้บ้าง อย่างน้อยเราก็ใจชื้นว่ารัฐส่งมอบพื้นที่ให้เราแล้ว ทั้งนี้มีบางเรื่องที่ภาครัฐก็ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของสัญญาด้วย

“ยืนยันว่าการดำเนินโครงการนี้ไม่ได้หยุดนิ่ง ได้มีการเตรียมความพร้อมในทุกเรื่องไว้แล้ว”

นายอนวัช กล่าวว่า “อย่างไรก็ตาม ยิ่งทำโครงการล่าช้ามากเท่าใด ก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความล่าช้าเพิ่มขึ้นมาอีก จะบอกว่างบประมาณที่ใส่ลงไป ไม่มีผลกระทบต่อบริษัทเลยคงเป็นไปไม่ได้” 

 

ย้ำชัด "เราไม่ได้ขออะไรเกินเลย มากไปกว่าทำโครงการให้สำเร็จ" 

ต้องย้อนดูวัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก คือการเป็นสนามบินแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ ซึ่งต้องมีรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อให้การเดินทางสะดวก ผู้โดยสารสามารถเลือกลงสนามบินใดก็ได้ และต้องการทำให้อู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางทางการบิน (ฮับการบิน)

“เป้าหมายของการซื้อซองประมูลโครงการมาก็เพื่อทำสนามบินแห่งที่ 3 เป็นเงื่อนไขที่เอกชนอยากเข้ามาลงทุน ทำงานอย่างเต็มที่ และเพื่อให้เอกชนทำงานได้อย่างที่ตั้งใจไว้จริงๆ ภาครัฐก็ควรสนับสนุนตามสมควร”

“อะไรที่รัฐสามารถช่วยเหลือหรือให้การสนับสนุนได้ ก็ต้องคุยกัน เพราะเราไม่ได้ขออะไรที่เกินเลยมากไปกว่าสิ่งที่คิดว่าจำเป็นสำหรับการทำโครงการให้สำเร็จเลย”

BA เชื่อ ‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ รัฐแจ้งเกิดได้! ยันเดินหน้าเมืองการบิน EEC