สยามพิวรรธน์ จ่อระดมทุน 2.6 หมื่นล้าน สานแผนลุยตลาดเอเชียปั้นแลนด์มาร์ก

สยามพิวรรธน์ จ่อระดมทุน 2.6 หมื่นล้าน สานแผนลุยตลาดเอเชียปั้นแลนด์มาร์ก

สื่อนอกเผย บิ๊กคอร์ปไทย 'สยามพิวรรธน์' เตรียมทำไอพีโอใหญ่สุดของประเทศในรอบ 2 ปี มูลค่า 500-750 ล้านดอลลาร์ ราว 1.7-2.6 หมื่นล้านบาท สานแผนระยะยาวมุ่งขยายอาณาจักรเวิลด์คลาสเดสติเนชั่นบุกเอเชีย หลังยักษ์อสังหาชั้นนำหลายประเทศสนใจดึงร่วมลงทุนสร้างโปรเจกต์แลนด์มาร์ก

KEY

POINTS

  • สื่อนอก รายงานข่าว 'สยามพิวรรธน์' กำลังเจรจาธนาคารพาณิชย์ต่างชาติเตรียมทำ IPO มูลค่า 500-750 ล้านดอลลาร์ หรือราว 17,000-26,000 ล้านบาท 
  • ยุทธศาสตร์ 5 ปี ของสยามพิวรรธน์มุ่งขยายการลงทุนภายในประเทศไทย และศึกษาการขยายธุรกิจไปต่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย คาดประกาศแผนได้ในปี 2567 
  • สยามพิวรรธน์ ก้าวสู่สนามการค้าระดับโกลบอลต่อยอดธุรกิจสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศ โดยมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในหลายประเทศสนใจร่วมลงทุนสร้างโครงการแลนด์มาร์ก

 

สื่อนอกเผย บิ๊กคอร์ปไทย 'สยามพิวรรธน์' เตรียมทำไอพีโอใหญ่สุดของประเทศในรอบ 2 ปี มูลค่า 500-750 ล้านดอลลาร์ ราว 1.7-2.6 หมื่นล้านบาท สานแผนระยะยาวมุ่งขยายอาณาจักรเวิลด์คลาสเดสติเนชั่นบุกเอเชีย หลังยักษ์อสังหาชั้นนำหลายประเทศสนใจดึงร่วมลงทุนสร้างโปรเจกต์แลนด์มาร์ก

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีก เจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้แก่ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของ ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ 

กำลังพิจารณาที่จะเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ซึ่งจะเป็นการทำ IPO ครั้งใหญ่ที่สุดของไทยในรอบ 2 ปี

แหล่งข่าวซึ่งไม่ประสงค์ออกนามเปิดเผยกับบลูมเบิร์กว่า สยามพิวรรธน์กำลังเจรจากับธนาคารพาณิชย์ต่างชาติเพื่อให้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการทำ IPO ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปีนี้

พร้อมกับระบุว่า สยามพิวรรธน์มีเป้าหมายที่จะระดมเงินทุนมูลค่า 500-750 ล้านดอลลาร์ หรือราว 17,000-26,000 ล้านบาท จากการทำ IPO โดยขณะนี้บริษัทยังคงอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา และอาจตัดสินใจที่จะไม่ทำ IPO

 

สยามพิวรรธน์ จ่อระดมทุน 2.6 หมื่นล้าน สานแผนลุยตลาดเอเชียปั้นแลนด์มาร์ก ทั้งนี้ การพิจารณาทำ IPO ของสยามพิวรรธน์มีขึ้นในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัว หลังจากการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด โดยข้อมูลของรัฐบาลไทยระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทะลุ 8 ล้านคนแล้วในปีนี้

เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของบริษัทสยามพิวรรธน์เปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้วว่า “บริษัทวางแผนที่จะขยายธุรกิจในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย”

โดยในเวลานั้น บริษัทได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านการขยายธุรกิจและการระดมเงินทุน ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ในการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย

ข้อมูลจากบลูมเบิร์กระบุว่า บริษัทของไทยที่เคยระดมทุนจากการทำ IPO ได้มากที่สุดในปี 2565 คือ บริษัท ไทยประกันชีวิต โดยระดมทุนได้มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ บริษัทสยามพิวรรธน์ก่อตั้งขึ้นในปี 2502 โดยใช้ชื่อในเวลานั้นว่า บริษัท บางกอก อินเตอร์คอนติเนนตอล โฮเต็ลส จำกัด ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ในปี 2546 และเป็นเจ้าของศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์หลายแห่ง รวมถึง สยามพารากอน และไอคอนสยาม

สยามพิวรรธน์ จ่อระดมทุน 2.6 หมื่นล้าน สานแผนลุยตลาดเอเชียปั้นแลนด์มาร์ก

โรดแมปสยามพิวรรธน์มุ่งบุกเอเชีย

สำหรับกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีกชั้นนำ เจ้าของและผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ ในฐานะ “Global Destination” ที่หนึ่งในใจนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยวางยุทธศาสตร์ระยะยาวมุ่งขยายอาณาจักรธุรกิจสู่ตลาดภูมิภาคเอเชีย

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ กล่าวเมื่อช่วงปลายปี 2566 ถึงแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของสยามพิวรรธน์ว่า นอกจากมุ่งขยายการลงทุนภายในประเทศแล้ว คณะกรรมการบริษัทฯ ยังเห็นชอบที่จะศึกษาการขยายธุรกิจไปต่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผน คาดเสร็จสมบูรณ์พร้อมประกาศแผนได้ต้นปี 2567 

สยามพิวรรธน์ จ่อระดมทุน 2.6 หมื่นล้าน สานแผนลุยตลาดเอเชียปั้นแลนด์มาร์ก

"วันนี้พร้อมแล้วที่จะก้าวสู่สนามการค้าระดับโกลบอลต่อยอดธุรกิจสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศด้วยความมั่นใจในฐานะผู้นำการพัฒนาโครงการจุดหมายปลายทางที่ประสบความสำเร็จและมีความสำคัญระดับโลก หรือ World-class Destination ที่ได้รับการยอมรับนับถือในเวทีพัฒนาอสังหาริมทรัพย์"

ความมั่นใจของสยามพิวรรธน์ต่อก้าวรุกนอกบ้านครั้งนี้ ยังมาจากช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ได้รับการติดต่อจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับต้นๆ จากหลายประเทศที่เดินทางมาเยี่ยมชมศูนย์การค้าต่างๆ ของสยามพิวรรธน์เป็นจำนวนมาก ได้แสดงความประสงค์ที่จะให้สยามพิวรรธน์ไป “ร่วมลงทุน” เพื่อสร้างโครงการที่เป็นแลนด์มาร์กในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย สอดรับกับภาพรวมวงการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกขณะนี้ พบว่าเริ่มมีการตื่นตัวมากขึ้นหลังจากผ่านพ้นวิกฤติการณ์โควิด-19 

ทุกประเทศเร่งเครื่องยนต์ดึงทัวริสต์

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจาก “สยามพิวรรธน์” กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แผนการระดมทุนครั้งนี้อยู่ระหว่างศึกษา ยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใด

ขณะที่นักวิเคราะห์ในวงการค้าปลีก กล่าวว่า ขณะนี้ทุกประเทศทั้งในอาเซียน เอเชีย และทั่วโลก ต่างเร่งเครื่องยนต์ภาคการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศด้วยการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยือน ผ่านการพัฒนาในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการเป็นปักหมุดเป็น “โกลบอล เดสติเนชั่น” เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญ เช่นเดียวกับแนวทางของประเทศไทยที่หลายศูนย์การค้า หรือเมกะโปรเจกต์มิกซ์ยูสหลายแห่งสร้างจุดขายการเป็น “จุดหมายปลายทางระดับโลก” หรือ โกลบอล เดสติเนชั่น ด้วยความพร้อมขององค์ประกอบต่างๆ ทั้งด้านชอปปิง (ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า) กิน ดื่ม เที่ยว (ร้านอาหาร ภัตตาคาร แหล่งบันเทิง เอนเตอร์เทนเมนต์) พักผ่อน (โรงแรม) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือน และจับจ่ายใช้สอย สร้างเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ 

 

ไอคอนสยามต้นแบบ“โครงการเมือง”

อย่างไรก็ดี การที่สยามพิวรรธน์ได้รับการทาบทามให้ไปร่วมลงทุนกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในหลายประเทศนั้น พิสูจน์การเป็นผู้นำทางความคิดสร้างสรรค์ล้ำสมัยด้วยคอนเซปต์แปลกใหม่และเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศได้อย่างดี การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศในสาขาต่างๆ บนเวทีโลก เสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ รวมทั้งภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย

โดยผลประกอบการของกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์เติบโตสูงต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 รายได้เติบโตกว่า 25% จากปี 2565 มีผู้เข้าใช้บริการที่ศูนย์การค้าในกลุ่มวันสยาม (ONESIAM) ประกอบด้วย สยามพารากอนสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ มากถึง 45 ล้านคนเติบโตกว่า 50% จากปีก่อนหน้า คาดการณ์ปี 2566 มีผู้มาเยือนถึง 100 ล้านคน

ขณะที่ “ไอคอนสยาม”  ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากในหลายประเทศว่าเป็นโครงการต้นแบบของการพัฒนา “โครงการเมือง” ที่รวบรวมความครบครันของการชอปปิง เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ศิลปวัฒนธรรม และนวัตกรรมที่อำนวยความสะดวก รวมถึง โรงแรมและคอนโดมิเนียม ที่อยู่อาศัยเหนือระดับ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ รองรับด้วยการสัญจรที่เชื่อมต่อระบบรถ ราง เรือ เข้าด้วยกันอย่างลงตัว

“ไอคอนสยาม เป็นจุดหมายสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้อยากมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมากมีลูกค้ามาเยี่ยมเยือนแตะวันละ 100,000 คน และ 6 เดือนแรกของปี 2566 มีผู้มาใช้บริการในไอคอนสยามทั้งชาวไทยและต่างชาติรวมกัน 15.5 ล้านคน เติบโต จากปี 2565 มากถึง 70%”

ลุยกลยุทธ์“Above the Ocean”

ภายใต้ความท้าทายของภาคธุรกิจที่มีทั้งโอกาสและปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน “ชฎาทิพ จูตระกูล” ในฐานะแม่ทัพใหญ่สยามพิวรรธน์ ได้พัฒนากลยุทธ์ “Above the Ocean” หรือการ Rise Above and Beyond ในการขับเคลื่อนธุรกิจก้าวข้ามทุกการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายบนพื้นฐานของความยั่งยืน

หัวใจหลัก คือการทำ Digital Transformation ด้วยการพัฒนา ONESIAM SUPER APP และ VIZ COINS ในฐานะ Digital Platform ที่สร้างประสบการณ์เหนือความคาดหมายคู่ขนานไปกับ Physical Platform ผสานการสร้างพันธมิตรในรูปแบบ Ecosystem สร้างการเติบโตร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งผู้คน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ ยังได้เตรียมพร้อมองค์กรรับก้าวรุกหลังโควิด โดยได้ปรับกระบวนทัพการทำธุรกิจ ปรับโครงสร้างภายใน เตรียม “Next Generation Leaders” ขององค์กรในอนาคต สร้างแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี พร้อมสื่อสารกับพนักงานในเครือทั้งหมด 48 บริษัท เพื่อให้รับทราบและเข้าใจในทิศทางเดียวกัน พร้อมรับภูมิทัศน์ (Landscape) ธุรกิจค้าปลีกไทยและทั่วโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากจากวิกฤติโควิด ทำให้การค้าขายไร้พรมแดนเกิดขึ้นอย่างชัดเจน

ดังนั้นความแข็งแกร่งในการสร้างโครงการ หรือ physical platform ที่นำเสนอประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมาย จะถูกต่อยอดร่วมกับพันธมิตรและคู่ค้าชั้นนำทั่วโลกในรูปแบบต่างๆ ขยายธุรกิจสู่ Web 3.0 เชื่อมออนไลน์สู่ออฟไลน์ (O2O) สร้างประสบการณ์เหนือความคาดหมายทั้งในโลกจริง โลกดิจิทัล และโลกเสมือนจริง (Metaverse) แก่ลูกค้าทั่วโลก

นักวิเคราะห์มองบวก 

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ KCS กล่าวว่า ปัจจุบันถือว่าไม่ได้มีการระดมทุนหุ้นไซด์ใหญ่มานานแล้ว ปีที่แล้วไม่มี ซึ่งหลังจากที่มีกระแสข่าวว่า บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของศูนย์การค้าหรูหลายแห่ง เช่น สยามพารากอน และไอคอนสยาม กำลังพิจารณาที่จะเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ครั้งใหญ่ที่สุดของไทยในรอบ 2 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะระดมเงินทุนมูลค่ากว่า 17,000-26,000 ล้านบาท มองเป็น “บวก”

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมห้างสรรพสินค้าและออฟฟิศปรับตัวเร่งขึ้นมาด้วยถือว่ามีความรุนแรงมากขึ้น เพราะฐานทุนของ สยามพิวรรธน์ ก็จะใหญ่ขึ้น โดยกลุ่มลูกค้าที่จับเป็นระดับไฮเอนด์