‘เฮลซ์บลูบอย’ เจอผู้ท้าชิงรายใหม่? ส่อง 5 แบรนด์น้ำหวาน ‘ตระกูลบอย’

‘เฮลซ์บลูบอย’ เจอผู้ท้าชิงรายใหม่? ส่อง 5 แบรนด์น้ำหวาน ‘ตระกูลบอย’

มีมากกว่าเฮลซ์บลูบอย! สมรภูมิน้ำหวานแข่งเดือด หลัง “Hello Boy” เปิดหน้าท้าชนเจ้าสนาม ดึง “4EVE” นั่งพรีเซนเตอร์ สู้แบรนด์หนุ่มน้อยใส่หมวก พบ แท้จริงมีแบรนด์ “ตระกูลบอย” ก่อนหน้าอื้อ! “Sunny Boy-Candy Boy-Horn Boy” หั่นราคาสู้ “Hale’s Blueboy” เท่าตัว!

KEY

POINTS

  • ชื่อของ “เฮลซ์บลูบอย” (Hale’s Blueboy) เป็นที่รู้จักมานานหลายทศวรรษ ครองความเป็นเจ้าตลาดน้ำหวานเข้มข้นมานาน กระทั่งปลายปี 2566 มีผู้ท้าชิงหน้าใหม่ที่น่าจับตามองถือกำเนิดขึ้น ในชื่อของ “เฮลโหลบอย” (Hello Boy)
  • บริษัทแม่ของ “เฮลโหลบอย” คลุกคลีในวงการ “F&B” มานาน เป็นผู้ผลิตสินค้า OEM ให้แบรนด์ระดับประเทศมากมาย โดดเด่นในอุตสาหกรรมวัตถุแต่งกลิ่นและสี กระทั่งตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทสู่ “ผู้เล่นแถวหน้า” ผ่านการตีแบรนด์เป็นของตนเอง
  • ก่อนจะมี “เฮลโหลบอย” เคยมีน้ำหวานที่พ่วงท้ายด้วย “บอย” มาก่อนหน้าอย่าง “ซันนี่บอย” “แคนดี้บอย” และ “ฮอร์นบอย” งัดข้อผ่านเกมราคา ให้ปริมาณเท่ากันแต่มีราคาถูกกว่าเจ้าตลาดเท่าตัว

มีมากกว่าเฮลซ์บลูบอย! สมรภูมิน้ำหวานแข่งเดือด หลัง “Hello Boy” เปิดหน้าท้าชนเจ้าสนาม ดึง “4EVE” นั่งพรีเซนเตอร์ สู้แบรนด์หนุ่มน้อยใส่หมวก พบ แท้จริงมีแบรนด์ “ตระกูลบอย” ก่อนหน้าอื้อ! “Sunny Boy-Candy Boy-Horn Boy” หั่นราคาสู้ “Hale’s Blueboy” เท่าตัว!

ปลายปี 2566 “โฟอีฟ” (4EVE) เกิร์ลกรุ๊ปสัญชาติไทยที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ เปิดตัวนั่งแท่นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์ “เฮลโหลบอย” (Hello Boy) สินค้าน้ำหวานน้องใหม่แกะกล่อง ที่ขอเข้ามาชิงแชร์ตลาดน้ำหวานเข้มข้นจากเจ้าสนามเดิมอย่าง “เฮลซ์บลูบอย” แบรนด์น้ำหวานชื่อดังของพี่น้องตระกูล “พัฒนะเอนก” แบรนด์ที่ไม่ต้องพึ่งพาสารพัดวิธีทางการตลาดก็สามารถยืนระยะมายาวนาน 65 ปี ด้วยรายได้ “สามพันล้านบาท” และกำไรสูงสุด “พันล้านบาท” ต่อปี นับเป็นสินค้าที่มีแบรนดิ้งแข็งแรงอย่างมาก จนชื่อ “เฮลซ์บลูบอย” แทบจะกลายเป็น “Generic name” ในการนิยามน้ำหวานเข้มข้นบรรจุขวดไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูไทม์ไลน์ตลาดน้ำหวานในรอบทศวรรษที่ผ่านมา พบว่า “เฮลโหลบอย” กลับไม่ใช่แบรนด์แรกที่เกิดขึ้นในฐานะผู้ท้าชิงหน้าใหม่ แต่ยังมีแบรนด์อื่นๆ ที่เข้าสู่ตลาดในฐานะ “แบรนด์หนุ่มน้อย” มาก่อนหน้านี้ อาทิ “ซันนี่บอย” (Sunny Boy) “แคนดี้บอย” (Candy Boy) “ฮอร์นบอย” (Horn Boy) หรือแม้กระทั่ง “เฮฟวี่บอย” (Heavy Boy) น้ำหวานขวดแก้วที่มาพร้อมกับสัญลักษณ์ชายเบ่งกล้ามก็มีให้เห็นเช่นเดียวกัน

ทว่า “เฮลโหลบอย” กลับถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ เนื่องจากแบรนด์ไม่ได้เป็น “น้องใหม่” ในตลาดเสียทีเดียว แต่ บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ “RBF” บริษัทแม่ของเฮลโหลบอย เป็นผู้รับจ้างผลิต OEM วัตถุแต่งกลิ่น สีผสมอาหาร แป้งประกอบอาหาร เครื่องปรุงรส ซอสน้ำจิ้ม ฯลฯ อยู่เบื้องหลังแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในไทยมากมาย

แม้ว่าที่ผ่านมาจะเคยมีการออกแบรนด์ใต้ร่มเครือ “RBF” มาบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการทำการตลาดมากนัก การมาถึงของน้ำหวาน “เฮลโหลบอย” โดยเลือกเกิร์ลกรุ๊ปเลือดใหม่มาแรงในการกรุยทางครั้งนี้ จึงเป็นมูฟเมนต์ที่น่าสนใจ เมื่อน้ำหวานเบอร์หนึ่งถูกท้าทายด้วยคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ

‘เฮลซ์บลูบอย’ เจอผู้ท้าชิงรายใหม่? ส่อง 5 แบรนด์น้ำหวาน ‘ตระกูลบอย’

“RBF” ขยับสู่คนหน้าฉาก ดัน “Hello Boy” ชักธงรบน้ำหวานเบอร์ 1

เนื่องจาก “RBF” ประกอบธุรกิจหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มวัตถุแต่งกลิ่น กลุ่มอาหารแช่แข็ง กลุ่มแป้งและซอส กลุ่มผลิตภัณฑ์อบแห้ง กลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติก ฯลฯ ทำให้ใต้ร่ม “RBF” เอง ต้องมีการแยกย่อยบริษัทลูกเพื่อความชัดเจนในการทำงาน รวมทั้งสิ้น 11 บริษัท

สำหรับโครงสร้างรายได้ทั้งหมดนั้น ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2565 บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กลุ่มแป้งและซอส เป็นสัดส่วนที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทมากที่สุด คือ 45.10% หรือคิดเป็นตัวเลขราว “1,786.69 ล้านบาท” ตามมาด้วยประเภทวัตถุแต่งกลิ่นและรส และสีผสมอาหาร สัดส่วน 32.61% หรือคิดเป็นตัวเลข “1,291.65 ล้านบาท”

ที่น่าสนใจ คือหากย้อนกลับไป 2 ปีก่อนหน้า คือ ปี 2563 และปี 2564 จะพบว่า รายได้จากกลุ่มแป้งและซอส และกลุ่มวัตถุแต่งกลิ่นและรส และสีผสมอาหาร มีสัดส่วนใกล้เคียงกันมาโดยตลอด ในปี 2563 กลุ่มวัตถุแต่งกลิ่นและรส และสีอาหาร มีสัดส่วนรายได้ “มากกว่า” กลุ่มแป้งและซอส โดยมีส่วนต่างอยู่ที่ 1.19% ถัดมาในปี 2564 กลุ่มแป้งและซอส จึงขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 มีสัดส่วนรายได้ 39.46% ขณะที่กลุ่มวัตถุแต่งกลิ่นและรส และสีผสมอาหาร มีสัดส่วยรายได้ 35.29% 

เหตุผลที่ทำให้ “กลุ่มแป้งและซอส” ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 เกิดจากการผลิตสินค้าจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของ “RBF” ที่มีชื่อว่า “อังเคิลบาร์นส์” และ “ก๊อบจัง” โดยเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เดียวที่มีการตีแบรนด์เป็นของตนเอง ครอบคลุมแทบทุกประเภทของแป้งประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นแป้งทอดกรอบ แป้งชุบทอด แป้งคาราเกะ เกล็ดขนมปังชุบทอด ฯลฯ

ทว่า แบรนด์เหล่านี้กลับไม่เคยมีการโปรโมตหรือทำแคมเปญการตลาดแต่อย่างใด ตามรายงานประจำปี 2565 ระบุว่า ส่วนใหญ่แล้ว ทั้ง “อังเคิลบาร์นส์” และ “ก๊อบจัง” เป็นการผลิตส่งจำหน่ายตามร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ จำพวก “ดิสเคานต์สโตร์” หรือ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” มากกว่า

‘เฮลซ์บลูบอย’ เจอผู้ท้าชิงรายใหม่? ส่อง 5 แบรนด์น้ำหวาน ‘ตระกูลบอย’ -น้ำหวานตรา “Hello Boy” ของเครือ “RBF”-

การมาถึงของ “เฮลโหลบอย” จึงนับเป็นเรื่องใหม่ของบริษัท ในการขยับสู่บทบาท “ผู้เล่นหลัก” อย่างเป็นทางการ “RBF” เดินเครื่องเต็มกำลังด้วยการใช้กลยุทธ์ “Presenter Marketing” เลือกเกิร์ลกรุ๊ปที่กำลังอยู่ในกระแส เพื่อ “Go Viral” บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากขึ้น รวมถึงการ “ดั๊มป์ราคา” ให้ปริมาณเท่ากัน แต่ขายในราคาที่ย่อมเยากว่า ยิ่งซื้อมากยิ่งถูกลง แม้ว่าก่อนหน้านี้แบรนด์น้ำหวานหนุ่มน้อยใส่หมวกจะมีคู่แข่งรายย่อยด้วยชื่อละม้ายคล้ายกันมาบ้างแล้ว แต่ก็ต้อมยอมรับว่า ครั้งนี้ดูจะเป็นคู่แข่งที่พอฟัดพอเหวี่ยงมากที่สุดก็ว่าได้

มี “Sunny Boy-Candy Boy-Horn Boy” มาก่อน “Hello Boy”

คู่แข่งรายย่อยที่ถือกำเนิดขึ้นก่อนหน้า “เฮลโหลบอย” มีหลายเจ้าด้วยกัน โดยพบว่า ทั้งหมดล้วนใช้ชื่อแบรนด์ที่มีคำว่า “บอย” ลงท้ายทั้งหมด

สำหรับแบรนด์ “ซันนี่บอย” พบว่า จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งแต่ปี 2527 โดยมี “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชินทรัพย์” เป็นเจ้าของ “ซันนี่บอย” แตกต่างจาก “เฮลซ์บลูบอย” ในส่วนของราคาขายอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันเฮลซ์บลูบอยสนนราคาขายปลีกต่อชิ้นที่ “67 บาท” ในปริมาณ 710 มิลลิลิตร ขณะที่ “ซันนี่บอย” มีปริมาณเท่ากัน แต่ขายอยู่เพียง “28 บาท” เท่านั้น ทั้งยังมีโปรโมชันซื้อ 3 ขวด 75 บาท เฉลี่ยเหลือขวดละ “25 บาท” เท่านั้น ทำให้ “ซันนี่บอย” สร้างข้อได้เปรียบของตัวเองในฐานะ “สินค้าทดแทน” ได้

ด้าน “แคนดี้บอย” จดทะเบียนจัดตั้งในปี 2540 ภายใต้ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนวัฒน์ มีเดียร์” มีปริมาณ 710 มิลลิลิตร และราคาขายที่ย่อมเยาไล่เลี่ยกับ “ซันนี่บอย” สนนราคาตั้งแต่ 22 บาท ไปจนถึง 30 บาท เช่นเดียวกันกับ “ฮอร์นบอย” ที่มีราคาขายเริ่มต้นขวดละ 22 บาท ถึง 35 บาท อาจพูดได้ว่า การเกิดขึ้นของแบรนด์น้ำหวาน “ตระกูลบอย” เหล่านี้ มีจุดร่วมเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดผ่าน “Price War” ขณะที่ “เฮลซ์บลูบอย” นำไกลไปหลายก้าว จากการเป็นผู้เล่นคนแรกๆ จนทำให้ผู้บริโภคเกิด “Brand Loyalty” และ “Brand Love” ที่แม้ว่า จะมีสินค้าราคาถูกกว่า ด้วยหน้าตาที่ใกล้เคียงกันก็ยังไม่สามารถล้มช้างตัวนี้ได้

‘เฮลซ์บลูบอย’ เจอผู้ท้าชิงรายใหม่? ส่อง 5 แบรนด์น้ำหวาน ‘ตระกูลบอย’

เรื่องนี้สะท้อนผ่านผลประกอบการ “บริษัท เฮลซ์เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด” ที่มีสัดส่วนกำไรต่อรายได้เฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (ตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2565) ราว 30.18% นับว่า เป็นสัดส่วนกำไรที่สูงมาก โดยมีรายละเอียดดังนี้

ปี 2561: รายได้ 2,888 ล้านบาท กำไรสุทธิ 749 ล้านบาท
ปี 2562: รายได้ 3,768 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,099 ล้านบาท
ปี 2563: รายได้ 3,319 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,057 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้ 3,563 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,137 ล้านบาท
ปี 2565: รายได้ 3,020 ล้านบาท กำไรสุทธิ 956 ล้านบาท

สมรภูมิน้ำหวานที่เคยได้ชื่อว่า มี “บิ๊กเพลย์เยอร์” เพียงรายเดียว อาจไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว หลังจากนี้ติดตามกันต่อไปยาวๆ ว่า ค่าย “RBF” จะงัดกลยุทธ์อื่นใด เพื่อการชิงเค้กก้อนโตมาครอง หลังจากทำหน้าที่เป็น “คนเบื้องหลัง” มานาน

 

อ้างอิง: Creden DataSunny BoyRBF 1RBF 2