แบรนด์ไทยราคาหลักสิบ แต่โกยรายได้ ‘พันล้าน’ ทุกปี

แบรนด์ไทยราคาหลักสิบ แต่โกยรายได้ ‘พันล้าน’ ทุกปี

เปิดรายได้แบรนด์ไทยปี 2565 ราคาสินค้าขาย “หลักสิบ” แต่รายได้ทะลุ “พันล้าน” อะไรอยู่เบื้องหลังให้ “สามแม่ครัว-เฮลซ์บลูบอย-นกแก้ว-เบนเนท-เด็กสมบูรณ์” 5 แบรนด์คู่บ้าน โกยพันล้านบาทต่อเนื่องมาหลายปี

Key Points:

  • กางดูรายได้หลังส่งงบการเงินประจำปี พบ แบรนด์ไทย ราคาขาย “หลักสิบ” แต่โกยรายได้ “พันล้าน” ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ไทยที่มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัว-สินค้าติดตลาด
  • “สามแม่ครัว” เจ้าตลาดปลากระป๋องที่ไม่ได้ก่อตั้งโดยแม่ครัวสามคน “เฮลซ์บลูบอย” ยักษ์น้ำหวานที่ใหญ่แค่ไหนก็ไม่เคยแตกไลน์โปรดักต์ไปทำอย่างอื่น แถมยังคงรายได้-กำไร “พันล้าน” ทุกปี
  • ด้าน “เด็กสมบูรณ์” แม้แข็งแรงในตลาดเครื่องปรุงแต่ไม่เคยหยุดนิ่ง เข็นโปรดักต์ใหม่ “ซอสลดโซเดียม-ไอศกรีมรสซีอิ๊ว” เอาใจคนรุ่นใหม่เพิ่ม


31 พฤษภาคมของทุกปี คือ วันสุดท้ายที่นิติบุคคลต้องทำการยื่นงบการเงินกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่-รายเล็กต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจถดถอยปั่นป่วนทั้งในประเทศและระดับโลก ทำให้กำลังซื้อจากผู้บริโภคลดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กลับพบว่า มีหลายแบรนด์ที่ยังคง “ยืนเด่นโดยท้าทาย” ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจและผลพวงจากโรคระบาด

“กรุงเทพธุรกิจ” หยิบ 5 แบรนด์ที่มีราคาขายหลักสิบ แต่สามารถทำรายได้ “พันล้าน” ต่อเนื่องหลายปี อะไรทำให้แบรนด์เหล่านี้สามารถเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภค สร้าง “Brand Love” ฝ่าสมรภูมิเศรษฐกิจระดับ “สึนามิ” มาได้ ไปทำความรู้จักประวัติความเป็นมาและเคล็ดลับความสำเร็จพร้อมๆ กัน

แบรนด์ไทยราคาหลักสิบ แต่โกยรายได้ ‘พันล้าน’ ทุกปี

  • สามแม่ครัว

อาหารสามัญประจำบ้านที่อยู่คู่คนไทยมานานหลายทศวรรษ “สามแม่ครัว” ปลากระป๋องที่ยังคงโดดเด่นท่ามกลางตลาดอาหารกระป๋องมาร่วม 50 ปี 

แบรนด์สามแม่ครัวไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากแม่ครัวสามคน แต่ริเริ่มโดย “สุวัฒน์ อุดมบัณฑิตกุล” ที่ตอนนั้นประกอบอาชีพเซลส์แมน เขาหมายมั่นปั้นมือด้วยแพสชันที่ว่า ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเองเพราะไม่อยากรอให้ถึงวันที่จะถูกเลิกจ้าง และไม่ต้องการเป็นพนักงานประจำไปตลอดชีวิต สุวัฒน์จึงชักชวนเพื่อนๆ เซลส์แมนอีก 4 คน ร่วมลงขันทำธุรกิจปลากระป๋องด้วยกัน

แม้ช่วงแรกจะยังไม่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำพอเลี้ยงชีพได้ แต่ผ่านไปเพียงไม่นานปลากระป๋องสามแม่ครัวก็ดูจะไปได้สวย จนตัดสินใจจดทะเบียนจัดตั้งเป็นเรื่องเป็นราวในชื่อ บริษัท รอแยลฟู้ดส์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ก่อนจะขยับมาเป็น 200 ล้านบาทในปัจจุบัน

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) เมื่อปี พ.ศ.2562 ระบุว่า ตลาดปลากระป๋องมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นราว 8,000-9,000 ล้านบาท โดย “สามแม่ครัว” ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด 35 เปอร์เซ็นต์ แม้จะไม่ได้ตั้งราคาขายไว้ย่อมเยาที่สุด แต่สามแม่ครัวกลับได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2562-2563 คือช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 กลับส่งให้รายได้ของ รอแยลฟู้ดส์ บริษัทแม่ของสามแม่ครัวมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า อาหารกระป๋องน่าจะได้รับอานิสงส์จากการกักตุนสินค้าของประชาชนในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา

แบรนด์ไทยราคาหลักสิบ แต่โกยรายได้ ‘พันล้าน’ ทุกปี

  • เฮลซ์บลูบอย

“เราเป็นแบรนด์แรกไหม ไม่ทราบ แต่ที่ผมทราบ คือ เราเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่แรก”

นี่คือส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ที่ “ประยุทธ พัฒนะเอนก” ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายต่างประเทศ บริษัท เฮลซ์เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูลพัฒนะเอนกผู้ก่อตั้ง “เฮลซ์บลูบอย” ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ไว้เมื่อปี พ.ศ.2559

หากย้อนดูผลประกอบการตลอดหลายปีมานี้ ก็คงไม่ผิดไปจากคำบอกเล่าของประยุทธนัก เพราะ “เฮลซ์เทรดดิ้ง” มีรายได้เฉลี่ย 3 พันล้านบาท กำไรเฉลี่ย 1 พันล้านบาททุกปี โดยที่มาของน้ำหวานเฮลซ์บลูบอยเริ่มต้นจากการทำร้านโชห่วยของ 4 พี่น้องเชื้อสายจีน หลังนั้นไม่นานก็เริ่มมองเห็นโอกาสในตลาดน้ำหวานที่ยังไม่มีใครครองเบอร์ 1 พี่น้องพัฒนะเอนกเลยผันตัวจากผู้ขายมาเป็น “ผู้ผลิต” แทน น้ำหวานเฮลซ์บลูบอยจึงถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.2502 และจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในปี พ.ศ.2521 ด้วยทุน 60 ล้านบาท

แบรนด์ไทยราคาหลักสิบ แต่โกยรายได้ ‘พันล้าน’ ทุกปี

หัวใจสำคัญที่ทำให้น้ำหวานบ้านๆ ประสบความสำเร็จ คือ การรักษาคุณภาพ โตช้าๆ แต่ว่ามั่นคง ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นเมื่อเห็นช่องทางในการเติบโตก็จะเร่ง “ติดสปีด” ทันที แต่เฮลซ์บลูบอยไม่เป็นเช่นนั้น บริษัทยังคงเป็นองค์กรแบบคอนเซอร์เวทีฟ ไม่หวือหวา ไม่กู้หนี้ยืมสิน ไม่ใช้เงินผิดประเภท ไม่แตกไลน์ไปทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด ทำให้เฮลซ์บลูบอยยังคงรักษาสถานะ “ผู้นำความหวาน” ย่างเข้าสู่ปีที่ 65 แล้ว

  • สบู่นกแก้ว

สบู่ก้อนแบรนด์ไทยที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ในอดีตสบู่นกแก้วถูกคิดค้นขึ้นโดยชาวเยอรมันที่มองเห็นโอกาสว่า ขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีสบู่หอมวางขาย มีเพียงสบู่แบบกรดที่สามารถทำความสะอาดผิวได้ ในช่วงแรกการผลิตสบู่นกแก้วมีความทุลักทุเลพอสมควร เพราะต้องสั่งหัวน้ำหอมจากฝรั่งเศสซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง แต่เพราะเป็น “สบู่หอมเจ้าแรกในไทย” ทำให้สบู่นกแก้วได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยมีการจดทะเบียนก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2494 ภายใต้การบริหารของ บริษัท รูเบียอุตสาหกรรม จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท

ปัจจุบัน รูเบียอุตสาหกรรม เป็นบริษัทในเครือของ “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” ใต้ร่มตระกูลสิริวัฒนภักดีหรือ “เจ้าสัวเจริญ” มีการแตกไลน์สินค้าอีกมากมายไปตามยุคสมัย ทั้งสบู่เหลว แชมพู และสบู่ก้อนนกแก้วอีกหลายกลิ่น ทำให้ปัจจุบันเครือสบู่นกแก้วมีรายได้รวมเฉลี่ย 2 พันล้านบาททุกปี กำไรเฉลี่ย 200-300 ล้านบาท 

  • สบู่เบนเนท

สบู่ที่มียอดขายอันดับหนึ่งในหมวดผลิตภัณฑ์สบู่ก้อน 8 ปีซ้อน อ้างอิงจากข้อมูลดัชนีค้าปลีกรายเดือนที่รายงานโดย NielsenIQ เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ.2565 แม้จะได้ยินชื่อยี่ห้อพร้อมคำโปรยสโลแกน “อะไรดีบุ๋มก็ว่าดี” มานาน จนหลายคนคิดว่า “บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี” พรีเซนเตอร์คนแรกและคนเดียวของสบู่เบนเนทเป็นเจ้าของแบรนด์ แต่จริงๆ แล้วเบนเนทเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 ชูจุดเด่นสบู่เพื่อผิวขาวใสกระจ่างใส มีวิตามินอีเป็นตัวชูโรง

แบรนด์ไทยราคาหลักสิบ แต่โกยรายได้ ‘พันล้าน’ ทุกปี

ข้อมูลจาก กันตาร์ เวิลด์พาแนล (ไทยแลนด์ ) จำกัด บริษัทด้านการวิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเชิงลึกเปิดเผยข้อมูลตลาดสบู่สมุนไพรเมื่อปี พ.ศ.2560 ว่า สบู่ “เบนเนท” มีส่วนแบ่งตลาดในตลาดสบู่ก้อนสมุนไพร 33 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วย “อิงอร” 20 เปอร์เซ็นต์ “เฮอร์เบิล” 18 เปอร์เซ็นต์ มาดามเฮง รอว์ร่า และอื่นๆ รวมอีกราว 30 เปอร์เซ็นต์ 

ปัจจุบันสบู่เบนเนทโกยรายได้หลักพันล้านบาทต่อเนื่องทุกปี มีกำไรแตะร้อยล้านบาทครั้งแรกในปี พ.ศ.2564 และปี พ.ศ.2565 กวาดกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10  เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่า เป็นเจ้าตลาดสบู่ก้อนสมุนไพรที่เติบโตขึ้นทุกปีก็ว่าได้

  • ซีอิ๊วขาว ตราเด็กสมบูรณ์

อาณาจักรเครื่องปรุงคู่ครัวไทยที่ก่อตั้งขึ้นโดย “ตระกูลตั้งสมบัติวิสิทธิ์” ตระกูลชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาปักหลักที่เมืองไทยเมื่อ 74 ปีก่อน ต้นตระกูลคือ “ถ่ง แซ่ตั้ง” เริ่มต้นทำการค้าด้วยการนำเอาสูตรซีอิ๊วขาวจากเมืองจีนมาผลิตใส่ขวดขาย

หลังจากนั้นไม่นานความหอมอร่อยของซีอิ๊วขาวก็ได้รับการบอกต่อกันปากต่อปาก จากธุรกิจแบบ “SMEs” วิเชียร ตั้งสมบัติประสิทธิ์ ทายาทรุ่นที่สองก็เข้ามาสานต่อกิจการ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท หยั่น หว่อ หยุ่น จำกัด ในปี พ.ศ.2525 ผลิตซีอิ๊วขาวในฐานะบริษัทออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก

ปัจจุบัน หยั่น หว่อ หยุ่น มีเครื่องปรุงรสภายใต้ร่ม “หยั่น หว่อ หยุ่น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” อีกมากมาย ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ยืนพื้นดั้งเดิมพวกซอสปรุงรส ซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว ซอสหอยนางรม น้ำปลา ฯลฯ และยังเพิ่มไลน์โปรดักต์ใหม่ๆ ปรับตัวไปตามเทรนด์หลายอย่าง ทั้งซอสปรุงรสแบบกลูเตนฟรี ซอสสูตรลดโซเดียม-ลดน้ำตาล รวมถึงไอศกรีมรสซีอิ๊วและซอสบ๊วยที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย

 

อ้างอิง: BangkokbiznewsBennettBrand CaseDBDDeksomboonMarketeer OnlineMarket ThinkPrachachatSentangsedteeTCIJ