‘เวิร์คพอยท์’ ปั๊มรายได้นอน-ทีวี ปั้นที-ป๊อป อีเวนต์ ออนไลน์ สร้างหนัง

‘เวิร์คพอยท์’ ปั๊มรายได้นอน-ทีวี  ปั้นที-ป๊อป อีเวนต์ ออนไลน์ สร้างหนัง

อุตสาหกรรมทีวี โดนพายุดิสรัปชันถล่มมาหลายปี และยังเจอโจทย์ยากในการหารายได้ สร้างการเติบโตในอนาคต ทำให้ “น่านน้ำใหม่” เป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น

“เวิร์คพอยท์” แม้จะเป็นหนึ่งใน “ทีวีดิจิทัล” ที่สร้างคอนเทนต์โดดเด่น ดึงคนดูได้ แต่ผลงานในปี 2566 รายได้ลดลง 1% ส่วนกำไรหายไปหลัก “ร้อยล้านบาท” ส่วนแนวโน้มปี 2567 บริษัทยังมองอุตสาหกรรมสื่อโฆษณายังไม่พลิกฟื้น และยังต้องจับตาดูหลังเดือนพฤษภาคม ที่จะเห็นการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐเป็นตัวแปรสำคัญ

“ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา บันเทิงเชื่อว่าหลังเดือนพฤษภาคม สถานการณ์ใช้จ่ายเม็ดเงินจะดีขึ้น เพราะเป็นช่วงที่รัฐจะได้เบิกจ่ายงบประมาณ หลังจากเดือนกันยายน 2566 จนถึงช่วงสงกรานต์ ยังไม่ได้ใช้จ่ายเลย ถือเป็นช่วง dead air​ ทั้งภาวะเศรษฐกิจ และมีเดีย”

‘เวิร์คพอยท์’ ปั๊มรายได้นอน-ทีวี  ปั้นที-ป๊อป อีเวนต์ ออนไลน์ สร้างหนัง

ชลากรณ์ ปัญญาโฉม 

ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัล บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพต่อว่า ดังนั้น บรรดาธุรกิจสื่อจึงหาโอกาสเติบโต จากธุรกิจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มทุน ผนึกพันธมิตรสร้างภาพยนตร์ จัดพอร์ตโฟลิโอ บริหารจัดการคนให้สอดคล้องกับสื่อใหม่ เป็นต้น ซึ่งมิติของการ “จัดระเบียบธุรกิจและการใช้จ่ายเงินโฆษณาของลูกค้า” จะเห็นต่อเนื่อง 1-2 ปีนี้

ด้านการขับเคลื่อนธุรกิจ “เวิร์คพอยท์” ปรับกระบวนท่ารับทิศทางเม็ดเงินโฆษณาแผ่ว ความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ด้วยการลุยน่านน้ำใหม่ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเพลงปั้น “ที-ป๊อป” หรือศิลปิน นักร้อง ไอดอลชาวไทย การลุยธุรกิจอีเวนต์ จัดคอนเสิร์ตไทย เกาหลี การรุกธุรกิจออนไลน์ ทุ่มทุนซื้อหุ้น “โคตรคูล” รวมถึง การสร้างภาพยนตร์ เป็น 4 เสาหลักสำคัญ

“ธุรกิจมีเดียเหมือนเบี้ยหัวแตก โจทย์หารายได้ลำบาก เพราะเม็ดเงินแตกตัวไปทุกสื่อทั้งทีวี สื่อโฆษณานอกบ้าน ออนไลน์ และเงินลงตรงไปยังศิลปิน ส่วนมุมมองของลูกค้ามองโฆษณาทีวียังแพงอยู่เทียบสื่อใหม่ เช่น ออนไลน์ ที่สำคัญลูกค้ามีงบก้อนหนึ่งอยากได้ทุกอย่าง”

เร็วๆ นี้ บริษัทยังมองเสาหลักที่ 5 เสริมทัพความแข็งแกร่ง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่ไม่ใช่ทีวี (Non-TV) ครบเครื่องมากขึ้น สามารถ “ซินเนอร์ยี” กับทรัพยากรและสื่อทีวีที่มี นำไปสู่การสร้างรายได้ให้เติบโตด้วย

‘เวิร์คพอยท์’ ปั๊มรายได้นอน-ทีวี  ปั้นที-ป๊อป อีเวนต์ ออนไลน์ สร้างหนัง

ATLAS ศิลปินที-ป๊อปที่ปลุกปั้น

การหารายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่ทีวี เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่ายเพลง บริหารจัดการศิลปิน ที่สามารถทำเงินจากการจัดคอนเสิร์ต เฟสติวัล พรีเซ็นเตอร์ ส่วนดิจิทัล ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งการใช้จ่ายเม็ดเงินผ่านสื่อออฟไลน์(ทีวี)และออนไลน์ ส่วนอีเวนต์ช่วงจัดคอนเสิร์ตเกาหลี ศิลปินดังเข้ามาแสดง ผลตอบรับอย่างดี แม้กระทั่งภาพยนตร์อย่าง “อีเรียมซิ่ง” โกยรายได้ทะลุ “ร้อยล้านบาท” เป็นต้น

“การทำเงินแต่ละช่วงของธุรกิจใหม่แตกต่างๆกัน อีเวนต์ หากมีการจัดคอนเสิร์ตเกาหลี จะทำให้สัดส่วนรายได้อยู่ระดับ 15-20% อย่างไรก็ตาม การรุกขยายนอน-ทีวี บริษัทต้องการให้มีสัดส่วนรายได้แตะ 50% ใน 2-3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ระดับ 25% และปีหน้าอยากให้แตะ 30% ส่วนการทำกำไรของนอน-ทีวี กับทีวี แตกต่างกันตามจังหวะเวลา”

ล่าสุด บริษัทผนึกค่ายหนัง “เอ็ม สตูดิโอ” ร่วมทุนเปิดบริษัท “คาร์แมนไลน์” ทุนจดทะเบียน 110 ล้านบาท เพื่อลงทุนและจัดจำหน่ายอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย วางแผนให้ทุนสร้างหนังไทย 8 เรื่องใน 3 ปี โดยมีจังก้า สตูดิโอ เป็นโปรดิวเซอร์และผู้ผลิตหลัก เพื่อผลักดันรายได้ 150-300 ล้านบาทต่อปี

‘เวิร์คพอยท์’ ปั๊มรายได้นอน-ทีวี  ปั้นที-ป๊อป อีเวนต์ ออนไลน์ สร้างหนัง พันธมิตรพร้อมหนุนเงินทุน การตลาด มีเดียฯ แก่ครีเอเตอร์หนังไทย

สุรเชษฐ์ อัศวเรืองอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม สตูดิโอ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีการร่วมมือกับเวิร์คพอยท์มาในการสร้างภาพยนตร์หลายเรื่องแล้ว เช่น อีเรียมซิ่ง ไบค์แมน ฯ จึงเห็นโอกาสผนึกกำลังเป็นรูปธรรมด้วยการ “ร่วมทุน” ตั้งบริษัทและทำหน้าที่ให้การสนับสนุนวงการหนังไทยทั้งเงินทุน การตลาด สื่อ การผลิตหรือโปรดักชัน คนเขียนบท นักแสดง ผู้กำกับ เป็นต้น เพื่อสร้างการเติบโต

สำหรับปี 2566 ถือเป็นยุคที่หนังไทยเบ่งบาน เนื่องจากสามารถทำรายได้ “แซง” หนังฮอลลีวูด ซึ่งเป็นนิมิตหมายและโมเมนตัมที่ดีของตลาดภาพยนตร์ไทย ขณะที่ปี 2567 หนังไทยที่จะออกสู่ตลาด ประกอบด้วย อนงค์ (My Boo) จะเข้าฉาย 1 พ.ค.2567 เรื่อง “ศึกค้างคาวกินกล้วย” และ “คุณชาย” (The Cliche) ดัดแปลงจากละครเวทีชายกลาง เดอะมิวสิคัล ตอบโจทย์คนดู