“ขัตติยา” ซีอีโอ เคแบงก์ เผยกลยุทธ์ “สแกนพอร์ตองค์กร”เคลื่อนความยั่งยืน

“ขัตติยา” ซีอีโอ เคแบงก์ เผยกลยุทธ์ “สแกนพอร์ตองค์กร”เคลื่อนความยั่งยืน

เคแบงก์ หรือ ธนาคารกสิกรไทย ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่ขับเคลื่อนตัวเร็ว ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกการเงิน ที่ขณะนี้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับมุมการลงทุนและการสนับสนุนธุรกิจ ที่ต้องขยับไปสู่ความยั่งยืน

เคแบงก์ หรือ ธนาคารกสิกรไทย ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่ขับเคลื่อนตัวเร็ว ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกการเงิน ที่ขณะนี้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับมุมการลงทุนและการสนับสนุนธุรกิจ ที่ต้องขยับไปสู่ความยั่งยืน

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย 4 แรงขับเคลื่อนสำคัญ คือ

1. Policy-Regulations ปัจจุบัน เรื่องของ Taxonomy ซึ่งเป็นการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นการหานิยามที่ถูกต้องว่า Net Zero คืออะไร การสนับสนุน การให้รางวัลกับการตั้งใจทำ และทำไปในทิศทางที่ใช่

2 Consumer Damands ความต้องการผู้บริโภค ที่จะเป็นตัวเร่งทำให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้เร็วขึ้น จากความคิดความต้องการผู้บริโภคที่ต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

3. Technological Innovations เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero เกิดขึ้นได้รวดเร็วมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ถูกลง

4. Private Capital การลงทุน นักลงทุน ผู้ถือหุ้น มีส่วนสำคัญยิ่งทำให้ธุรกิจปรับตัวไปเรื่องความยั่งยืน

จาก 4 ปัจจัยสำคัญ นางสาวขัตติยา กล่าวว่า เคแบงก์ในฐานะสถาบันการเงิน ทำหน้าที่สนับสนุุนเงินลงทุนให้กิจการที่ต้องเปลี่ยนผ่านหรือต้องการการสนับสนุนไปสู่ Net Zero ได้ เคแบงก์มีทีม Climate Banking นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) Green และ Net Zero

เพราะฉะนั้น นี่คือการสนองตอบและสนับสนุนให้ธุรกิจ ประเทศ และโลก ขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนได้ ด้วยอำนาจที่มีอยู่ในมือในฐานะสถาบันการเงิน นักลงทุน

เรื่องความยั่งยืน เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะฉะนั้น การดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินอย่างเคแบงก์ จึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน และในฐานะผู้นำ เคแบงก์ ที่ต้องคอยตอบคำถามของนักลงทุนทั่วโลก อาทิ สิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ตั้งคำถามเหมือนกันว่า เคแบงก์ ไปสู่ Sustainability แล้วหรือยัง และเมื่อเขารู้ว่า เคแบงก์ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ทั้งนักลงทุน หรือกองทุนต่างๆ ก็ให้ความสนใจ

“เมื่อรู้ว่าเรามีซัสเทน บางฟันด์ยืนยันขอพบเราให้ได้ นักลงทุนทั่วโลก สนใจเรื่องนี้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ทำ เราจะแข่งขันไม่ได้ สูญเสียโอกาสทำกำไร และถ้าทุกคนปรับตัว มันจะเป็นโอกาสสร้างแบรนด์ของบริษัท หาตลาดใหม่ๆ และรายได้เพิ่มต่อไป” นางสาวขัตติยา กล่าว

สร้างแรงกระเพื่อมความยั่งยืน

ตัวอย่างที่เคแบงค์ทำมาตลอด และจะทำต่อเนื่อง คือ พยายามสร้างแรงกระเพื่อม ให้ Sustainability เกิดขึ้นจริง โดยเริ่มจากตัวเอง เริ่มที่องค์กร ซึ่งนักลงทุนทั้งหลาย ก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมเช่นเดียวกับที่เคแบงก์ทำได้เหมือนกัน

สำหรับเคแบงก์ตั้งเป้าของตัวเองที่จะทำ Scope 1 และ 2 ไปสู่ Net Zero ภายในปี 2030 ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้ว ทั้งการติดตั้งโซล่ารูฟท็อป การปรับเปลี่ยนรถยนต์สู่รถยนต์ไฟฟ้า และอืื่นๆ

อีกส่วนที่สำคัญยิ่งกว่า คือ Scope3 ลูกค้าเคแบงก์ ต้องไปสู่ Net Zero ภายในปี 2065 เคแบงก์ตั้งเป้าการให้สินเชื่อด้านความยั่งยืนอย่างน้อย 1-2 แสนล้านบาท ช่วยลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่เรื่อง Net Zero และขณะนี้สนับสนุนไปแล้ว 7,3-7.4 หมื่นล้านบาท และคาดว่าภายในปี 2567 จะปล่อยสินเชื่อแตะ 1 แสนล้านบาท เน้น 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กลุ่มพลังงาน กลุ่มซีเมนต์ และกลุ่มถ่านหิน

นอกจากนี้ ยังร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. สร้างแพลตฟอร์มเทรดคาร์บอนเครดิต เป็นความร่วมมือว่าด้วยการร่วมศึกษา และพัฒนาธุรกิจการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต และการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน ให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตเข้าถึงง่าย ใช้งานได้จริง ร่วมผลักดันให้ไทยเดินหน้าสู่ Net Zero

ผนึกพาร์ทเนอร์ปลุกสตาร์ตอัป

ซีอีโอ เคแบงก์ เผยอีกว่า เคแบงก์ได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์พัฒนาสตาร์ตอัป สร้างกลไกให้การใช้ชีวิตหรือการทำธุรกิจของลูกค้าดีขึ้น เช่น การติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่มอเตอร์ไซด์ในสาขา รวมทั้งการนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ พัฒนาร่วมกับสถาบันการศึกษา ขับเคลื่อนเป็นองค์ความรู้ สร้างประโยชน์ให้ส่วนรวม และยังร่วมกับพันธมิตรสถาบันการเงิน ช่วยลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสุ่ Net Zero

อีกประเด็นที่น่าสนใจขับเคลื่อนองค์กรยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างหนัก นอกเหนือจากเริ่มต้นจากตัวเองหรือภายในองค์กรแล้วก็คือ การสแกนพอร์ตโฟลิโอขององค์กร

นางสาวขัตติยา เล่าว่า ตอนนี้มีมากกว่า 50 กองทุน ที่ไม่ได้คิดว่า การที่เคแบงก์ได้ Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI (ดัชนีชี้วัดความยั่งยืนในระดับสากล) แล้วทุกอย่างคือมั่นใจได้ เพราะพองทุนเหล่านี้ยังมีำคถามต่ออีกว่า ในพอร์ตโฟลิโอของเคแบงก์ มีลูกค้ารายไหนบ้าง ที่เมื่อเจอกับกฎข้อบังคับต่างๆ

อาทิ CBAM หรือการเดินหน้าสู่ Net Zero แล้ว องค์กรเกิดความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นการประเมินความเสี่ยงขององค์กร เพระาหากมีลูกค้าที่ประสบปัญหามากๆ ต่อไปเคแบงก์ก็จะปล่อยสินเชื่อไม่ได้

รวมไปถึงเรื่องของหลักประกันองค์กร มีตรงไหนบ้าง หรือมีจำนวนสินทรัพย์เท่าไรขององค์กร ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม เพราะจะทำให้พื้นที่นั้นราคาต่ำลง

คำถามที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ไม่ใช่เพียงแค่การทำเรื่องความยั่งยืนแล้วหรือยัง แต่นักลงทุนเหล่านั้น กำลังลงลึกไปถึงความเสี่ยงขององค์กรและธุรกิจ หากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วจะเป็นอย่างไร

แนวทางเหล่านี้ เป็นโจทย์สำคัญที่ผู้นำองค์กรต้องมองให้ลึกและครอบคลุม ต้องสแกนพอร์ตโฟลิโอขององค์กรอย่างละเอียด พร้อมวางแผนในการปรับตัว ปรับองค์กร เพราะในมุมของนักลงทุน มีอำนาจในการตัดสินใจเลือกลงทุนได้ ผู้บริหารต้องมองให้รอบคอบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และต้องติดตามสถานการณ์โลกอย่างต่อเนื่อง