‘ซีอาร์จี’ มุ่งทำกำไร ปรับแผนธุรกิจร้านอาหาร ระมัดระวังเปิดสาขา

‘ซีอาร์จี’ มุ่งทำกำไร  ปรับแผนธุรกิจร้านอาหาร ระมัดระวังเปิดสาขา

"ซีอาร์จี" ยังมองธุรกิจร้านอาหารปี 2567 เติบโต เดินหน้าลงทุนเปิดสาขาใหม่ 80-95 สาขา มาพร้อมกับความระมัดระวัง และมีการปรับลดขนาด-รูปแบบร้าน ปิดสาขากำไรไม่เข้าเป้า ให้น้ำหนักกับการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ เพื่อตอบโจทย์ความสามารถในการ "ทำกำไรสูง"

ธุรกิจร้านอาหารของกลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ซีอาร์จี(CRG) เป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่ทำเงินให้กับบริษัท จากแบรนด์ที่แข็งแกร่งและมีพอร์ตโฟลิโอหลากหลาย ครอบคลุมธุรกิจอาหารบริการด่วน(QSR)อย่างไก่ทอดเบอร์ 1 เคเอฟซี ร้านอาหารญี่ปุ่น โอโตยะ ร้านขนมมิสเตอร์โนัท อานตี้ แอนส์ และโอโตยะ และยังมีแบรนด์ร่วมทุนโดดเด่น เช่น ชินคันเซ็น ซูชิ สลัดแฟคทอรี เป็นต้น

ทั้งนี้ ธุรกิจร้านอาหารโดย “ซีอาร์จี” ยังทำเงินให้กับบริษัท โรงแรมเซ็นทารา จำกัด(มหาชน) ในปี 2566 สัดส่วนถึง 56%

ในปี 2567 ซีอาร์จี มองแนวโน้มและคาดการณ์ธุรกิจร้านอาหารจะมีอัตราการเติบโตของร้านเดิม(ไม่รวมแบรนด์ร่วมทุน)ประมาณ 3-5% จากปีก่อน และอัตราการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา(Total-System-Sales: TSS)จะอยู่ที่ 8-11% จากปี 2566 โดย 4 แบรนด์หลักยังเป็นเรือธง ไม่ว่าจะเป็นเคเอฟซี มิสเตอร์โดนัท อานตี้ แอนส์ เป็นต้น

‘ซีอาร์จี’ มุ่งทำกำไร  ปรับแผนธุรกิจร้านอาหาร ระมัดระวังเปิดสาขา

ส่วนการเติบโตของสาขาในปี 2567 บริษัทคาดการณ์จะเพิ่มขึ้น 80-95 สาขา(รวมแบรนด์ร่วมทุน และรวมร้านรูปแบบ Shop-in-shop อย่างอาริกาโตะในมิสเตอร์โดนัท) หรือเติบโต 5-6% จากปีก่อน

อีกโจทย์การขับเคลื่อนธุรกิจร้านอาหารของซีอาร์จีในปีนี้ คือการให้ความสำคัญกับการ “ทำกำไร” ดังนั้นได้วางแผนดำเนินการหลายมิติ ได้แก่ การตระหนักถึงสถานการณ์ “ต้นทุนวัตถุดิบ” และค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ปรับตัวสูงขึ้น และมีความผันผวน จึงวางแผนเจรจาต่อรองกับผู้ขายวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสำหรับวัตถุดิบบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงการผันผวนของราคา เป็นต้น

การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และจัดโปรโมชั่นหรือกิจกรรมส่งเสริมการขายให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการ “ปิดสาขาที่ไม่สามารถทำกำไรได้ตามเป้าหมาย” เพื่อรักษาอัตราการไรของบริษัท และพิจารณาการเปิดสาขาใหม่อย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะมุ่งเน้นการขยายสาขาในแบรนด์หลักที่มีอัตรา “การทำกำไรสูง” รวมถึงปรับลดขนาดหรือปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สะท้อนกับยอดขาย หรือกลุ่มลูกค้าที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน

‘ซีอาร์จี’ มุ่งทำกำไร  ปรับแผนธุรกิจร้านอาหาร ระมัดระวังเปิดสาขา

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทสร้างรายได้จากการขาย 12,465 ล้านบาท เติบโต 8% จากปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 940 ล้านบาท และสร้าง “กำไรสุทธิ” 479 ล้านบาท ลดลง 1% จากปีก่อน หรือคิดเป็น 80 ล้านบาท เนื่องจากเผชิญต้นทุนของวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นและมีความผันผวน ตลอดจนค่าไฟฟ้า ค่าเช่า และการตั้งสำรองการ “ปิดสาขา” โดยเฉพาะส่วนที่ Cloud Kitchen เป็นหลัก

สำหรับการสร้างผลงานยอดขายจากร้านอาหารสาขาเดิมหรือ same stroe เติบโต 4% จาก 4 แบรนด์หลัก มีอัตราการเติบโตรายได้รวม(TSS)เฉลี่ย 8% โดยเป็นการเติบโตของแบรนด์หลัก 8% และแบรนด์อื่นๆเติบโตเพียง 1% เท่านั้น

หากรวมผลงานของแบรนด์ร่วมทุนจะพบว่ามียอดขายของร้านสาขาเดิมเติบโต 3% จากปีก่อน และภาพรวมการเติบโตของยอดขายรวมอยู่ที่ 13% จากปีก่อน โดยแบรนด์ชินคันเซ็น ซูชิ และสลัดแฟคทอรี เป็นพระเอก

สำหรับสิ้นปี 2566 ซีอาร์จี มีร้านอาหารให้บริการทั้งสิ้น 1,621 สาขา เฉพาะไตรมาส 4 มีการเปิดร้านเพิ่มขึ้น 41 สาขา เมื่อแบ่งจำนวนร้านตามแบรนด์ เป็นดังนี้

‘ซีอาร์จี’ มุ่งทำกำไร  ปรับแผนธุรกิจร้านอาหาร ระมัดระวังเปิดสาขา

-เคเอฟซี มี 335 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มี 319 สาขา

-มิสเตอร์โดนัท 463 สาขา ลดลงจากปี 2565 มี 469 สาขา

-อานตี้ แอนส์ 225 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มี 209 สาขา

-โอโตยะ 48 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มี 47 สาขา

-เปเปอร์ลันช์ 49 สาขา ลดลงจากปี 2565 มี 51 สาขา

-โคลด์สโตน ครีมเมอรี่ 16 สาขา ทรงตัวจากปี 2565

-เดอะ เทอเรส 4 สาขา ลดลงจากปี 2565 มี 7 สาขา

-ชาบูตง ราเมน 16 สาขา ลดลงจากปี 2565 มี 17 สาขา

-โยชิโนยะ 26 สาขา ลดลงจากปี 2565 มี 31 สาขา

-เทนยะ 12 สาขา ทรงตัวจากปี 2565

-อร่อยดี 11 สาขา ลดลงจากปี 2565 มี 30 สาขา

-เกาลูน 1 สาขา ทรงตัวจากปี 2565

-อาริกาโตะ 210 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มี 185 สาขา

-แกร๊บคิทเช่น บาย เอเวอรีฟู้ด 6 สาขา ลดลงจากปี 2565 มี 18 สาขา

-คีอานิ 1 สาขา

‘ซีอาร์จี’ มุ่งทำกำไร  ปรับแผนธุรกิจร้านอาหาร ระมัดระวังเปิดสาขา

ส่วนแบรนด์ร่วมทุน มีร้านดังนี้

-สลัดแฟคทอรี 39 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มี 30 สาขา

-บราวน์ คาเฟ่ 10 สาขา ลดลงจากปี 2565 มี 11 สาขา

-คาเฟ่ อมเซอน-เวียดนาม(แบรนด์ที่รวมอยู่ในการร่วมค้า) 8 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มี 5 สาขา

-ส้มตำนัว 8 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มี 5 สาขา

-ชินคันเซ็น ซูชิ(แบรนด์ที่รวมอยู่ในการร่วมค้า) 57 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มี 44 สาขา