Guss Damn Good VS Molto ไอศกรีมสัญชาติไทย ที่เน้น ‘รสชาติ’ มากกว่า ‘ราคา’

Guss Damn Good VS Molto ไอศกรีมสัญชาติไทย ที่เน้น ‘รสชาติ’ มากกว่า ‘ราคา’

เฉียดร้อยบาทต่อลูก เพราะใช้ของคุณภาพ! ส่องรายได้สองแบรนด์ไอศกรีมโฮมเมดสัญชาติไทย พบ รายได้แตะ “หลักสิบล้าน” ด้าน “Gus Damn Good” ไม่มีป้ายบอกชื่อรสชาติ เพราะต้องการให้ลูกค้าชิมก่อนซื้อ ส่วน “Molto” เริ่มขายช่วงโควิด-19 แม้ไม่เคยชิม แต่ทำให้ลูกค้าควักแบงก์พันซื้อได้!

KEY

POINTS

  • ในช่วงเวลาที่มีแบรนด์ไอศกรีมหน้าใหม่แข่งขัน-เชือดเฉือนกันผ่าน “เกมราคา” ก็มีแบรนด์ไอศกรีมสัญชาติไทยที่มี “ความพรีเมียม” เป็นจุดแข็ง “กัสส์ แดมน์ กู๊ด” ราคาเริ่มต้นที่ 85 บาท ส่วน “มอลโต้” เริ่มต้นที่ 89 บาท
  • “มอลโต้” (Molto) เริ่มต้นธุรกิจในช่วงโควิด-19 ผันตัวจากการผลิตและส่งขายแบบ “B2B” สู่การปั้นแบรนด์เอง ได้รับเสียงตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ผ่านการทำ “Online Marketing”
  • ด้าน “กัสส์ แดมน์ กู๊ด” (Guss Damn Good) มีจุดเด่นที่การตั้งชื่อรสชาติแปลกใหม่ โดยเกิดจากการใส่ “Storytelling” ของไอศกรีมลงไป ปัจจุบันมีรายได้ “66 ล้านบาท” เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี

เฉียดร้อยบาทต่อลูก เพราะใช้ของคุณภาพ! ส่องรายได้สองแบรนด์ไอศกรีมโฮมเมดสัญชาติไทย พบ รายได้แตะ “หลักสิบล้าน” ด้าน “Gus Damn Good” ไม่มีป้ายบอกชื่อรสชาติ เพราะต้องการให้ลูกค้าชิมก่อนซื้อ ส่วน “Molto” เริ่มขายช่วงโควิด-19 แม้ไม่เคยชิม แต่ทำให้ลูกค้าควักแบงก์พันซื้อได้!

“ยูโรมอนิเตอร์” (Euromonitor) บริษัทสำรวจข้อมูลด้านการตลาดระดับโลก เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดไอศกรีมไทย ปี 2566 อยู่ที่ “13,200 ล้านบาท” โดยมีผู้เล่นหลักอย่าง “ยูนิลีเวอร์” (Uniliver) ที่ยังรั้งส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ไว้ได้หลายปี ด้วยสัดส่วน “46.40%” ตามมาด้วย “เนสท์เล่” (Nestle’) “จอมธนา” และ “เอฟแอนด์เอ็น” (F&N) โดยนอกจากการผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเองแล้ว เจ้าตลาดเหล่านี้ยังเป็นผู้ผลิต “OEM” ให้กับแบรนด์อื่นๆ ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ใต้ร่มตลาดแข่งดุแห่งนี้ยังมีเซกเมนต์อื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมาก ทั้งตลาดไอศกรีม “ซูเปอร์ พรีเมียม” ที่มี “ฮาเกน-ดาซส์” (Haagen-Dazs) และ “โคลด์ สโตน” (Cold Stone) เป็นผู้นำ หรือตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ที่มี “แดรี่ควีน” (Dairy Queen) ครองส่วนแบ่งกว่า 80% ที่ล่าสุดยังถูกท้าชิงจาก “มี่เสวี่ย” (MIXUE) และ “วี ดริงก์” (We Drink) ซอฟต์เสิร์ฟราคาสบายกระเป๋าจากจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย

ทว่า ภายใต้ระบบนิเวศไอศกรีมไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง ยังมีเค้กก้อนเล็กๆ อย่าง “ตลาดไอศกรีมโฮมเมด” สอดแทรกอยู่ แม้ยังไม่มีข้อมูลปรากฏชัดว่า แบรนด์ใดที่สามารถครองแชร์อันดับ 1 ได้เบ็ดเสร็จ แต่ก็พบว่า หลายปีที่ผ่านมา “กัสส์ แดมน์ กู๊ด” (Guss Damn Good) กลายเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นในน่านน้ำแห่งนี้ จากจุดเริ่มต้นของคนที่ไม่เคยเรียนทำไอศกรีมมาก่อน กลับสร้างการเติบโตให้แบรนด์ขยายไปได้ถึง 16 สาขา มีรายได้ปีล่าสุดอยู่ที่ “66 ล้านบาท”

ผ่านไปอีก 6 ปีให้หลังก็พบว่า มีแบรนด์ไอศกรีมโฮมเมดน้องใหม่มาแรงแซงโค้ง ก่อตั้งและเติบโตในช่วงโควิด-19 จนปัจจุบันมีรายได้ปี 2565 “53 ล้านบาท” จากบริษัทผู้ผลิต “OEM” สู่การทำแบรนด์ครั้งแรกภายใต้ชื่อ “มอลโต้” (Molto) ที่ไม่ว่าจะไปออกบูธที่ไหนก็มีลูกค้ามารอชิมหน้าร้านเสมอ

“กรุงเทพธุรกิจ” จะพาไปรู้จักสองแบรนด์ไอศกรีมสัญชาติไทย ที่ไม่ขอแข่งขันในเกมราคา ลด แลก แจก แถม แต่เลือกสู้ด้วยคุณภาพสินค้า โดย “กัสส์ แดมน์ กู๊ด” ตั้งราคาขายเริ่มต้นที่ลูกละ 85 บาท ส่วน “มอลโต้” อยู่ที่ลูกละ 89 บาท และมีเพดานสูงสุดที่ 999 บาทต่อหนึ่งกล่อง โดย “มอลโต้” เป็นแบรนด์ที่เปิดร้านในช่วงโควิด-19 และเริ่มขายผ่านออนไลน์โดยที่ลูกค้าไม่มีโอกาสได้ชิมก่อนซื้อด้วย

Guss Damn Good VS Molto ไอศกรีมสัญชาติไทย ที่เน้น ‘รสชาติ’ มากกว่า ‘ราคา’

  • “Molto” ขายไอศกรีมกล่องละพัน ทั้งที่ลูกค้ายังไม่เคยชิม

ใครๆ ก็รู้ว่า 3 ปีที่แล้ว ในขณะที่ทั่วโลกตกอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ ช่วงเวลานั้นแทบจะไม่ใช่ฤกษ์ดีของการเริ่มต้นนับหนึ่งทำธุรกิจเลย เพียงแค่ประคองตัวให้รอด มีกระแสเงินสดหมุนเวียนได้คล่องมือก็นับว่า “หืดขึ้นคอ” มากแล้ว แต่ “ธฤษณุ คมโนภาส” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร “มอลโต้” กลับตัดสินใจเปิดแบรนด์ไอศกรีมในช่วงเดียวกันกับมาตรการปิดเมือง นั่นหมายความว่า เขาต้องขายไอศกรีมทั้งที่ลูกค้าไม่ได้มีโอกาสชิมก่อนเลยด้วยซ้ำ

“ธฤศณุ” เคยให้สัมภาษณ์กับ “capitalread” ไว้ว่า ก่อนหน้านี้อาชีพของเขา คือการทำไอศกรีมส่งตามร้านอาหาร โรมแรม คาเฟ่ เรียกว่า เริ่มต้นจากธุรกิจ “B2B” (Business to Business) มาก่อน การแพร่ระบาดใหญ่ส่งผลกระทบกับธุรกิจเข้าเต็มประตู เมื่อภาคบริการเป็นเซกเมนต์แรกๆ ที่ต้องปิดลงชั่วคราว ยอดขายจาก 100% เหลือเพียง 2 -3% เท่านั้น ไม่มีทางออกไหนที่จะดีไปกว่าการหันมาปั้นแบรนด์ของตัวเองอีกแล้ว

จากความสงสัยใคร่รู้ที่ว่า เหตุใดไอศกรีมจึงเป็นธุรกิจที่ไม่มีหน้าร้านบนแพลตฟอร์มออนไลน์ “ธฤศณุ” เริ่มต้นจากจุดนี้ แล้วนำมาขยายต่อสู่การทำแพ็กเกจจิ้ง กราฟิก การสื่อสารกับลูกค้า ศึกษาการทำธุรกิจแบบ “B2C” (Business to Consumer) โดยเน้นการสื่อสารผ่านสองช่องทางเป็นหลัก คือแอปพลิเคชันไลน์และเฟซบุ๊ก หากใครเคยเห็นโฆษณาของ “มอลโต้” ผ่านตากันบ้างก็จะพบว่า การทำ “ออนไลน์ มาร์เกตติ้ง” ค่อนข้างแข็งแกร่ง สามารถสื่อสารให้ผู้บริโภคเห็นถึงรายละเอียดความเข้มข้นของเนื้อไอศกรีมได้ และที่สำคัญ คือการออกรสชาติใหม่ ทั้งเมนูยืนพื้นและเมนู “seasonal” รวมๆ แล้ว “มอลโต้” มีรสชาติไอศกรีมมากกว่า “หนึ่งร้อยรส” 

จุดเด่นของ “มอลโต้” คือการทำงานแบบ “Collaboration” ร่วมกับแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ในการนำเสนอรสชาติใหม่ๆ แบบที่หลายคนคาดไม่ถึงว่า จะสามารถทำให้ออกมาเป็นไอศกรีมได้ ยกตัวอย่างเช่น การทำงานร่วมกับ “บีไนซ์” (BeNice) แบรนด์ครีมอาบน้ำ หรือการดึงอินฟลูเอนเซอร์ตัวน้อยอย่าง “จิน-เรนนี่” จากเพจ “Little Monster” มาร่วมออกแบบรสชาติ พร้อมแพ็กเกจที่มาจากลายเส้นของทั้งสองคน รวมถึงการร่วมงานกับแบรนด์ขนมขบเคี้ยวระดับตำนาน “มอลโต้” ก็กวาดมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “ไมโล” “โอวัลติน” “คอนเฟล็ก” “เทสโต้” “ริทซ์ แครกเกอร์” “เฟอเรโร รอชเชอร์” เป็นต้น

Guss Damn Good VS Molto ไอศกรีมสัญชาติไทย ที่เน้น ‘รสชาติ’ มากกว่า ‘ราคา’

“ธฤศณุ” มองว่า ผู้บริโภคมีความคาดหวังจากแบรนด์เสมอ “มอลโต้” จึงต้องกลับมาทำการบ้านว่า มีอะไรที่ตลาดต้องการแล้วแบรนด์ยังขาดอยู่บ้าง ที่ผ่านมา เราจึงเห็น “มอลโต้” มีมูฟเมนต์ในตลาดเรื่อยมา เมื่อช่องทางออนไลน์แข็งแรง เริ่มมีฐานลูกค้ามากขึ้น จึงขยับขยายไปสู่ออฟไลน์ด้วยการเปิด “ป๊อปอัป สโตร์” ปัจจุบัน แบรนด์มีหน้าร้านอยู่ทั้งหมด 19 แห่ง มีบริการส่งด่วนแบบ “Door-to-door” จากสำนักงานใหญ่ที่  จ.ปทุมธานี และยังคงออกบูธตามงานอีเวนต์บ้างประปราย

ปี 2565 “บริษัท โคลด์คัลเจอร์ จำกัด” ผู้ผลิตไอศกรีมเครื่องหมายการค้า “มอลโต้” มีรายได้รวมอยู่ที่ “53 ล้านบาท” กำไรสุทธิ “209,981 บาท” เติบโตขึ้นจากช่วงการแพร่ระบาดใหญ่หลายเท่าตัว โดยในช่วงเริ่มต้น “โคลด์คัลเจอร์” มีรายได้ปี 2563 “5 ล้านบาท” เท่านั้น และขยับขึ้นมาในปี 2564 ที่ “31 ล้านบาท”

Guss Damn Good VS Molto ไอศกรีมสัญชาติไทย ที่เน้น ‘รสชาติ’ มากกว่า ‘ราคา’

  • “Guss Damn Good” ไอศกรีมที่ไม่มีป้ายบอก ให้ลูกค้าชิมจนกว่าจะเจอรสที่ใช่

เกิดเครื่องหมายคำถามขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นหน้าตาโปรดักต์ เพราะ “กัสส์ แดมน์ กู๊ด” ไม่มีป้ายแปะหน้าถ้วยไอศกรีมว่า รสชาติข้างในคืออะไร มีส่วนผสมของนม ช็อกโกแลต หรือชาเขียวหรือไม่ เพราะนี่คือสิ่งที่แบรนด์ต้องการให้เกิดขึ้น เพื่อให้ร้านได้พูดคุย-สื่อสารกับลูกค้า เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตามหา “รสชาติที่ใช่” จนกว่าจะเจอ

“กัสส์ แดมน์ กู๊ด” มีจุดเริ่มต้นจาก “ระริน ธรรมวัฒนะ” และ “นที จรัสสุริยงค์” หอบหิ้วความฝันจากบอสตันกลับมายังประเทศไทย ทั้งสองต้องการเปิดร้านไอศกรีมที่เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้ออกมาใช้เวลาร่วมกัน โดยที่ไม่เคยเข้าครัวหรือมีความรู้เรื่องการทำไอศกรีมอย่างจริงจังมาก่อน

“นที” ในตำแหน่ง “Chief Icecream Scientist” ตั้งต้นศึกษาการทำไอศกรีมจากหนังสือวิทยาศาสตร์ที่เล่าเรื่องโมเลกุล เกล็ดน้ำแข็ง จุดเยือกแข็ง และจุดหลอมเหลว ทั้งสองคนเคยให้สัมภาษณ์กับ “The Cloud” ไว้ว่า การทำไอศกรีมให้อร่อยต้องสร้างบาลานซ์ในช่องปาก แม้จะเป็นของหวานที่มีน้ำแข็งเป็นส่วนประกอบ แต่ต้องให้ความรู้สึก “Warm Eating” เพราะไอศกรีมที่ดีต้องกินแล้วไม่เสียวฟัน

ความละเมียดละไมของ “กัสส์ แดมน์ กู๊ด” ลงลึกไปถึงรายละเอียดในการนำเสนอโปรดักต์ วิธีคิดในการดีไซน์แต่ละรสชาติ “ระริน” เลือกที่จะละทิ้งกรอบเดิมๆ ของอุตสาหกรรมไอศกรีม แล้วหันมาใส่เรื่องราวผ่านการตั้งชื่อรสชาติ ยกตัวอย่างเช่น “Dont’ Give Up #18” ที่เป็นชื่อนี้เพราะกว่าจะได้มา ผ่านการทดลองมาแล้ว 30 ครั้ง ครั้งที่ 18 คือครั้งที่ได้เนื้อไอศกรีมใกล้เคียงกับความต้องการมากที่สุด หรืออย่าง “Why can’t coffee be white?” ก็เกิดขึ้นจากการทำไอศกรีมรสกาแฟแล้วยังเป็นสีขาวอยู่ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วทำไมกาแฟจะเป็นสีขาวไม่ได้ในเมื่อรสชาติกาแฟก็ยังคงอยู่ 

Guss Damn Good VS Molto ไอศกรีมสัญชาติไทย ที่เน้น ‘รสชาติ’ มากกว่า ‘ราคา’

ในฐานะแบรนด์ไอศกรีมโฮมเมดที่วางจุดยืนตัวเองเป็น “คราฟต์ พรีเมียม” ราคาของ “กัสส์ แดมน์ กู๊ด” จึงเริ่มต้นที่ลูกละ 85 บาท แต่ละสาขามีจุดเด่น-ลูกเล่นแตกต่างกัน บางสาขาเสิร์ฟไอศกรีมในรูปแบบ “Sundae Bar” หรือบางสาขาก็จะมีบริการ “วาฟเฟิล” ทานคู่กับไอศกรีมด้วย โดยปัจจุบัน “กัสส์ แดมน์ กู๊ด” มีสาขากระจายอยู่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 16 แห่ง ที่ตั้งส่วนใหญ่อยู่ใจกลางเมือง หรือย่าน “CBD” เป็นหลัก เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์นั่นเอง

สำหรับผลประกอบการของ “บริษัท กัสส์ แดมน์ กู๊ด จำกัด” มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2565 รายได้รวมอยู่ที่ “66 ล้านบาท” กำไรสุทธิ “1.6 ล้านบาท” จากปี 2564 มีรายได้อยู่ที่ “46 ล้านบาท” ขาดทุน “227,154” บาท

 

อ้างอิง: adayBangkokbiznewsBrandAgecapitalreadCreden DataFICSME Thailand ClubSpring NewsThe Business PlusThe Cloud