‘แดรี่ควีน’ ยักไหล่ ‘ไอศกรีมทุนจีน’ มองอยู่คนละตลาด มั่นใจวัตถุดิบพรีเมียม

‘แดรี่ควีน’ ยักไหล่ ‘ไอศกรีมทุนจีน’ มองอยู่คนละตลาด มั่นใจวัตถุดิบพรีเมียม

โตสุดในรอบ 28 ปี นับตั้งแต่วันก่อตั้ง! “แดรี่ควีน ประเทศไทย” เผย ยอดขายปี 2566 ทุบ “นิวไฮ” จากเมนู Seasonal “ชาไทย-ทุเรียน-ข้าวเหนียวมะม่วง” ไม่หวั่นซอฟต์เสิร์ฟแดนมังกรบุกตลาด เชื่อ คุณภาพ-รสชาติยังถูกปากคนไทย ส่งแบรนด์ครองมาร์เก็ตแชร์ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟอันดับ 1

“แดรี่ควีน” แบรนด์ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟสัญชาติอเมริกันเข้ามาเปิดตลาดในไทยนานกว่า 28 ปีเต็มแล้ว โดยในปีนี้ “ธนกฤต กิตติพนาชนม์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด บริษัทในเครือ “ไมเนอร์ กรุ๊ป” ระบุว่า ปี 2566 เป็นปีที่ “แดรี่ควีน” สร้างยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีการเติบโตหลังจากการแพร่ระบาดใหญ่จบลง (ตั้งแต่ปี 2564 ถึง 2566) เฉลี่ยปีละ 30% โดยปัจจัยที่ทำให้แบรนด์เติบโต-ครองส่วนแบ่งตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟอันดับ 1 คือ โปรดักต์ “Seasonal” อาทิ บลิซซาร์ดปังกรอบชาไทย บลิซซาร์ดโอวัลตินภูเขาไฟ บลิซซาร์ดข้าวเหนียวมะม่วงน้ำกะทิ บลิซซาร์ดทุเรียนหมอนทอง เป็นต้น

“ธนกฤต” เปิดเผยว่า สินค้า “Seasonal” เหล่านี้ เป็น “Big Hit” ที่ทำยอดขายเฉลี่ยโตเกิน 15% มาโดยตลอด ส่งผลให้แบรนด์โกยยอดขายจากความแตกต่างด้วยโปรดักต์เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บลิซซาร์ดปังกรอบชาไทย” ที่เป็น “The best performing LTO” หรือสินค้าที่มีการจำหน่ายในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่สามารถทำยอดขายได้มากที่สุด ด้วยยอดขาย “1 ล้านถ้วย” ภายใน 1 เดือน ทำให้สินค้าขาดตลาดราว 3 - 4 วัน โตเกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าว “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สอบถามความเห็นผู้บริหารถึงกรณีการเข้ามาบุกตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟจากแดนมังกรในปีที่ผ่านมา “ธนกฤต” ระบุว่า ตนไม่อยากมองว่า แบรนด์จีนเหล่านั้นเป็นคู่แข่งในตลาดเดียวกัน เนื่องจาก “จุดเริ่มต้น” และ “จุดยืน” แตกต่างกันตั้งแต่แรก แบรนด์ไอศกรีมจีนเริ่มต้นจากร้าน “สแตนด์อะโลน” แล้วค่อยเปิดร้านในรูปแบบ “คีออส” (Kiosk) ส่วน “แดรี่ควีน” เริ่มจากร้าน “คีออส” แล้วจึงมีแผนขยายสาขา “สแตนด์อะโลน” ในปีนี้ 

‘แดรี่ควีน’ ยักไหล่ ‘ไอศกรีมทุนจีน’ มองอยู่คนละตลาด มั่นใจวัตถุดิบพรีเมียม

นอกจากนี้ หากดูเจาะจงเฉพาะตัวสินค้าจะพบว่า สินค้า “แดรี่ควีน” มีความพรีเมียมมากขึ้นโดยที่ไม่ทำให้สูญเสียฐานลูกค้าบางกลุ่มไป เนื่องจากช่วงราคาที่กว้างมากตั้งแต่ราคา 12 บาท ไปจนถึง 499 บาท โดยเมนู “บลิซซาร์ด” ยังเป็นสินค้าเรือธงด้วยสัดส่วน 65% ตามมาด้วย “เค้กไอศกรีม” และเมนูเครื่องดื่มที่ออกวางขายเป็นบางโอกาส อย่าง “ลิ้นจี่” และ “ส้มยูซุ” ในปีที่ผ่านมา “ธนกฤต” ระบุว่า “แดรี่ควีน” ไม่ต้องการเป็นผู้นำในทุกๆ เรื่อง อาจจะรอดูทิศทางลม-เทรนด์ที่กำลังมาแรงในช่วงเวลานั้นๆ แล้วจึงวางขายก่อนก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่า โปรดักต์ที่ออกมาใหม่จะสามารถทำเงินให้กับ “แฟรนไชส์ซี” ได้จริงๆ

ทั้งนี้ ปี 2566 เป็นปีที่ “แดรี่ควีน” มีการปรับเพิ่มราคา “บลิซซาร์ด” จากขนาดเล็กสุด “35 บาท” เป็น “49 บาท” แต่กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ยอดขายตกลงแต่อย่างใด “กรุงเทพธุรกิจ” สอบถามข้อมูลเชิงลึกจากผู้บริหารถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นราคา ซึ่ง “ธนกฤต” ระบุว่า สาเหตุมาจากต้นทุนวัตถุดิบในท้องตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้น และไม่ได้มีผลกระทบกับยอดขายเมนูดังกล่าวเลย แต่ส่วนที่กระทบมากที่สุด คือสินค้าไอศกรีมโคน เพราะเป็นสินค้า “Entry Price Point” หรือสินค้าที่มีช่วงราคาอยู่ในระดับเริ่มต้น

ด้านเป้าหมายในปีนี้ “แดรี่ควีน” มีแผนรีโนเวตสาขาเดิมที่มีอยู่ 80 สาขา ผุดสาขารูปแบบ “Lounge Concept” 10 สาขาภายในปี 2567 โดยรูปแบบดังกล่าวจะเน้นพื้นที่รับรองสำหรับนั่งรับประทานที่ร้าน และยังมีบริการในรูปแบบ “EV Truck” ตั้งเป้าขยายให้ครบ 5 คัน โดยทั้งสองรูปแบบจะนำร่องในกรุงเทพ-ปริมณฑลก่อน โดยทางแบรนด์เป็นผู้ริเริ่มทดลอง ก่อนส่งมอบให้ “แฟรนไชส์ซี” ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป