‘พิธาน องค์โฆษิต’ แนะธุรกิจระวังลงทุน รับทิศเศรษฐกิจยังไม่ดี

‘พิธาน องค์โฆษิต’ แนะธุรกิจระวังลงทุน รับทิศเศรษฐกิจยังไม่ดี

“มอส เบอร์เกอร์” ร้านอาหารบริการด่วน(QSR)จากญี่ปุ่น และร้านจำหน่ายสินค้าความงาม “เดอะเฟสช็อป”(THE FACE SHOP) สัญชาติเกาหลีใต้ เป็น 2 ธุรกิจที่ พิธาน องค์โฆษิต ในฐานะประธานบริษัท มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด และแม่ทัพใหญ่ เดอะเฟสช็อป เข้ามาลงทุน

ปี 2567 ทิศทาง 2 ธุรกิจยังตั้งเป้าหมายเติบโต ทว่ามาพร้อมกับโจทย์ยากไม่น้อย ทำให้แผนงาน กลยุทธ์ต้องเดินเกมรุก แต่ “การลงทุน” ต้องแตะเบรกและระมัดระวังอย่างมาก

“ปีนี้ธุรกิจร้านอาหารมอส เบอร์เกอร์ และร้านเดอะเฟสช็อป เรายังตั้งเป้าเติบโต แต่ค่อนข้างลำบากหรือ tough ที่จะเห็นอัตรา 2 หลัก” พิธาน ให้มุมมองกับกรุงเทพธุรกิจ

ตัวแปรสำคัญไม่ใช่แค่กำลังซื้อของผู้บริโภค “ซบเซา” ตั้งแต่ต้นปี ยอดขาย แต่สถานการณ์ “เศรษฐกิจไทย” กลายเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้ประกอบการ คนขับเคลื่อนธุรกิจ เนื่องจากขณะนี้มีหลาย “ปัจจัยเสี่ยง” เกิดขึ้น โดยเฉพาะ “หุ้นกู้” ที่ครบกำหนดต้องชำระ หลายบริษัทต้องหาทางออกหุ้นกู้รุ่นใหม่มาทดแทนของเดิม หากไม่สามารถดำเนินการได้ย่อมกระเทือนเศรษฐกิจอย่างมาก

‘พิธาน องค์โฆษิต’ แนะธุรกิจระวังลงทุน รับทิศเศรษฐกิจยังไม่ดี

“ปีนี้เป็นปีที่ทุกผลิตภัณฑ์ต้องระวังในการทำตลาด ดำเนินธุรกิจ เพราะอาจมีวิกฤติเกิดขึ้น ทิศทางต่างประเทศจะลดอัตราดอกเบี้ย แต่ประเทศไทยยังไม่ลด เพราะเศรษฐกิจดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จึงต้องระมัดระวัง”

สำหรับการขับเคลื่อนร้านมอส เบอร์เกอร์ และร้านเดอะเฟสช็อปปี 2567 "การลงทุน” เปิดร้าน ขยายสาขาใหม่ต้องระมัดระวังเช่นกัน ในส่วนของ “มอส เบอร์เกอร์” จะเห็นการเปิดร้านใหม่ 5 สาขา ใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 3-5 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ ปัจจุบันมีร้านให้บริการ 30 สาขา

ด้านแนวโน้มธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนปีนี้คาดว่ายังขยายตัวได้ ส่วนการเปิดร้านจะเห็นออกนอกห้างค้าปลีก ไปยึดทำเลสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม)มากขึ้น เนื่องจากตอบโจทย์ด้าน “ต้นทุนคงที่” ต่ำกว่าห้างค้าปลีกที่แบกภาระเพิ่มขึ้นทุกปี อีกทั้งร้านนอกห้างยังรองรับบริการเดลิเวอรีให้กับลูกค้าเป้าหมายแต่ละพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ การขยายร้านมอส เบอร์เกอร์ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่เน้นเร่งโตหรือสร้างกระแสให้คนมาใช้บริการต่อคิวยาวๆ เพราะต้องการสร้างแบรนด์ พัฒนาเมนูให้อร่อย และคงคุณภาพ ตอบโจทย์ลูกค้าเป็นสำคัญ

ปี 2567 มอส เบอร์เกอร์ยังตั้งเป้าโต จากปี 2565 ยอดขายเติบโตราว 15% ส่วนหนึ่งจากการส่ง “ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ” มาปลุกตลาด ภาพรวมทำให้ปริมาณธุรกรรมการขายเพิ่มขึ้น แต่ยอดใช้จ่ายต่อบิลลดลงอยู่ที่ 120 บาทต่อคนต่อบิล เนื่องจากไอศกรีมราคาขาย 20 บาท

‘พิธาน องค์โฆษิต’ แนะธุรกิจระวังลงทุน รับทิศเศรษฐกิจยังไม่ดี

ส่วนร้านเดอะเฟสช็อปปี 2567 บริษัทไม่มุ่งลงทุนเปิดร้านใหม่ แต่จะใช้ราว 1-2 ล้านบาท ปรับปรุงร้านเดิมให้ตอบสนองการชอปปิงของลูกค้ามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันร้านมีให้บริการทั้งสิ้น 90 สาขา

ไฮไลต์การตลาดปีนี้ จะเห็นการใช้กลยุทธ์ไอดอล มาร์เก็ตติง(Idol Marketing) ดึงศิลปิน นักร้องเกาหลีมาเป็นพรีเซ็นเตอร์อีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด โดยเป้าหมายต้องการผลักดันให้ผู้บริโภคเกิดการทดลองสินค้า อีกทั้งเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์แบรนด์สินค้าความงามเกาหลีด้วย

“เทรนด์เกาหลีหรือK-Pop มาแรง ศิลปิน นักร้อง ไอดอลเกาหลีเป็นที่นิยมอย่างมากทั่วโลก เดอะเฟสช็อปเคยใช้คนดังเหล่านี้เป็นพรีเซ็นเตอร์ แต่หยุดไประยะใหญ่ ช่วงกลางปีนี้จะเห็นการใช้พรีเซ็นเตอร์ไอดอลเกาหลีอีกครั้งและต่อยอดกิจกรรมในประเทศไทย เพราะสุดท้ายสิ่งที่แบรนด์ต้องการคือกระตุ้นให้ผู้บริโภคทดลองใช้สินค้า เนื่องจากตอนนี้เราปรับราคาขายให้ดีขึ้น สินค้าในไทยกับเกาหลีเท่ากันเลย สินค้าดี กำไรไม่มาก คนไทยได้ใช้ เป็นสิ่งที่เราตั้งใจทำ”

‘พิธาน องค์โฆษิต’ แนะธุรกิจระวังลงทุน รับทิศเศรษฐกิจยังไม่ดี

สำหรับภาพรวมตลาดสินค้าความงามปี 2567 คาดการณ์ยังเติบโตได้ แต่อัตรา 2 หลักค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่ปี 2566 ตลาดสินค้าความงามมีการเติบโตกว่า 10% สอดคล้องกับยอดขายของเดอะเฟสช็อปขยายตัวกว่า 10%

“2 ธุรกิจทั้งร้านอาหารและร้านสินค้าความงาม เราให้ความสำคัญเท่าๆกัน โดยเดอะเฟสช็อป จะผลักดันยอดขายต่อร้านเดิมหรือ same store ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะปีนี้เปิดศักราชมายอดขายไม่ดีนัก คนไม่มีกำลังซื้อ ส่วนปี 2566 ยอดขายเดอะเฟสช็อปเติบโตกว่า 10% เพราะเพิ่งพ้นสถานการณ์โควิด-19 ไม่นาน”