‘สุดาวรรณ’ ดันขับรถเที่ยวเชื่อม 5 ประเทศ ดึงสภาธุรกิจอเมริกาฯ หนุนจ้างงาน

‘สุดาวรรณ’ ดันขับรถเที่ยวเชื่อม 5 ประเทศ ดึงสภาธุรกิจอเมริกาฯ หนุนจ้างงาน

เวที 'การประชุมด้านการท่องเที่ยวอาเซียน' ครั้งที่ 27 เริ่มขึ้นแล้ว ระหว่างวันที่ 25-26 ม.ค. 2567 ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว หมุดหมายคือการยกระดับความร่วมมือ ส่งเสริม 'การท่องเที่ยว' ในภูมิภาค 'อาเซียน' ครอบคลุมหลากมิติ

อาทิ การประชาสัมพันธ์การตลาดท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด imaginASEAN” และแคมเปญฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาเซียนร่วมกัน รวมถึงการผลักดันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการสร้างขีดความสามารถสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยว

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในช่วงการประชุมด้านการท่องเที่ยวอาเซียนปี 2567 เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ได้หารือกับ อลิซเบธ ออติเกรา ผู้อำนวยการสภาการท่องเที่ยวและการเดินทางโลก (WTTC) ถึงแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับอาเซียนและไทย โดยมีผู้แทนกรมการท่องเที่ยวผู้แทนองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) เข้าร่วมด้วย

ทาง WTTC ได้เน้นย้ำความสำคัญของ “การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ” มากกว่าการท่องเที่ยวเชิงปริมาณ โดยสามารถประเมินได้จากรายได้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย และได้รายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว โดยพบว่าในช่วงปี 2553-2562 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่น้อยลง และสะท้อนว่าการส่งเสริม “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” เป็นประเด็นหลักที่ภาคการท่องเที่ยวต้องให้ความสำคัญ โดยพิจารณาให้ธุรกิจที่พักและโรงแรมมีมาตรฐานการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานสากลจาก Global Sustainable Tourism Council” (GSTC) ซึ่งประเทศไทยเห็นว่าส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนโดยภาพรวม โดยแต่ละประเทศควรตระหนักถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น
 

ในโอกาสนี้ยังได้หารือกับ ไบรอัน แมคฟีเตอร์ รองประธานอาวุโสสภาธุรกิจอเมริกา-อาเซียน ประจำภูมิภาคเอเชีย (USABC) และคณะ เกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงสนับสนุน “การจ้างงาน” ในภาคการท่องเที่ยว และโอกาสในการขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองรอง

“ได้หยิบยกประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีจุดเด่น ผ่านการประชาสัมพันธ์อัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นการส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้จากนักท่องเที่ยวสู่ชุมชน และไทยยังส่งเสริมการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อขยายระยะเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวให้ยาวขึ้น”

นอกจากนี้ USABC ได้รายงานถึงแนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวของอาเซียน การกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่อการเดินทางในภูมิภาค การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พร้อมทั้งยินดีที่จะสนับสนุน “อัตลักษณ์” ของไทยในเวทีโลก ตลอดจนนโยบายที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย

‘สุดาวรรณ’ ดันขับรถเที่ยวเชื่อม 5 ประเทศ ดึงสภาธุรกิจอเมริกาฯ หนุนจ้างงาน

 

 

สุดาวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ยังได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา เพื่อหารือแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประสงค์จะผลักดันโครงการ Drive Tourism” ร่วมกับกัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งรัฐมนตรีท่องเที่ยวกัมพูชาแสดงความเห็นด้วยกับข้อริเริ่มโครงการของไทย และเสนอให้ไทยพิจารณาชูประเด็นการส่งเสริม “การท่องเที่ยวเชื่อมโยง 5 ประเทศ” เข้าไปบรรจุในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน หลังปี 2568 ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ในวันที่ 26 ม.ค.นี้ด้วย

“ทั้งนี้ประเทศไทยได้ศึกษาเส้นทางเชื่อมโยงไว้หลายเส้นทาง โดยกัมพูชาสนับสนุน เนื่องจากจะช่วยเพิ่มการเดินทางท่องเที่ยวจากทั้งภายใน (Intraregional) และภายนอกภูมิภาค (Interregional) สอดคล้องกับความเห็นของเลขาธิการอาเซียน ที่เห็นควรเสนอให้ยกระดับการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน ให้เชื่อมโยงกันได้เหมือนภูมิภาค และพิจารณานำภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการการดำเนินการร่วมกันต่อไป”

ที่ผ่านมา ไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว ทั้งในระดับทวิภาคี ผ่านกลไกคณะทำงานด้านการท่องเที่ยว ภายใต้บันทึกข้อตกลง (MoU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ไทย-กัมพูชา และในระดับพหุภาคี อาทิ โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) โดยกัมพูชายินดีที่จะสนับสนุนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับไทยในทุกระดับ

นอกจากนี้ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวจุดหมายปลายทางเดียวกัน หรือ One Destination” โดยเห็นชอบร่วมกันในการส่งเสริมการเดินทางข้ามแดนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางทางบก ผ่านการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามพรมแดน โดยกัมพูชาเสนอให้เริ่มต้นเจรจาในระดับทวิภาคีก่อน เนื่องจากมีมาตรการหลายอย่างที่จะต้องพิจารณาร่วมกัน

“ในวันที่ 26 ม.ค.นี้ ไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือระหว่างอาหารเช้า (Working Breakfast) ร่วมกับรัฐมนตรีท่องเที่ยวกัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม เพื่อหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเสริมกรรท่องเที่ยวเชื่อมโยงผ่านโครงการ Drive Tourism ต่อไป” สุดาวรรณ กล่าว

‘สุดาวรรณ’ ดันขับรถเที่ยวเชื่อม 5 ประเทศ ดึงสภาธุรกิจอเมริกาฯ หนุนจ้างงาน