สินค้าพาเหรดขึ้นราคา-หั่นโปรโมชัน ค่าครองชีพผู้บริโภคพุ่งหนักรับปี 67

สินค้าพาเหรดขึ้นราคา-หั่นโปรโมชัน  ค่าครองชีพผู้บริโภคพุ่งหนักรับปี 67

แม้แนวโน้มต้นทุนการผลิตสินค้าปี 2567 จะไม่หนักหนาสาหัสเหมือนปี 2565 ที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานพุ่งแรง วัตถุิบแพงขึ้น เพราะพิษของสงครามความขัดเแย้งรัสเซีย-ยูเครน

ทว่า เปิดศักราชใหม่ กลับเห็นสินค้าพาเหรดขึ้นราคายกใหญ่ รวมถึงมีการปรับโปรโมชัน ขายยกแพ็ค หรือจับคู่สินค้าในราคาสูงขึ้น จากเดิมที่เคยลดค่อนข้างมากก็ทยอยเพิ่มราคา กรุงเทพธุรกิจ สำรวจห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ในพื้นที่ต่างจังหวัด ราคาสินค้าเป็นดังนี้

ปี 2566 ผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยลอรีเอะ ขนาด 30 เซนติเมตร(ซม.) จำนวน 16 ชิ้น ราคา 75 บาท โปรโมชันลดราคาเหลือ 59 บาท ปี 2567 ราคาโปรโมชันอยู่ที่ 62 บาท เพิ่มขึ้น 3 บาท น้ำอัดลมเป๊ปซี่ขนาด 1 ลิตร ราคา 27 บาท เพิ่มเป็น 28 บาท ซีอิ๊วขาวตราเด็กสมบูรณ์ ขนาด 700 มิลลิลิตร(มล.) จากราคา 45 บาท ปีนี้ขาย 47 บาท

นอกจากนี้ “สบู่” มีทั้งการ “ลดขนาด” และ “ขี้นราคา” โดยสบู่ลักษ์ขนาด 60 กรัม 1 แพ็ค จากราคา 45 บาท ขยับเป็น 47 บาท โดยขนาดลดลงจากเดิมคือ 70 กรัม และยังมีขนมขบเคี้ยวหรือสแน็ค "ปาร์ตี้” จากปีก่อนขาย 2 ห่อ ขนาด 48 กรัมต่อห่อ ราคา 30 บาท เพิ่มขึ้น 32 บาท ยังมีขนมปังหมูหยองน้ำสลัด “โกลด์เบรด” ที่ปรับจาก 15 บาท เป็น 20 บาท หลังจากเบรกการเพิ่มราคาไประยะสั้นๆ เป็นต้น

ข้าวของจำเป็น “ราคาแพง” พุ่งไม่หยุด ยังมีต่อเนื่อง โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ยังเตรียมไฟเขียวให้ผลิตภัณฑ์นม “ขึ้นราคา” ได้ หลังจากต้นทุนน้ำนมดิบสูงขึ้น ทำให้สินค้าต่างๆในหมวดนี้ ไม่ว่าจะเป็น นมยูเอชที นมพาสเจอไรซ์ และนมสเตอริไลซ์ จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40-50 สตางค์ต่อกล่อง สำหรับขนาด 225 มล.

สมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ฉายภาพว่า สินค้าจำเป็นมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นสักระยะแล้ว และยังเห็นภาพผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าด้วย เนื่องจากไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอยมากนัก ประกอบกับช่วงปลายปีเก่า เข้าสู่ปีใหม่ เทศกาลเฉลิมฉลองเเป็นช่วงที่ประชาชนนำเงินไปใช้จ่ายหมดแล้ว ทำให้เปิดปี 2567การค้าขายค่อนข้างซบเซา

“ราคาสินค้าแพงขึ้นหลายรายการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของประชาชน แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีคนซื้อ ขนาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งเหล้า เบียร์ ยังยอดขายน้อยในช่วงปีใหม่ ส่วนหนึ่งเพราะรัฐเดินหน้านโยบายต่างๆกระตุ้นให้คนนำเงินออกมาใช้จ่าย รวมถึงการมีวันหยุดยาวค่อนข้างมาก ปลุกให้คนไปเดินทางกินเที่ยว แต่วันในการหาเงิน หรือทำงานสร้างรายได้น้อย รวมถึงภาระด้านดอกเบี้ยผ่อนบ้าน ผ่อนรถเพิ่ม ทำทำให้อำนาจซื้อลดลงด้วย

ขณะที่การปรับขึ้นราคาสินค้า ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน ผู้ผลิตมีการคำนวณต้นทุนราคาสินค้าโดยรวม “ต้นทุนแฝง” ทุกอย่างเข้าไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่าแรกเข้าในการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางห้างค้าปลีกเรียบร้อยแล้ว

“ผ่านมาหลายสิบปี ระบบการขายต่างๆของซัพพลายเออร์หรือผู้ผลิต มีการนำต้นทุนแฝงเข้าไปรวมไว้ในสินค้าค่อนข้างมากแล้ว ไม่ได้มีแค่ต้นทุนสินค้า วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์เหมือนในอดีต”

  สำหรับแนวโน้มราคาสินค้าปี 2567 จะปรับขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ “สมชาย” คาดการณ์ว่า ท้ายที่สุด หากผู้ผลิตเผชิญภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น และผลักภาระให้ผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาข้าวของจำเป็น หากแพงขึ้นเรื่อยๆ ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามกลไก คือกำลังซื้อของผู้บริโภคจะไม่ตอบสนอง และผู้ผลิต แบรนด์ต่างๆจะหาทาง “ลดราคา” ลงมาเอง เช่นกรณีที่นมเปรี้ยวพร้อมดื่มยี่ห้อดัง มีการขึ้นราคาขาย ทำให้ผู้บริโภคหยุดซื้อ ส่งผลต่อสต๊อกสินค้า ยอดขายพลาดเป้า ทำให้ต้องตัดโปรโมชันร้านค้า ลดการให้รางวัลแก่ตัวแทนจำหน่ายต่างๆ

สถานการณ์ข้าวของจำเป็นราคาแพงขึ้น สอดคล้องกับรายงานของ “อิปซอสส์” (Ipsos) ถึงสิ่งที่ผู้บริโภคกังวลใน 6 เดือนข้างหน้า พร้อมคาด “สินค้าและบริการที่จะขึ้นราคา” เช่น อาหาร สินค้าภายในครัวเรือน(Household shopping) ราคาพลังงานค่าเข้าสังคมนอกบ้าน พบปะสังสรรค์ และดอกเบี้ยบ้าน ฯ นอกจากขึ้นราคาแล้ว ผู้บริโภคยังสังเกตเห็นว่าผู้ผลิตมีการปรับ “ลดไซส์” ของสินค้าลงและขายราคาเดิม สะท้อนการขึ้นราคาทางอ้อม เช่น ขนมขบเคี้ยว หมวดมันฝรั่งทอด เพรทเซล อาหารแช่เย็น อาหารแช่แข็ง พิซซ่า ช็อกโกแลตและขนมหวาน ไอศกรีม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น น้ำผลไม้ น้ำผลไม้ผสม น้ำหวาน น้ำดื่ม ขนมปัง เบเกอรี ผลิตภัณฑ์นม นมพร้อมดื่ม กาแฟคั่วบด กาแฟคั่วบดพร้อมชง เช่น บรรจุในแคปซูล และน้ำอัดลม เป็นต้น