กฏหมายแช่แข็งน้ำเมา เสียงสะท้อนถึงรัฐ แม้ลดภาษีนำเข้าไวน์-สุราพื้นบ้าน

กฏหมายแช่แข็งน้ำเมา เสียงสะท้อนถึงรัฐ แม้ลดภาษีนำเข้าไวน์-สุราพื้นบ้าน

การฟื้นเศรษฐกิจไทย(จีดีพี) เป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญ โดยหนึ่งในเครื่องยนต์ที่จะกู้ชีพจีดีพีได้เร็วคือภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้หลายหน่วยงานงัดมาตรการออกมาเป็นลำดับ

ล่าสุด กระทรวงการคลังได้ยกเว้นภาษีนำเข้าไวน์ 21 รายการ และปรับลดภาษีสรรพสามิตสุราแช่พื้นบ้าน เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวมีการซื้อสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ง่ายจ่ายคล่องมากขึ้น

ทว่า ในมิติของธุรกิจ มาตรการดังกล่าวส่งผลบวก-ลบอย่างไร ฟังเสียงสะท้อนจาก “กราน-มอนเต้” หนึ่งในผู้ผลิตไวน์สัญชาติไทย และอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยแต่ละปีมีการผลิตไวน์ได้ราว 1-1.2 แสนขวด และเป้าหมายในอนาคตต้องการเพิ่มกำลังการผลิตให้แตะ 3 แสนขวด

สุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท กราน-มอนเต้ จำกัด เจ้าของแบรนด์ ไร่องุ่นไวน์กราน-มอนเต้ และไวน์ GranMonte ฉายภาพว่า การออกมาตรการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายง่ายขึ้น เป็นเรื่องที่ดี ทั้งการลดภาษีนำเข้าไวน์จากต่างประเทศ รวมถึงการปรับพิกัดภาษีสรรพสามิตสุราแช่พื้นบ้าน เช่น อุ สาโท กระแช่ เพราะอย่างน้อย “ต้นทุน” ส่วนหนึ่งคือการจ่ายภาษีสรรพสามิตตามมูลค่าหายไป

แต่อีกด้าน ก็มีผลกระทบไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยในระบบนิเวศ ทั้งผู้ผลิตไวน์เอง และเกษตรกร

ทั้งนี้ หากประเมินการลดภาษีนำเข้า กลุ่มไวน์ที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ คือไวน์จากต่างประเทศที่มีราคาแพง หรือให้เห็นภาพคือไวน์ขึ้นชื่อจากประเทศฝรั่งเศส อิตาลี และโปรตุเกส เป็นต้น เนื่องจากภาษีนำเข้ามีอัตราตั้งแต่ 54-60% ส่วนไวน์นำเข้าจากประเทศนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และชิลี หรือขนานนามว่าเป็นไวน์โลกใหม่ ได้รับสิทธิประโยชน์จากเขตการค้าเสรีหรือ FTA อยู่แล้ว

ไวน์นำเข้าราคาแพง ยังได้ประโยชน์อีกต่อ คือ การปรับพิกัดภาษีสรรพสามิตไวน์ใหม่ ยกเลิกการจัดเก็บภาษีโดยการแบ่งชั้นของราคาหรือ Price Tier ซึ่งเดิมไวน์ราคาไม่เกิน 1,000 บาท จะไม่ถูกเก็บภาษีตามมูลค่า ถ้าเกิน 1,000 บาทจะเก็บในอัตรา 10% ตอนนี้เป็นจัดเก็บอัตราเดียวหรือ Unitary Rate และเก็บภาษีในอัตรา 5% ตามปริมาณ 1,500 บาทต่อลิตรต่อ 100 ดีกรีแอลกอฮอล์ และตามปริมาณ 1,000 บาทต่อลิตรต่อ 100 ดีกรีแอลกอฮอล์

“วิธีคำนวณภาษีสรรพสามิตไวน์ใหม่ ทำให้ไวน์ราคาแพงได้ประโยชน์ หรือวงจรผู้นำเข้าไวน์ ผู้จัดจำหน่าย สถานบันเทิง ร้านอาหารที่ขายไวน์แพงๆ ส่วนไวน์ที่ราคาขายย่อมเยาภาษีสรรพสามิตที่ต้องจ่ายตามปริมาณมูลค่าลดลงเล็กน้อย หรือไวน์ที่ราคาถูกอยู่แล้ว อาจราคาถูกลงไม่มาก”

ส่วนการปรับภาษีสรรพสามิตสุราแช่พื้นบ้าน เช่น อุ สาโท กระแช่ ฯ ที่เฮ! กันเพราะตัวเลข 0% เป็นเพียงภาพลวงตา เพราะอัตราภาษีตามปริมาณหายไป แต่ยังคงจัดเก็บในเชิงปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์อยู่

“ภาพรวมช่วยผู้ผลิตสุราแช่พื้นบ้าน เพราะจากเดิมมีการเก็บภาษีสรรพสามิตตามมูลค่าแล้วกลายเป็นศูนย์ แต่ยังมีตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่เก็บอยู่ รวมถึงฟรุตไวน์ และไวน์องุ่น ขณะเดียวกันยังมีสุราแช่ที่มีสุรากลั่นผสมอย่างโซจู มีการปรับขึ้น”

หากประเมิน 1 ปีของการลดภาษีนำเข้าไวน์ “สุวิสุทธิ์” คาดการณ์จะไม่เห็นภาพการกักตุนสินค้า แต่การนำเข้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ จะเป็นไปตามกลไกและความต้องการ(ดีมานด์)ตลาด ทว่าสิ่งที่จะเห็น ผู้บริโภคอาจเปลี่ยนหรือสวิทช์ไปดื่มไวน์นำเข้ามากขึ้น เพราะ “ราคา” มีความจูงใจ สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อ “การแข่งขัน” ของผู้ผลิตไวน์ไทยด้วย ที่อาจต้องเหนื่อยกว่าเดิมเพราะราคาที่สู้ยาก

“เข้าใจภาพใหญ่ของรัฐ ต้องการกระตุ้นภาคท่องเที่ยว แต่ด้านของผู้ผลิตในประเทศต้องแข่งขันกับไวน์นำเข้าที่ต้นทุนถูกลง หรือมองอนาคตหลายปีข้างหน้า น่าเป็นห่วง เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อการแข่งขันที่เป็นทำ รวมถึงเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชผลการเกษตรเพื่อผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเผชิญต้นทุนสูงมาก และยังมีกฏการผลิตจากกรมสรรพสามิต มีเรื่องพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือพ.ร.บ.ห้ามโฆษณา ห้ามเวลาขาย สิ่งเหล่านี้ไม่หายไป ภาษีถูกลง เป็นเรื่องดีและขอบคุณ แต่เมื่อผลิตสินค้าไม่สามารถสื่อสารได้ ภาพที่เหมือนดีกลายเป็นลวงตา เพราะธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกแช่แข็งที่เดิม”

รายงานข่าวระบุว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างต้องการให้หน่วยงานรัฐพิจารณาปรับเปลี่ยนกฏ กติกา ที่ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะปัจจุบันที่ไทยต้องการคืนชีพเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่เมื่อนักท่องเที่ยวมากิน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่ต้องการไม่ได้ ก็ไม่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้เต็มที่   

สำหรับอุปสรรคของผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ห้ามโฆษณาแบรนด์ ทำสื่อสารการตลาด จูงใจ “นักดื่ม” รวมถึงการกำหนดเวลาห้าม สถานที่ห้ามจำหน่าย ฯ ถือเป็นปมปัญหามานาน และมีการนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ข้อเรียกร้องเหล่านี้ถูกเพิกเฉย