เตือน! ปี 67 สินค้าแพงต่อ ‘อิปซอสส์’ เผยคนไทยกังวลเงินเฟ้อ เศรษฐกิจยังแย่!

เตือน! ปี 67 สินค้าแพงต่อ ‘อิปซอสส์’ เผยคนไทยกังวลเงินเฟ้อ เศรษฐกิจยังแย่!

“อิปซอสส์” สำรวจความเห็นผู้บริโภคใน 33 ประเทศทั่วโลก หัวข้อ “What worries Thailand ชุด 2 ของปี 2566” รวมถึงติดตามภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนอย่างไร

ความกังวลต่างๆ ของผู้บริโภคจะสร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจใน 6 หมวดหมู่ ได้แก่ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจบริการ ค้าปลีก การบริการด้านการเงิน สาธารณูปโภค และกลุ่มสื่อและบันเทิง การรู้สัญญาณต่างๆ ทำให้แบรนด์ นักการตลาดหาทางรับมือล่วงหน้า

อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ จำกัด เผยผลสำรวจพบประเด็นใหญ่ที่ผู้คนทั้งโลกกังวลคือ “ภาวะเงินเฟ้อสูง” ซึ่งกินเวลากว่า 20 เดือน ถือว่ายาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ประเทศไทย 5 เรื่องใหญ่ที่ผู้บริโภคกังวลมากสุด เป็นดังนี้ อันดับ 1 สัดส่วน 43% ยกให้ปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียมทางสังคม อันดับ 2 สัดส่วน 40% คือการทุจริตทางการเงิน การเมือง การคอร์รัปชัน อันดับ 3 สัดส่วน 35% เป็นภาวะเงินเฟ้อ อันดับ 4 สัดส่วน 24% คือปัญหาการว่างงาน และอันดับ 5 สัดส่วน 23% เป็นเรื่องอาชญากรรม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม

เตือน! ปี 67 สินค้าแพงต่อ ‘อิปซอสส์’ เผยคนไทยกังวลเงินเฟ้อ เศรษฐกิจยังแย่! “ความกังวลใจเกี่ยวกับความยากจน ยังมีช่องว่างต่างๆ อยู่มาก การคอร์รัปชันทุกหัวระแหง รวมถึงภาวะเงินเฟ้อ ที่แนวโน้มกังวลต่อเนื่องถึงปี 2567 เพราะทำให้เงิน 100 บาทไม่พอจับจ่ายใช้สอย เงินจะด้อยมูลค่ากว่านี้ แม้หน่วยงานรัฐอย่างสภาพัฒน์จะคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ระดับ 1.5% ก็ตาม”

เมื่อเจาะลึกด้านเศรษฐกิจ คนไทยมองสถานการณ์เศรษฐกิจเข้าขั้น “แย่” และ “ดี” สัดส่วนเท่ากัน 50% สะท้อนความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.2566 คนไทย 57% มองเศรษฐกิจไทยแย่! ส่วน “อัตราการว่างงาน” พบว่า 61% ของคนไทย ครอบครัวมีประสบการณ์ตกงาน จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ผู้ประกอบการลดกำลังคน ซึ่งถือเป็นตัวแปรต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค

ขณะที่โมเมนตัมเศรษฐกิจ 6 เดือนข้างหน้า ผู้คนคาดการณ์จะเห็นการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้น และส่งผลต่อฐานะการเงินส่วนบุคคล โดย 62% มีความสามารถในการใช้จ่ายโดยไม่กังวล เพราะมีมั่นใจกับงานที่มั่นคง ไม่ตกงานแน่นอน อยู่ในอุตสาหกรรมไม่ลำบาก ส่วน 60% มั่นใจยังมีเงินเหลือลงทุนได้บ้าง ตามด้วย 55% ที่ค่อนข้างมั่นใจมีเงินซื้อของชิ้นใหญ่เข้าบ้าน เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ฯ เพราะอั้นการใช้จ่ายมานานตอนโควิด-19 ระบาด จะซื้อสินค้าแต่ละครั้งต้องคิดรอบคอบ

แม้จะมีเงิน แต่ต้องการบริหารจัดการอย่าง “กระเสือกระสน” หรือไม่ พบว่ามี 27%ที่มองว่ายังจัดการด้านการเงินยากลำบาก จะโยกไปใช้จ่ายอะไรต้องคิดหน้าคิดหลัง โดยมี 45% ที่ยังจัดการใช้จ่ายได้แม้จะเจอภาวะ “สินค้าราคาแพง” ก็ตาม ขณะที่ 7% ยังใช้จ่ายได้สบายๆ สมาร์ทโฟนราคาครึ่งแสนขอจองทันที แม้ต้องผ่อน 0% 10 เดือน คือกลุ่ม “มิลเลเนียล”

การผ่อนสินค้า ถือเป็นกับดักหนี้การเงิน เพราะหากพิจารณาสินค้าราคาแพง การผ่อน 0% นาน 10 เดือน รวมแล้วเป็นเงินก้อนโต”

เตือน! ปี 67 สินค้าแพงต่อ ‘อิปซอสส์’ เผยคนไทยกังวลเงินเฟ้อ เศรษฐกิจยังแย่! เงินเฟ้อ มาพร้อมกับ “สินค้าแพง” ทำใหผู้บริโภคมองแนวโน้ม 6 เดือนข้างหน้า ต้องเผชิญข้าวของราคาสูง ได้แก่ หมวดอาหาร สินค้าเครื่องใช้ภายในครัวเรือน ค่าสาธารณูปโภคน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าพลังงานน้ำมัน การสังสรรค์นอกบ้าน ค่าบริการสมาชิกต่างๆ เช่น สตรีมมิง ออกกำลังกาย ฯ และ “ดอกเบี้ย”

“หากถามเงินเฟ้อจะจบลงเมื่อไหร่ คนไทย 12% ไม่เชื่อว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเท่าเดิม ไม่มีทาง เงินเฟ้อสูงแล้วจะอยู่ไปตลอด”

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนชีวิต หรือค่าครองชีพพุ่ง คนไทย 77% ยกให้อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นภายในประเทศ และ 77% ระบุเกิดจากปัจจัยนโยบายของรัฐบาล ส่วน 76% มองสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ขณะที่ 75% ชี้ปมการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และ 74% บ่งชี้ธุรกิจต้องการค้าขาย “กำไรเกินควร”

“นโยบายรัฐมีส่วนในการทำให้ค่าครองชีพของผู้บริโภคสูงขึ้น เมื่อมีการประกาศตูม เช่น ปรับขึ้นค่าแรง เงินเดือนข้าราชการ ผู้ผลิตจะขึ้นราคาสินค้าตามไปด้วย”

เตือน! ปี 67 สินค้าแพงต่อ ‘อิปซอสส์’ เผยคนไทยกังวลเงินเฟ้อ เศรษฐกิจยังแย่! จากความกังวลของผู้บริโภคข้างต้น ในมิติธุรกิจ "อุษณา"ให้นิยามเป็นปีแห่งการเอาตัวรอดของผู้ประกอบการ และต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปีหน้ามากขึ้น

“1-2 ปีที่ผ่านมา เรามีบทเรียนในการเอาตัวรอดแล้ว ปีหน้าต้องเตรียมพร้อมสู้ต่อไป เพราะปี 2567 แนวโน้มธุรกิจยังไม่มีอะไรสดใส ยังอึมครึม หากเศรษฐกิจไม่ดี เงินเฟ้อสูงขึ้นอีก ผู้บริโภคอาจต้องคิดเก็บเงิน ประหยัดใช้จ่าย มีปัจจัยให้คิดมากมายเพื่อก้าวผ่านไปให้ได้”