บูมเฟสติวัล ‘สงกรานต์’ กระหึ่มโลก ส่งออกเทศกาลไทยเทียบคริสต์มาส

บูมเฟสติวัล ‘สงกรานต์’ กระหึ่มโลก ส่งออกเทศกาลไทยเทียบคริสต์มาส

รัฐ-เอกชนบูมเฟสติวัล 'สงกรานต์' กระหึ่มโลก จัดเต็มกิจกรรมหลายรูปแบบตลอด เม.ย. 67 ตอบโจทย์การขายเที่ยวไทยได้ทั้งปี 365 วัน พร้อมหนุนส่งออกเทศกาลเอกลักษณ์ไทยสู่เวทีสากลเทียบฉลองคริสต์มาส จุดพลุไทย 'เจ้าแห่งสงกรานต์โลก' ดึงดูดนักท่องเที่ยวสัมผัสบรรยากาศของแท้ในไทย

คำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) อยู่ในวงสนทนาบนพื้นที่สื่อและโซเชียลมีเดียอย่างร้อนแรงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะ “คำนิยาม” และยิ่งเป็นที่ฮือฮาเมื่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โพสต์ถึงความคืบหน้าของการประชุมคณะกรรมการฯ ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2566 เกี่ยวกับการจัดงานสงกรานต์ปี 2567 ตลอดเดือน เม.ย. นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดดังกล่าวบนโลกโซเชียลมีเดีย ว่าหมายถึงการเล่นน้ำทั้งเดือนหรือไม่ อย่างไร 

ก่อนที่ นางสาวแพทองธาร จะออกมาย้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ว่า การสาดน้ำตลอด 30 วันของเดือน เม.ย. คงจะเป็นไปไม่ได้ แต่จะเป็นการจัดกิจกรรม 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในวันที่ 13-15 เม.ย. ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ จะมีกิจกรรมเหมือนเช่นที่จัดขึ้นทุกปี ส่วนกิจกรรมที่จะจัดขึ้นตลอดทั้งเดือน เป็นการดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวไทยนานขึ้น นั่นคือจุดหมาย

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 6 ธ.ค. ทางที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ที่เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา ทางองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้ “สงกรานต์ไทย” (Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year festival) ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เป็นความตั้งใจดีของรัฐบาลที่อยากให้ทุกวันเป็นวันที่ออกไปเที่ยวได้ โดยในเดือน เม.ย. ซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์ สามารถจัดกิจกรรมหลายรูปแบบทั้งเดือนได้ เพราะนี่คือเดือนแห่งการเฉลิมฉลองของปีใหม่ไทย จะมีการจัดงานสงกรานต์และงานเทศกาลอื่นๆ ก็สามารถจัดได้ทั้งเดือน ตอบโจทย์การขายท่องเที่ยวทั้งปี 365 วัน

 

อัดกิจกรรมหลากรูปแบบแน่นเดือน เม.ย.

“ในเดือน เม.ย. เทศกาลสงกรานต์ของจังหวัดไหน หรือพื้นที่ไหน มีอัตลักษณ์แบบไหน ก็สามารถทำตามพื้นที่นั้นแบบเดิม เช่น วันไหลพัทยา แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าเดือน เม.ย. เป็นเดือนแห่งความสุข”

อย่างไรก็ตาม ททท.มีงบประมาณในการสนับสนุนจัดอีเวนต์ระดับนานาชาติอยู่แล้ว แต่อาจมีวงเงินจำกัด จึงเน้นสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน

“การจะผลักดันให้อีเวนต์หรือเฟสติวัลระดับนานาชาติเป็นงานระดับโลกที่เมื่อทุกคนพูดถึงแล้วต้องอยากมา ถือเป็นสิ่งที่ดีและท้าทายมาก เฟสติวัลในไทยที่หลายคนรู้จักคืองานสงกรานต์ งานลอยกระทง และงานเคานต์ดาวน์ ซึ่งมีต้นทุนที่ดีในการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากมาอยู่แล้ว”

อย่างงานมิวสิกเฟสติวัล S2O ซึ่งผสมผสานลูกเล่นของงานสงกรานต์เข้าไปด้วยนั้น ทางนายวุฒิธร มิลินทจินดา (วู้ดดี้) เจ้าของ Woody World ผู้ริเริ่มจัดงาน สามารถส่งออกงานนี้ไปจัดในต่างประเทศ ล่าสุดทางสหรัฐได้ซื้อลิขสิทธิ์งานเทศกาล S2O ไปจัดแล้ว

ส่วนงานเคานต์ดาวน์ซึ่งจะเป็นอีกไฮไลต์สำคัญกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ททท.เป็นผู้จัดงานเอง 2 งาน ได้แก่ ที่วัดอรุณฯ และที่ จ.นครราชสีมา นอกจากนี้ยังสนับสนุนการจัดงานเคานต์ดาวน์อีกหลายจุด เช่น แลนด์มาร์กที่ไอคอนสยามและเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงเดอะ สตรีท รัชดาฯ กับงานในเมืองท่องเที่ยวหลัก ภูเก็ต พัทยา และหาดใหญ่

นางสาวฐาปนีย์ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ทั้ง 11 อุตสาหกรรม ได้แก่ เฟสติวัล, ท่องเที่ยว, อาหาร, ศิลปะ, ออกแบบ, กีฬา, ดนตรี, หนังสือ, ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์, แฟชัน และเกม ถ้าได้รับการพัฒนาและขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการเติบโต คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ เช่น การเดินทางมาเที่ยววัดวัง โดยเฉพาะที่วัดอรุณฯ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสวมชุดไทย บรรยากาศเหมือนเกียวโตที่มีนักท่องเที่ยวสวมชุดยูกาตะเดินชมเมือง รวมถึงการเดินทางตามรอยละครและซีรีส์ หรือแม้แต่กองถ่ายผลิตภาพยนตร์และซีรีส์จากต่างประเทศ ถ้าได้รับสิทธิประโยชน์ที่ตอบโจทย์ ก็จะเลือกถ่ายทำในประเทศไทย ก่อให้เกิดการเดินทางมากขึ้นเช่นกัน

 

ส่งออกเทศกาลเอกลักษณ์ไทยสู่ทั่วโลก

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ตัวแทนภาคเอกชนท่องเที่ยวในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงานสงกรานต์ใหญ่ทั่วประเทศ นอกเหนือจากจะเป็นการเฉลิมฉลองของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นเฟสติวัลที่จะช่วยดึงดูดชาวต่างชาติ สร้างดีมานด์ผ่านเฟสติวัล มาร์เก็ตติง (Festival Marketing) ยิ่งยูเนสโกประกาศให้สงกรานต์ไทยขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แล้ว ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้กับงานสงกรานต์ในปีหน้า

“การสร้างดีมานด์ด้วยการจัดอีเวนต์และเฟสติวัลเป็นแนวทางที่เห็นผล ประเทศไทยต้องจัดงานสงกรานต์ปีหน้าให้กระหึ่มโลก เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยจริงๆ พร้อมส่งออกงานเทศกาลของไทยให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกเหมือนกับเทศกาลคริสต์มาส ทำให้ผู้คนสามารถสัมผัสงานสงกรานต์ไทยได้ในทุกมุมโลก แต่ถ้าอยากมาสัมผัสของจริง ต้องเดินทางมาที่ไทยเท่านั้น”

 

ประกาศไทย “เจ้าแห่งสงกรานต์โลก”

ก่อนหน้านี้ นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ด้านเฟสติวัล กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ด้านเฟสติวัล คือการส่งเสริมประเพณีไทยและวัฒนธรรมไทยอันงดงามสู่สายตาชาวโลก เพื่อจุดประทัดให้คนทั้งโลกหันมามองไทยอีกครั้ง ด้วยความเข้าใจว่าไทยมีดีอะไรบ้าง และให้เห็นถึงกิจกรรมต่างๆ ของทั้ง 77 จังหวัดว่าตลอด 365 วัน ไทยมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย

ทั้งนี้จะมีการจัดทำแพลตฟอร์มรวมการสื่อสารกิจกรรมของ 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ จัดทำตารางและสตอรีเทลลิง (Story Telling) เพื่อให้คนไทยและคนทั้งโลกเข้าใจประเพณี วัฒนธรรม และงานเทศกาลทั้งหลายของไทยมากขึ้น

ในปี 2567 ได้เตรียมกิจกรรม 10,000 กิจกรรมทั่วไทย จัดขึ้น 356 วันทั่วประเทศ ไฮไลต์สำคัญที่สุดคืองานสงกรานต์ เบื้องต้นจะใช้ชื่อเพื่อทำงานก่อนว่า “World Water Festival: The Songkran Phenomenon” เพื่อประกาศว่าไทยเป็นเจ้าแห่งสงกรานต์โลก และจัดเตรียมแผนการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ตลอดเดือน เม.ย. 2567 เน้นจัดงานใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยจะจัดงานหลักที่ถนนราชดำเนิน ภายในงานจะมีขบวนแห่เพื่อจัดแสดงของดีจาก 77 จังหวัด เช่น ขบวนแห่เทียน ขบวนแห่ดอกไม้ ขบวนการแสดงต่างๆ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับขบวนมาร์ดิกราส์ระดับโลก โดยขบวนแห่นี้จะจัดบนถนนราชดำเนินเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน และมีเวทีโดยรอบ 3 เวทีหลัก ได้แก่ เวทีใหญ่ที่สนามหลวง เวทีผ่านฟ้า ลานพลับพลาเจษฎามหาบดินทร์ และเวที กทม. ที่ลานคนเมือง