ทำไม Apple ครองแชมป์แบรนด์อันดับ 1 ของโลก

ทำไม Apple ครองแชมป์แบรนด์อันดับ 1 ของโลก

หลายคนคงรู้จักและชื่นชอบเป็นสาวกแบรนด์นี้เป็นอย่างดี แต่อาจจะยังไม่รู้จักว่า Apple สร้างรายได้อย่างไรที่ทำให้มูลค่า market cap สูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์เป็นบริษัทแรกของโลก

จากรายงานการจัดอันดับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกประจำปี 2566 ของ Kantar BrandZ ปรากฏว่า แบรนด์ที่มีมูลค่าเป็นอันดับ 1 ของโลกในปีนี้คือ Apple บริษัทผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีระดับโลก ที่มีมูลค่าแบรนด์ 880,455 ล้านดอลลาร์

วันนี้ผมจะชวนทุกท่านมาเจาะลึกถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้แบรนด์ Apple มีมูลค่าสูงมากที่สุดในโลก เผื่อจะสามารถนำไปปรับใช้กันให้ธุรกิจของท่านเติบโตต่อไปได้ในปีหน้า

1.การสร้างประสบการณ์ที่ดีผ่านการสร้างระบบนิเวศเครือข่ายผลิตภัณฑ์ (Ecosystem)ขึ้นชื่อว่าแบรนด์ Apple สิ่งสำคัญคือการออกแบบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ และเป็นคุณค่าหลักของแบรนด์เลยก็ว่าได้

การสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ดี ถูกคิดตั้งแต่การเชื่อมโยงความต้องการของผู้บริโภคผ่านการเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ อีกทั้งยังเป็นผู้ให้บริการระบบนิเวศเครือข่ายผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจรให้แก่ผู้ใช้งาน 

Apple เน้นพัฒนาบริการในระบบเพื่ออำนวยความสะดวก ทำให้ผู้ใช้งานทั้งเก่าและใหม่รู้สึกว่าการเข้าสู่ระบบนี้ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น เมื่อสนใจบริการหนึ่งแล้วก็มีแนวโน้มจะสนใจบริการอื่นๆ ต่อ ซึ่งบริการต่างๆ ล้วนต้องใช้งานผ่านอุปกรณ์ของ Apple เช่น iPhone iPad ระบบ ecosystem นี้เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อยอดขายที่เพิ่มขึ้น

ทำไม Apple ครองแชมป์แบรนด์อันดับ 1 ของโลก

2.Company’s new direction : Apple’s software & services business

หลังจากยอดขายโปรดักต์ของ iphone ในปี 2558 เริ่มชะลอตัว Apple เปลี่ยน Business Focus มาที่ธุรกิจซอฟต์แวร์และการให้บริการ (App store, Apple music, iCloud storage, Apple TV+, Apple pay) มากขึ้น ซึ่งธุรกิจการให้บริการนี้สร้างยอดขายได้มากกว่า Mac และ iPad เมื่อเปรียบเทียบยอดขายในไตรมาสเดียวกัน 

บริษัทเชื่อว่าธุรกิจบริการด้านซอฟต์แวร์นี้สามารถสร้างยอดขายได้มากถึง 100 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2567 ซึ่งมูลค่าแบรนด์เพิ่มขึ้นทันทีเมื่อรายได้ของบริษัทขยับขึ้นครับ

เรามาลองเจาะลึกบริการด้านต่างๆ ของ Apple ซึ่งสร้างรายได้แบบเป็นกอบเป็นกำซึ่งส่งผลต่อมูลค่าแบรนด์ ดังนี้

1.Apple Music

- Subscription, carrier partnership

- มีผู้ใช้งาน 56 ล้านคนเมื่อเทียบกับ Spotify 96 ล้านคน ในปี 2561-2562

- คาดการณ์ว่าสามารถสร้างรายได้ 6.7 พันล้านดอลลาร์/ปี

2.App store

- In-app purchase, app sales, app subscription

- App store คือหนึ่งในบริการที่สร้างรายได้ให้บริษัทได้มากที่สุดอีกด้วย

3.Apple News+

- Subscription

- ผู้บริโภคสามารถอ่านนิตยสารต่างๆ ได้มากกว่า 100 วารสารผ่านทาง iPhone หรือ iPad

4.Licensing

- Licenses selling

- Apple ขายลิขสิทธิ์ให้แก่บริษัทที่สนใจจำหน่ายบริการ หรือติดตั้งสินค้าบน ios เช่น กรณีของ Google จ่ายเงินเพื่อให้ผู้ใช้ iPhone สามารถค้นหาข้อมูลบน search engine google ได้ผ่าน weather channel

ทำไม Apple ครองแชมป์แบรนด์อันดับ 1 ของโลก

3.รูปแบบธุรกิจที่สร้างรายได้แบบ Subscription model

หลังจาก Apple เปลี่ยนโฟกัสมาให้ความสำคัญที่ธุรกิจซอฟต์แวร์ และการพัฒนาการให้บริการ (Business service) มากขึ้น กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อดึงดูดผู้ใช้งานก็เริ่มตามมา โดยกลยุทธ์หลักที่ช่วยเพิ่มมูลค่าคือ Subscription model หรือการสมัครสมาชิก ในปี 2563 จำนวนผู้ใช้งานประเภท paid subscribers เพิ่มเป็น 550 ล้านคน จาก 130 ล้านคนในปี 2562

ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่า Apple กำลังมาถูกทางสอดคล้องไปกับเทรนด์โลกในปี 2563 ที่พฤติกรรมของผู้คนทั่วโลก เน้นการใช้งานและมีการปรับวิถีชีวิตผ่านดิจิทัลเป็นหลัก

4.สร้าง Brand Super Fans

Apple ไม่เพียงแต่วางกลยุทธ์เพื่อเพิ่มปริมาณยอดขาย แต่ยังคงวางกลยุทธ์เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมให้ยังคงเป็นลูกค้าของ Apple ต่อไปอย่างเหนียวแน่น ผ่านการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ใช้งานเพื่อสร้าง sense of community และทำให้การเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้มากกว่าแค่เป็นผู้ใช้สินค้า

Family sharing iMessage และ Airdrop คือตัวอย่างฟังก์ชันที่สร้างเครือข่ายระหว่างผู้ใช้งาน Apple ให้แข็งแรงมากขึ้นอำนวยความสะดวกระหว่างผู้ใช้งานทำให้ผู้ใช้มีแนวโน้มเปลี่ยนไปใช้แบรนด์อื่นน้อยลง

การออกแบบบริการผ่านกิจกรรมใน Apple Store : การสร้างสาวกแบรนด์นั้นกลยุทธ์สำคัญคือการออกแบบบริการที่โดนใจ และนำไปสู่การสร้างคอมมูนิตี้ให้เกิดขึ้นกับเหล่าสาวกของแบรนด์ 

เราจะเห็นได้ว่าที่ Apple Store มีการออกแบบการสร้างกิจกรรมที่สนุก โดยสอนผู้ใช้งานสินค้าของ Apple ให้สามารถใช้ได้อย่างเพลิดเพลินด้วยกิจกรรมที่ออกแบบบมาอย่างดี เช่น กิจกรรมวาดรูปผ่านไอแพด หรือกิจกรรมคอมมูนิตี้ของคนฟังเพลงที่คอเดียวกัน

จากการวิเคราะห์และเรียบเรียงเนื้อหามานั้น ต้องบอกว่าการขึ้นสู่แบรนด์อันดับหนึ่งไม่ใช่แค่เรื่องภาพลักษณ์ หรือเน้นแต่การขายอย่างเดียว ต้องบอกว่าการสร้างแบรนด์ผ่านทุกประสบการณ์ เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ต้องบอกว่าแบรนด์ระดับนี้ไม่มีคำว่าบังเอิญหรือฟลุกจริงๆ ครับ.