จุดจบสายมุด VPN ? เมื่อ ‘จีน’ ออกกฎใหม่ เตรียมถอด ‘แอปฯตะวันตก’ ใน App Store

จุดจบสายมุด VPN ? เมื่อ ‘จีน’ ออกกฎใหม่ เตรียมถอด ‘แอปฯตะวันตก’ ใน App Store

ข่าวร้ายสำหรับสายมุด VPN ในจีน? เมื่อทางการประกาศระเบียบใหม่ ซึ่งอาจทำให้แอปพลิเคชันตะวันตกชื่อดังอย่าง Facebook และ Youtube เสี่ยงถูกถอดจาก App Store จนแอบมุดใช้งานไม่ได้อีกต่อไป

Key Points

  • จีนออกระเบียบใหม่ว่า แอปฯใดก็ตามที่ลงใน App Store จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตด้าน Internet Information Provider (ICP) จากทางการจีนก่อน
  • ช่วงการประท้วงปิดเมืองคุมโควิด-19 ในจีนเมื่อปีที่แล้ว หนุ่มสาวจีนหลายคนต่างนัดหมายการประท้วงและสื่อสารกันผ่านแอปฯ X (Twitter) และ Telegram ด้วยการใช้ VPN
  • เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2566 Apple เคยถอดแอปฯ คล้าย ChatGPT มากกว่า 100 แอปฯ ออก โดยให้เหตุผลว่า แอปฯเหล่านี้มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายและขัดต่อระเบียบการควบคุม AI ของจีน


กลายเป็น “อุปสรรคใหญ่” ของผู้ใช้แอปพลิเคชันยอดนิยมอย่าง Facebook, Youtube, Instagram ฯลฯ ในจีนผ่าน VPN เมื่อทางการจีนออกระเบียบใหม่ว่า แอปฯใดก็ตามที่ลงใน Apple App Store จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตด้าน Internet Information Provider (ICP) จากทางการจีนก่อน จนก่อให้เกิดความกังวลว่า แอปฯที่ไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบใหม่นี้ได้ โดยเฉพาะแอปฯจากชาติตะวันตก อาจถูกถอดออกจาก App Store จนไม่เหลือให้ดาวน์โหลดใช้งานอีก

  • สกัดการใช้แอปฯที่ถูกแบนในจีน

ปัจจุบัน แอปฯโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง Facebook, X (Twitter), Instagram, Telegram และแอปฯวิดีโออย่าง Youtube หรือแม้แต่เสิร์ชเอนจินยอดนิยมอย่าง Google นั้น ล้วนถูกแบนหรือไม่สามารถใช้งานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในจีนได้ หรือถึงแม้จะสามารถดาวน์โหลดจาก App Store แต่ก็ใช้งานไม่ได้อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม หลายคนที่ไปเที่ยว ทำธุรกิจ หรือศึกษาต่อในจีน สามารถหลบหลีกและใช้แอปฯที่ถูกแบนเหล่านี้ได้ ด้วยการใช้ “VPN” (Virtual Private Network) ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายเสมือนส่วนตัวขึ้นมา เพื่ออำพรางที่อยู่จริงของเครือข่ายเรา

ในขณะเดียวกัน ทางการจีนก็พยายามไล่ปิดทั้งเว็บไซต์และแอปฯที่ให้บริการ VPN แต่กลับมีผู้ให้บริการ VPN รายใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ คล้าย “แมวไล่จับหนู”

ช่วงการประท้วงครั้งใหญ่ในจีน เพื่อต่อต้านการปิดเมืองคุมการระบาดโควิด-19 อย่างเข้มงวดและยาวนานเมื่อปีที่แล้ว หนุ่มสาวจีนหลายคนต่างนัดหมายการประท้วงและสื่อสารกันผ่านแอปฯ X (Twitter) และ Telegram ด้วยการใช้ VPN จนแอปฯทั้งสองมียอดดาวน์โหลดติดอันดับต้น ๆ ในจีน

นอกจากนี้ หลายคนยังสามารถใช้แอปฯต้องห้ามในจีน ผ่านการเปลี่ยนที่อยู่ Apple ID โดยคารีม แอบเดลคาเดอร์ (Kareem Abdelkader) ซึ่งเป็นชาวอียิปต์ที่ทำงานในนครเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า เขาสามารถใช้งานแอปฯที่ถูกแบนในจีนอย่าง Instagram ด้วยการปรับการตั้งค่า Apple ID เป็นอยู่ในอียิปต์แทน ซึ่งโดยทั่วไป ผู้ใช้ในจีนที่ต้องการเปลี่ยนจำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มและได้รับการอนุมัติจากทาง Apple ก่อน

อย่างไรก็ตาม ทันยา (Tanya) ผู้จัดการฝ่ายโซเชียลมีเดียในนครเซี่ยงไฮ้ อายุ 28 ปี ซึ่งขอไม่เปิดเผยนามสกุลตัวเอง กล่าวว่า เธอสามารถซื้อ US Apple ID จากทางออนไลน์ และใช้ดาวน์โหลด VPN เพื่อเข้าใช้งาน Instagram, YouTube และ WhatsApp ได้

เพื่อเป็นการปิดช่องโหว่เหล่านี้ สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า ทางการจีนจึงยกระดับการควบคุม ประกาศให้ผู้พัฒนาแอปฯที่จะลงใน App Store จำเป็นต้องลงทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) ของจีนตั้งแต่เดือน ก.ย. 2566 ถึงเดือน มี.ค. 2567 โดยแอปฯที่ลงทะเบียนแล้วจะต้องไม่เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคงหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของจีน

บรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า หากแอปฯชื่อดังจากตะวันตกไม่สามารถปฏิบัติตามได้ มีแนวโน้มว่า บริษัท Apple อาจถอดแอปฯเหล่านี้ออกจาก App Store เพื่อปฏิบัติตามคำขอของรัฐบาลจีน เพราะตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่และสำคัญต่อ Apple อย่างยิ่ง โดยประมาณ 1 ใน 5 ของรายได้ทั้งหมดของ Apple ในปีที่แล้ว มาจาก “จีน”

ระเบียบใหม่นี้หมายความว่า จากเดิม ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอปฯตะวันตก เช่น Youtube จาก App Store และใช้ VPN เพื่อหลบหลีกการแบน แต่ต่อไป แอปฯเหล่านี้กำลังอยู่ในความเสี่ยงที่อาจถูกถอดออกจาก App Store ได้ จนไม่มีแอปฯให้ดาวน์โหลดใช้งาน

ด้าน ริช บิชอป (Rich Bishop) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) AppInChina บริษัทที่ปรึกษาในการเผยแพร่แอปพลิเคชันในจีน ให้ความเห็นว่า Apple มีแนวโน้มปฏิบัติตามระเบียบใหม่ของจีนนี้ โดยการคัดกรองแอปฯที่ลงใน App Store จีนจะเข้มงวดกว่าในต่างประเทศ

ด้านบริษัท Apple ก็ออกระเบียบใหม่ขอให้เหล่าผู้พัฒนาแอปฯ ใน App Store ปฏิบัติตามระเบียบใหม่นี้ และเมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2566 Apple เคยถอดแอปพลิเคชันคล้าย ChatGPT มากกว่า 100 แอปฯ ออกไป โดยให้เหตุผลว่า แอปฯเหล่านี้มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายและขัดต่อระเบียบการควบคุมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของจีน

ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2563 Apple ยังเคยถอดถอนแอปฯเกมหลายพันแอปฯออก ตามมาตรการจัดระเบียบธุรกิจเกมของจีน สำหรับเกมที่มีเนื้อหารุนแรงและขัดต่อศีลธรรมอันดีในสังคม

  • ผลกระทบจากระเบียบใหม่ของจีน

นอกจากผลกระทบต่อผู้ใช้งานในการเข้าถึงแอปฯตะวันตกในจีนแล้ว ผลกระทบต่อมา คือ บรรดาผู้พัฒนาแอปฯจำเป็นต้องปรับเนื้อหาในแอปฯ ใหม่ ซึ่งทำให้ต้นทุนการสร้างเพิ่มขึ้น โดยอาจต้องสร้างเพิ่มอีกเวอร์ชันหนึ่งสำหรับผู้ใช้งานในจีนโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ สำหรับบริษัทแอปฯที่ไม่สามารถปรับเนื้อหาตามระเบียบใหม่นี้ และอาจถูกถอดออก รวมถึงบริษัทแอปฯต่าง ๆ ตัดสินใจเปลี่ยนไปลงทุนยังประเทศอื่นที่เปิดกว้างกว่าแทน

สิ่งนี้สามารถกระทบต่อระบบนิเวศแอปฯในจีน จากการที่แอปฯของชาวต่างชาติมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของสุขภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ อีกทั้งจำนวนแอปฯที่ลดลง ยังกระทบต่อรายได้ด้านแอปฯของบริษัท Apple ด้วย

เดวิด แวกเนอร์ (David Wagner) ผู้จัดการการลงทุนของบริษัท Aptus Capital Advisors แสดงความเห็นว่า “จีน เป็นสิ่งที่ผมวิตกมากที่สุด ความเสี่ยงของ Apple หลายอย่างกำลังก่อตัวสูงขึ้นในจีน”

ส่วนอับราฮัม ยูเซฟ (Abraham Yousef) นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งบริษัท Sensor Tower ผู้วิจัยตลาดดิจิทัลทั่วโลก มองว่า ระเบียบใหม่ของจีนนี้ ทำให้การใช้งานแอปฯต่างชาติในจีนประสบความท้าทายมากขึ้นในการเข้าถึง

อ้างอิง scmpscmp(2)scmp(3)wsj