‘จีนเที่ยวไทย’ ปี 66 ไปไกลสุด 3.5 ล้านคน ททท. ลุ้นคัมแบ็กแรง 8 ล้านคนในปีหน้า

‘จีนเที่ยวไทย’ ปี 66 ไปไกลสุด 3.5 ล้านคน  ททท. ลุ้นคัมแบ็กแรง 8 ล้านคนในปีหน้า

สถานการณ์ 'นักท่องเที่ยวจีน' ร่วม 11 เดือนแรกของปี 2566 สถิตินับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-20 พ.ย. 2566 มีจำนวนสะสม 2,979,557 คน เป็นรองนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเท่านั้น ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือมาตรการวีซ่าฟรี ให้กับนักท่องเที่ยวจีนชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 - 29 ก.พ. 2567

แต่การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนจะปรับขึ้นแบบ “ขั้นบันได” ไม่ใช่แบบพุ่งชัน โดย “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) ระบุว่า หากไม่มีมาตรการวีซ่าฟรีเข้ามาช่วย จะไม่มีทางได้ตัวเลขที่เข้ามาแบบตอนนี้แน่นอน

ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ททท.ตั้งเป้าหมายตลอดปี 2566 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยรวมทั้งสิ้น 4.04-4.4 ล้านคน ตั้งเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 226,240-246,400 ล้านบาท

แต่จากแนวโน้มตอนนี้ คาดว่าทั้งปี 2566 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยรวมประมาณ 3.4-3.5 ล้านคน ใช้จ่ายต่อเฉลี่ยต่อคนต่อทริปอยู่ที่ 56,000 บาท สร้างรายได้ประมาณ 190,400-196,000 ล้านบาท ส่วนปี 2567 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทย 8.2 ล้านคน สร้างรายได้ 451,800 ล้านบาท

ตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยในช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง กลุ่มท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) ครองสัดส่วนสูงถึง 86% ส่วนกรุ๊ปทัวร์ 14% เทียบกับปี 2562 ที่เข้ามาแบบกรุ๊ปทัวร์ 60% เอฟไอที 40% เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังเห็นเข้ามาเที่ยวใน “เมืองรอง” เพื่อพักผ่อนมากขึ้น ไม่ได้เน้นไปแค่เมืองหลัก หรือใช้จ่ายชอปปิงเป็นหลักเหมือนเดิมแล้ว ชื่นชอบการรับประทานอาหารไทย นวดและสปา ชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ กิจกรรมชายหาด และแสงสียามค่ำคืน โดยจังหวัดที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี หนองคาย ประจวบคีรีขันธ์ และสตูล

ย้อนไปเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด “จีน” ส่งออกนักท่องเที่ยวออกนอกประเทศมากกว่า 155 ล้านคน โดยเดินทางสู่ 3 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนปี 2566 เดินทางออกนอกประเทศเพียง 40.3 ล้านคน ไทยยังคงเป็นประเทศปลายทางอันดับ 1 รองลงมาเป็นญี่ปุ่น และสิงคโปร์

ในช่วงวันหยุดยาวพิเศษ หรือ “โกลเด้นวีค” วันชาติของจีนระหว่างวันที่ 28 ก.ย.-7 ต.ค. 2566 มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทย รวม 135,954 คน เปรียบเทียบกับช่วงหลังหมดวันหยุดยาว มีนักท่องเที่ยวลดลงประมาณ 36% สอดคล้องกับ “ทริปดอทคอม” (trip.com) แพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) ที่รายงานว่ายอดจองการเดินทางมาไทยลดลง 40% ซึ่งเป็นสัดส่วนการลดลงของนักท่องเที่ยวตามปกติหลังช่วงหยุดยาว

หากเปรียบเทียบกับปี 2562 นักท่องเที่ยวจีนมีวันพักเฉลี่ย 7.88 คืน เพิ่มขึ้น 1.6 คืน และมีค่าใช้จ่าย 50,052 บาทต่อคนต่อทริป เพิ่มขึ้นกว่า 13.6% อ้างอิงข้อมูลจากกลุ่มผู้ใช้บริการ "อาลีเพย์" (Alipay) โดยยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านที่พัก ในปี 2566 มีจำนวน 20,000 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้นมา 9,000 บาท หากเทียบกับปี 2562 ที่อยู่ประมาณ 11,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 80%

"วันพำนักที่เพิ่มขึ้นนั้น แม้มองว่าเพิ่มขึ้น 1 วันกว่าๆ แต่ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมาก เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งในแง่การจองโรงแรมที่พัก อาหารการกิน หรือบริการต่างๆ"

นอกจากนี้ ททท.จะจัดกิจกรรมการดำเนินงานของตลาดจีน เพื่อเน้นการส่งเสริม "ภาพลักษณ์เชิงบวก" อาทิ จัดกิจกรรมร่วมกับ Social Media Douyin โดยเชิญผู้นำทางความคิด หรือ อินฟลูเอนเซอร์ (KOL/KOC) ที่มีชื่อเสียงบนแพลตฟอร์ม ร่วมเดินทางมายังประเทศไทยและนำเสนอคอนเทนต์เชิงบวกเกี่ยวกับประเทศไทย

สำหรับปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยลดลง คือการติดข้อจำกัดในหลายสาเหตุ โดยเฉพาะ "จำนวนเที่ยวบิน" ที่ยังกลับมาไม่เต็มที่อย่างที่ควร รวมถึง "การแข่งขัน" ทางการท่องเที่ยวของฮ่องกงและมาเก๊า แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญอื่นๆ เช่น "ญี่ปุ่น" หรือคู่แข่งที่เน้นราคาถูกอย่าง "เวียดนาม" นักท่องเที่ยวจีนยังคงนิยมมาประเทศไทยเป็นอันดับ 1

"ยืนยันว่า ททท.ไม่ได้ชะล่าใจ ยังคงดำเนินการกระตุ้นตลาดเพิ่มเติมผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ต่างๆ มากขึ้นด้วย"

ชูวิทย์ ศิริเวชกุล ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก ททท. กล่าวเสริมว่า ประเด็น “ภาพลักษณ์ความปลอดภัย” ของไทย ถือเป็นเรื่องที่ชาวจีนให้ความสำคัญมากที่สุด ส่วนจะถูกกระทบจากข่าวการจับกุมขอทานจีนที่เกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขณะนี้กระแสข่าวถูกพูดถึงในสื่อออนไลน์ของจีนบ้าง แต่ไม่ได้มากนัก ส่วนผลกระทบ เกิดขึ้นในบางมณฑลของจีนเท่านั้น และเป็นเมืองรองในระดับ 2-3 ที่มีการตั้งคำถามกับประเทศที่มีประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น