ส่องผลงาน ‘เอ็มเค-ซีอาร์จี-เอสแอนด์พี-อาฟเตอร์ยู’ ยอดขายใครโต-ตก?

ส่องผลงาน ‘เอ็มเค-ซีอาร์จี-เอสแอนด์พี-อาฟเตอร์ยู’ ยอดขายใครโต-ตก?

ปี 65 ธุรกิจร้านอาหารยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เพราะพิษสงของโควิด-19 ระบาด ยังเล่นงานจนเกือบปลายปี ทว่า หลังจากทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ทำให้ธุรกิจกลับมาคึกคักอย่างมาก การรับประทานอาหารนอกบ้าน ทานที่ร้าน(Die-in) จึงเติบโตขึ้น แน่นอนว่าอีกขาคือ “เดลิเวอรี” แผ่วลง

บิ๊กธุรกิจร้านอาหารเพิ่งอวดผลประกอบการ สิ่งที่น่าสนใจคือ “ยอดขาย” ไตรมาส 3 ที่บางแบรนด์ “อืด” หรือเติบโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อน กำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนตัวลง ผู้บริโภครัดเข็มขัด ประหยัดค่าใช้จ่าย การหันไปกินอาหารที่ราคาสบายกระเป๋า อิ่มท้อง ทำให้เกมการแย่ง Share of Stomach การชิงโอกาสหรือ Share of Occasion ตลอดจนเงินที่มีหรือ Share of Wallet จะเข้มข้นขึ้นหรือไม่ต้องติดตาม

  • ไตรมาส 3 ยอดขายเอ็มเคฯ โตต่ำ กำไรลด!

สำหรับผลงานยักษ์ใหญ่ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เจ้าของร้านเอ็มเค สุกี้ ยาโยอิ แหลมเจริญ ยามาซากิ ฯ ไตรมาส 3 สร้างยอดขาย 4,094 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27 ล้านบาท หรือเพิ่มเพียง 0.7% เท่านั้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดขายจากสาขาเดิม(Same store)ยังเพิ่มขึ้นเพียง 0.9% ทั้งนี้ ช่องทางขายทำเงินยังเป็นการนั่งรับประทานที่ร้าน เติบโตและมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 86% จากช่วงเดียวกันปีก่อนสัดส่วน 82% ส่วนเดลิเวอรีลดมาอยู่ที่ 9% จากปีก่อน 13%

ไตรมาส 3 ยอดขายโตน้อย แต่ภาพรวม 9 เดือน ยอดขายอยู่ที่ 12,619 ล้านบาท เติบโต 9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และยอดขายสาขาเดิมโตได้ 8.9%

ส่วนกำไรสุทธิไตรมาส 3 ทำได้ 389 ล้านบาท “ลดลง” 19 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดลง 4.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ 9 เดือน บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,173 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9%

ส่องผลงาน ‘เอ็มเค-ซีอาร์จี-เอสแอนด์พี-อาฟเตอร์ยู’ ยอดขายใครโต-ตก? “ต้นทุน” คือตัวแปรที่กระทบกำไรไตรมาส 3 ซึ่งบริษัทมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค(ค่าน้ำ-ไฟ) ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขาย เพิ่มขึ้น 177 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.1% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 3 มีวัตถุดิบบางชนิดแนวโน้มราคาลดลง ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ต้องตามต่อ จนถึงปลายปี การ “ตุนยอดขาย” ครึ่งปีแรก จะทำให้ทั้งปีตัวเลขปิดสวยมากน้อยเพียงใด

  • “กำไร” ซีอาร์จี ยังไม่ฟื้น

บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด อีกหนึ่งบิ๊กคอร์ปธุรกิจร้านอาหาร มีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอมากมายและล้วนคุ้นหู เช่น เคเอฟซี มิสเตอร์โดนัท อานตี้ แอนส์ โอโตยะ ฯ ไตรมาส 3 ผลงานยอดขายของบริษัทอยู่ที่ 3,054 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ “กำไรสุทธิ” ยังคงหดตัว โดยไตรมาส 3 บริษัทมีกำไร 128 ล้านบาท “ลดลง” 28% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ในส่วนของ “รายได้” ที่เติบโตในอัตราชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเพราะยอดขายผ่านช่องทาง “เดลิเวอรี” ที่หดตัว และพฤติกรรมผู้บริโภคกลับไปนั่งทานที่ร้าน เป็นเหตุผลที่ “ซีอาร์จี” ให้ไว้

ส่องผลงาน ‘เอ็มเค-ซีอาร์จี-เอสแอนด์พี-อาฟเตอร์ยู’ ยอดขายใครโต-ตก? เมนูจากแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอของซีอาร์จี

มาดู 9 เดือน ซีอาร์จี มียอดขาย 9,230 ล้านบาท เติบโต 9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 354 ล้านบาท “ลดลง” 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ ยอดขายดังกล่าว สาขาเดิมทำเงินเติบโต 4% โดยแบรนด์หลัก 4 แบรนด์ ได้แก่ เคเอฟซี มิสเตอร์โดนัท อานตี้ แอนส์ และโอโตยะ ยังเป็นพระเอกสร้างความโดดเด่น ส่วนแบรนด์อื่นๆ เติบโตเพียง 1% สำหรับกำไรสุทธิ 9 เดือน ที่ลดลง เป็นผลจากต้นทุนวัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า ค่าเช่า ที่เพิ่มขึ้น เฉกเช่นกับ “เอ็มเค” เผชิญ

การเคลื่อนธุรกิจร้านอาหารของ “ซีอาร์จี” ให้ความสำคัญทั้งการเปิดร้านใหม่หรือขยายสาขา การทำตลาด การหาพันธมิตรมาร่วมทุน เสริมพอร์ตแบรนด์ใหม่ อย่างไรก็ตาม ผ่านพ้น 9 เดือนแรก บริษัทมีร้านอาหารทั้งสิ้น 1,602 สาขา “เพิ่มขึ้น 59 สาขา” โดยแบรนด์หัวหอกยังเดินหน้าเปิดเพิ่ม เคเอฟซีเปิด 22 สาขา อานตี้ แอนส์ 12 สาขา สลัดแฟคตอรี 7 สาขา ชินคันเซ็น ซูชิ 8 สาชา อาริกาโตะ 34 สาขา โดยเป็นสาขาเพิ่มสาขาที่อยู่ในร้านมิสเตอร์โดนัท หรือรูปแบบ Shop-in-shop นั่นเอง

  • เอสแอนด์พี ผลงานโตรับ 50 ปี

ปีนี้ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด(มหาชน)ฉลองครบรอบ 50 ปี ไม่เพียงมีแคมเปญมากมาย เพื่อผลักดันการเติบโต ธุรกิจยังเดินหน้าปรับกระบวนการ พลิกโฉมร้านเบเกอรี อาหารให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องด้วย

ส่องผลงาน ‘เอ็มเค-ซีอาร์จี-เอสแอนด์พี-อาฟเตอร์ยู’ ยอดขายใครโต-ตก? ท่ามกลางการแข่งขันร้านอาหารที่สูง เอสแอน์ดี ยังทำผลงานไตรมาส 3 ได้ดี โดยรายได้อยู่ที่ 1,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 124 ล้านบาท หรือเพิ่ม 8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยร้านอาหารในประเทศขายดีขึ้น 95 ล้านบาท เติบโต 7% อาหารไทยจานเดียวดึงดูลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ธุรกิจค้าปลีกและรับจ้างผลิตเพิ่มขึ้น 23 ล้านบาท หรือเพิ่ม 14% ร้านอาหารต่างประเทศไม่น้อยหน้าเติบโต 8% ส่วนกำไรสุทธิไตรมาส 3 อยู่ที่ 165 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% การเพิ่มของกำไรไม่ได้มาจากยอดขายที่โต แต่ยังเกิดจากการ Lean ในกระบวนการผลิต การบริหารค่าใช้จ่ายในโรงงาน ท่ามกลางต้นทุนที่เพิ่มทั้งค่าเช่า ค่าแรง ค่าใช้จ่ายน้ำ-ไฟ ต่างๆ

9 เดือน เอสแอนด์พี ทำยอดขาย 4,562 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% คิดเป็นมูลค่า 429 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 358 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% หรือคิดเป็นมูลค่า 30 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธุรกิจร้านอาหารของเอสแอนด์พี หลักๆยังเป็นร้านอาหารในประเทศสัดส่วน 84% ร้านอาหารต่างประเทศ 5% และธุรกิจค้าปลีกและรับจ้างผลิต 11%

เอสแอนด์พี มีร้านอาหารให้บริการแก่ลูกค้าทั้งสิ้น 460 สาขา(ทั้งในและต่างประเทศ) โดยร้านเอสแอนด์พี เบเกอรี ช็อปมีมากสุด 270 สาขา ตามด้วยร้านเอสแอนด์พี เรสเตอรองส์ มี 135 สาขา เอสแอนด์พี เดลต้า 33 สาขา ภัทรา 8 สาขา ร้านอาหารญี่ปุ่นไมเซน 11 สาขา เป็นต้น

  • สายหวานไม่แผ่ว อาฟเตอร์ ยู ยอดขาย-กำไรดี

ร้านขนมหวานพันล้าน “อาฟเตอร์ ยู” ของ “เมย์ กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ” กลับมาทำยอดขายเติบโตร้อนแรง โดยไตรมาส 3 ยอดขายบริษัทอยู่ที่ 338 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และกำไรสุทธิ 54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนผลงาน 9 เดือน ทำยอดขาย 900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% และทำกำไรสุทธิ 131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60%

ส่องผลงาน ‘เอ็มเค-ซีอาร์จี-เอสแอนด์พี-อาฟเตอร์ยู’ ยอดขายใครโต-ตก? ในวันที่เทรนด์สุขภาพมาแรง ดูเหมือนจะทำอะไรกับสายหวานไม่ได้ ผู้บริโภคชอบความอร่อย กินขนมหวาน ต้องรสชาติสุด จัดเต็ม ทำให้ “อาฟเตอร์ ยู” เติบโต แต่ยิ่งกว่านั้นคือการวางกลยุทธ์ การทำตลาดควบคู่กันไป

ไตรมาส 3 อาฟเตอร์ ยู มีสินค้าใหม่เรียกแขกให้ลอง คือ ขนมปังเปียกปูนกะทิสดขายทุกสาขา เอาใจคนรักขนมไทย ยังมีการเปิดตัวบูธป๊อปอัพ “ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ” ในงานต่างๆ อย่าง Van Gogh Alive Bangkok เป็นต้น ที่ได้ทั้งยอดขาย ภาพลักษณ์แบรนด์ เชื่อมโยงงานอาร์ต

ยุคที่ตู้จำหน่ายสินค้า เครื่องดื่มอัตโนมัติมาแรง อาฟเตอร์ ยู ก็ไม่ตกขบวน เพราะลองลุย “ตู้จำหน่ายขนมหวาน และเครื่องดื่มอัตโนมัติ” กว่า 20 รายการ นำร่องที่อาคารคิง พาวเวอร์ มหานคร สามย่านมิตรทาวน์ ตอบไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่รักสะดวก

ธุรกิจร้านอาหาร ขนมหวานจะโตได้ การเปิดร้านใหม่หรือขยายสาขาถือเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งอาฟเตอร์ ยู เปิดร้านขนมหวานเพิ่ม 4 สาขา การเปิดโมเดลใหม่ๆที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่าง “ป๊อปอัพ สโตร์” ตามแหล่งท่องเที่ยว พร้อมทั้งปั้นคอนเซปต์ใหม่ “After You Tea House” ที่ร้านข้าวโซอิ เชียงใหม่ชิมลางถึงมกราคม 2567 ต่อยอดทำเลเดิมด้วยคอนเซปต์ “After You Farm House” ที่ร้านอาหาร Midwinter เขาใหญ่ถึงสิ้นกุมภาพันธ์ปี 2567 เป็นต้น

ส่วนแบรนด์น้องอย่าง “ลูกก๊อ” ยังขยายแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามแผนจะมี 2 สาขาใหม่ปีนี้ และร้านกาแฟ “มิกก้า” ยังเดินหน้าตามแผน ขณะที่ร้านในต่างประเทศ มีอาฟเตอร์ ยู สาขา 2 ที่ฮ่องกง แต่สาขา 1 ปิดชั่วคราวตั้งแต่สิงหาคม 2566 เพื่อหาทำเลใหม่ แผนลุยตลาดกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม(CLMV) ยังหาโอกาสขยายผ่านแฟรนไชส์

อย่างไรก็ตาม อาฟเตอร์ ยู ประเมินทิศทางธุรกิจร้านอาหารเครือข่าย(เชน) ทั้งร้านขนมหวาน คาเฟ่ บาร์ ร้านอาหารแบบจำกัดเวลา และร้านอาหารบริการต้นเอง ปี 2566 จะมีมูลค่า 299,700 ล้านบาท ปีหน้าจะเห็นการเติบโตมูลค่าแตะ 323,900 ล้านบาท และปี 2568 มูลค่าแตะ 347,7000 ล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ย(CAGR) 7.71% (ที่มา : Euromonitor, MOTS)

ส่องผลงาน ‘เอ็มเค-ซีอาร์จี-เอสแอนด์พี-อาฟเตอร์ยู’ ยอดขายใครโต-ตก? ทิศทางธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยยังคงเติบโตต่อเนื่อง