ดัน ‘BFV Model’ สู่ดัชนีประจำปี เสนอรัฐ ก.ล.ต. หนุนโกลบอลแบรนด์ ดึงซูเปอร์แฟน

ดัน ‘BFV Model’ สู่ดัชนีประจำปี เสนอรัฐ ก.ล.ต. หนุนโกลบอลแบรนด์ ดึงซูเปอร์แฟน

หมดยุค! ไทยส่งออกเพียงข้าว มันสำปะหลังเท่านั้น บารามีซี่ ประสาน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอทำดัชนี BFV Model วัดมูลค่าแบรนด์แห่งอนาคตประจำปี เครื่องมือสร้างโกลบอลแบรนด์ไทย ดึงฐานแฟนทั่วโลก นำเม็ดเงินเข้าประเทศ เตรียมเสนอภาครัฐ ตลาดหุ้นหนุน

นายจุลเกียรติ สินชัยชูเกียรติ Founder & CEO of บารามีซี่ กรุ๊ป (Baramizi Group) กล่าวว่า การจัดทำดัชนีชี้วัดมูลค่าแบรนด์ Brand Future Valuation 2023 หรือ BFV Model ที่เป็นการประกาศตัวเลขมูลค่าแบรนด์แห่งอนาคตประจำปี 2023  โดยเป็นชุดดัชนีที่สามารถนำไปใช้ประเมินมูลค่าแบรนด์และองค์กร

หลังจากนี้ จะนำโมเดลดัชนี BFV Model ไปนำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐของประเทศ ตั้งแต่ปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เพื่อให้ประเทศไทยมีดัชนีที่ชี้วัดในเรื่องมูลค่าแบรนด์อย่างเป็นทางการ นำไปสู่การร่วมมือสร้างโกลบอลแบรนด์ของประเทศให้สำเร็จในระยะยาว

 

ทั้งนี้มีแผนเข้าไปหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจและภาคการเงินของประเทศไทยทั้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักนายกรัฐมนตรี  ไปจนถึงศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) โดยจะเป็นการเข้าไปนำเสนอผ่านการร่วมมือของ บารามีซี่ และ คณะพาณิชย ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมคิดค้นโมเดลนี้ขึ้นมา

“ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการจัดทำดัชนีชี้วัดมูลค่าแบรนด์ เพื่อร่วมกระตุ้นทำให้ภาคธุรกิจและองค์กรในประเทศให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างแบรนด์ เหมือนกับในต่างในประเทศ โดยในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างในยุโรป สหรัฐ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มีการประกาศผลมูลค่าแบรนด์เป็นประจำทุกปี เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอีกทาง”

สำหรับการวัดมูลค่าแบรนด์ มีความสำคัญอย่างมากทั้งต่อภาพรวมธุรกิจภายในและภายนอก ส่งผลต่อตลาดทุนในการประเมินมูลค่าธุรกิจ และส่งผลต่อตลาดหุ้นในการสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้าและแบรนด์ รวมถึงยังสร้างความเชื่อมั่นต่อภายในคือ พนักงานว่า องค์กรที่ทำงานอยู่มีความแข็งแรง รวมถึงต่อบริษัทในการกำหนด กลยุทธ์ขององค์กรประจำปี และยังทำให้การใช้งบประมาณแต่ละบริษัทได้อย่างถูกต้อง

รศ.ดร.ณัฐพล อัสสะรัตน์ ประธานหลักสูตรธุรกิจมหาบัณฑิต (นักบริหาร) และอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดทำดัชนี BFV Model การพัฒนาโมเดล ที่เป็นการพัฒนาโนว์ฮาวจากประเทศไทยคิดค้นขึ้นมาครั้งแรก โดยที่ผ่านมา เมื่อต้องการวัดมูลค่าของแต่ละแบรนด์ไทย ส่วนใหญ่จะผ่านบริษัทที่ปรึกษาในต่างประเทศทั้งหมด ทำให้การจัดทำ BFV Model เป็นการร่วมพลังขับเคลื่อนสร้างแบรนด์ไทยในระยะยาว

“การสร้างแบรนด์จากประเทศไทย เป็นการวางกลยุทธ์ ส่งผลดีทั้งทำให้แบรนด์มียอดขายเพิ่มขึ้น ขายสินค้าได้มีมูลค่าสูงขึ้น และทำให้การระดมทุนต่ำลง”

“รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร” คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง การร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในในยุคปัจจุบันว่า มักเริ่มจากการให้คนมีงานทำ การทำให้สินค้ามีคุณภาพ เพื่อส่งออกจำนวนมาก แต่ประเด็นสำคัญที่หลายคนมักมองข้ามไปคือ เรื่องการสร้างแบรนด์ดิ้ง ประเทศไทยการเติบโตของมีเศรษฐกิจจากสินค้ามีคุณภาพ แต่ควรทำให้มีแบรนด์ดิ้งมีคุณภาพ อีกทั้งประเทศไทย มีสินค้าหลักในการส่งออกที่เป็นยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง แตกต่างจากประเทศมีจีดีพีสูงและรายได้เข้าสู่ประเทศจำนวนมาก ไม่ได้มาจากสินค้ามีคุณภาพเท่านั้น มาจากรายได้จากการสร้างแบรนด์ โดย แบรนด์ที่แท้จริง สามารถวัดมูลค่าและคุณค่าได้ ซึ่งคุณค่าที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย

“หลายคนมองเศรษฐกิจไม่ดี ยิ่งไม่ดี ยิ่งไม่ต้องลงทุน แต่ต้องไปดูเศรษฐกิจไม่ดี เพราะอะไร อย่างในประเทศที่เศรษฐกิจมีจีดีพีสูง สามารถนึกถึงแบรนด์ของประเทศนั้นได้เลย แต่ในประเทศกำลังพัฒนา จะไม่สามารถนึกถึงแบรนด์ต้นๆ ของประเทศนั้นได้”

อีกทั้งการสร้างแบรนด์ เป็นเรื่องกลยุทธ์ ในระยะยาว ที่ผู้บริหารระดับบนต้องร่วมวางแผน ต้องมีหลักการในการดำเนินการให้ถูกต้อง โดยจะส่งผลต่อการสร้างคุณค่าและสร้างความรู้สึก ไปจนถึงร่วมสร้างฐานลูกค้าประจำที่เป็นแฟนของแบรนด์ หรือ ซูเปอร์แฟน (Superfans) ร่วมให้ความสนใจและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสมอ

ดัน ‘BFV Model’ สู่ดัชนีประจำปี เสนอรัฐ ก.ล.ต. หนุนโกลบอลแบรนด์ ดึงซูเปอร์แฟน