เปิดสูตรโต โบว์เบเกอรี่ ยึดหัวหาด เซเว่น อีเลฟเว่น-สตาร์บัคส์-คาเฟ่อเมซอน
ถอดสูตรโต 'โบว์เบเกอรี่' ที่ยึดทำเล เซเว่น อีเลฟเว่น คาเฟ่ อเมซอน สตาร์บัคส์ พร้อมแผนล่าสุดได้ขยายเข้าไปจัดตั้งโรงงานในประเทศกัมพูชา รองรับพาร์ทเนอร์ที่เข้าไปเปิดสาขา วางเป้าปั้นแบรนด์สู่ตลาดโลก ลุยส่งออกไปทั่วโลก ส่วนแผนใน 7 ปีเดินหน้าเข้าตลาด SET
เป็นหนึ่งในแบรนด์ผู้ประกอบการไทย ที่เริ่มต้นจากการเปิดร้านเล็กๆ กับเบเกอรี่ จัดตั้งร้านอยู่ในซอยที่บ้าน สามารถผลักดันธุรกิจเบเกอรี่ ขยายตัวและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าไปจนสู่ร้านคัดสรร ร้านคาเฟ่ อเมซอน และเซเว่น อีเลฟเว่น
พร้อมกันนี้ยังมีการขยายไปสู่ ร้านสตาร์บัคส์ โดยโบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ ได้เป็นผู้ผลิตเบเกอรี่ส่งให้เช่นกัน โดยทั้งหมดเป็น 3 รายใหญ่ของทั้ง ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีสาขามากสุดในไทย รวมถึงร้าน คาเฟ่ อเมซอน และร้าน สตาร์บัคส์ ต่างเป็นร้านกาแฟยอดนิยมและมีสาขาจำนวนมากในประเทศ
การนำแบรนด์ โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งนั้น เส้นทางไม่ได้ราบเรียบ แต่เต็มไปด้วยอุปสรรคหลายด้าน แต่จากความมุ่งมั่นของผู้ก่อตั้งแบรนด์ทั้งสองคน ที่เป็นทั้งซีอีโอและคู่ชีวิตคือ “รุจา สดเเสงเทียน (คุณโบว์) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ จํากัด และ “วิสิทธิ์ สดแสงเทียน” (คุณดำ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ จำกัด
โดยต้องการร่วมส่งต่อ เบเกอรี่ที่อร่อย และมีคุณภาพ เพื่อสร้างขนมในทุกชิ้นมีรสชาติที่พิเศษ เหมือนทำทานเองในครอบครัว พร้อมมุ่งสร้างสรรค์ของเบเกอรี่รูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงได้รับผลตอบรับที่ดีอย่างมาก ยกตัวอย่าง ทัฟโรลสังขยาใบเตย ที่กำลังได้รับความนิยมในร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ที่เมื่อสินค้าวางจำหน่ายจะหมดลงอย่างรวดเร็วตลอด
ย้อนเส้นทางของโบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเปิดร้านในทำเลที่บ้าน ที่ “รุจา สดเเสงเทียน" หรือ คุณโบว์ และมี “ วิสิทธิ์ สดแสงเทียน” ได้เข้ามาช่วยธุรกิจนี้ ภายหลังที่ออกจากการทำงานอาชีพครู สอนวิชาพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นอาชีพที่รัก แต่ใช้ความเชี่ยวชาญที่เคยทำอาชีพ พนักงานเซลล์มาก่อน มาช่วยธุรกิจร้านของภรรยา
โดย คุณโบว์ ได้เปิดร้านเบเกอรี่ ในช่วงปี 2542 ชื่อร้าน “โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ : Bow Bakery House" โดยได้สูตรมาจากคุณแม่ หลังจากมีช่วงเวลาว่างในการช่วยดูแลธุรกิจครอบครัว ในการทำบัญชี ส่วนก่อนหน้านี้คุณโบว์ ทำงานทั้งในองค์กรต่างชาติก่อนมาช่วยธุรกิจที่บ้าน
จึงเริ่มนำสินค้าไปฝากขายในโรงเรียนและร้านกาแฟต่างๆ ในหลากหลายทำเล แต่พบว่า เมื่อนำสินค้าไปฝากขายแล้ว จะต้องรับสินค้าคืนเมื่อขายไม่หมด กลายเป็นอีกความเสี่ยงและเป็นความยากของการนำสินค้าไปฝากขายผ่านตัวกลาง จึงเริ่มคิดเปลี่ยนใช้การขายสินค้าให้แก่ร้านค้าเลย พร้อมใช้แนวทางการแบ่งรายได้ให้แก่ร้านค้าเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ได้เริ่มนำสินค้าไปทำตลาดผ่านร้านพรชัย บางลำพู ที่เป็นร้านขอฝากในบางลำภู โดยเป็นการขายขาด จึงทำให้แบรนด์กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ต่อจากนั้นในปี 2545 ได้ขยายไปสู่ร้านบ้านไร่กาแฟ คอฟฟี่บอย อินทนิล และ ร้านกาแฟคัดสรร ในร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น โดยได้พัฒนาสูตรและการผลิต นำไปสู่การวางจำหน่ายในร้านได้สำเร็จ จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแบรนด์ ทำให้มีการผลิตเบเกอรี่มากขึ้น
“การขายขนมในร้านคัดสรร ได้มีการพัฒนาขนมและทำงานใกล้ชิดร่วมกับเซเว่น อีเลฟเว่นมาตลอด ทั้งการพัฒนาคุณภาพและ การกำหนดราคาขายสินค้า ทุกอย่างต้องใช้เวลาและความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง”
ในปัจจุบันวางตลาด ในร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น มากกว่า 13,000 สาขา และร้านคัดสรร ประมาณ 4,000-5,000 สาขา จากจุดเริ่มต้นในร้านคัดสรรที่ 30 สาขาเท่านั้น ก่อนขยายสาขาต่อเนื่อง โดยทำงานร่วมกับ คัดสรร เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว
ธุรกิจต้องก้าวไปทีละสเต็ป 16 ปี ไม่มีลัดสูตรทางลัด
แม้ว่าจะเห็นเบื้องหน้าของ โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ ที่ประสบความสำเร็จ แต่ทุกอย่างไม่มีทางลัด มาจากการวางแผนของผู้ก่อตั้ง ที่ตั้งใจให้ธุรกิจมีการขยายตัวไปทีละสเต็ปๆ และลงทุนด้วยความระมัดระวัง ใส่ความมุ่งมั่นสร้างแบรนด์เติบโตอย่างมั่นคง ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา นับจากเริ่มต้นสร้างแบรนด์
ทำให้จากแบรนด์ที่เริ่มต้นด้วยห้องแถว ได้ขยายตัวไปสู่การสร้างโรงงานใหม่ในการผลิตขนมเบเกอรี่ ขนาดพื้นที่ 4 ไร่ ในปี 2556 ลงทุน 200 ล้านบาท ด้วยผู้ที่ก่อตั้งสองคน ที่เป็นตั้งแต่เพื่อนที่เรียนในโรงเรียนเดียวกัน ตั้งแต่ระดับมัธยม ก่อนไปเรียนในคณะเดียวกัน ระดับปริญญาตรีที่ คณะบริหารธุรกิจ (BBA) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบค (ABAC) ต่อมา คุณวิสิทธิ์ เรียนจบปริญญาโท บริหารธุรกิจ (MBA) ที่ ABAC ส่วน คุณโบว์ ไปจบปริญญาโท ด้านไฟแนนซ์ที่อังกฤษ
ในปัจจุบันมีกำลังการผลิตสินค้าต่อวันกว่า 1 แสนชิ้น มีจำนวนสินค้ากว่า 200 เอสเคยู ก้าวสู่ผลิตเบเกอรี่โฮมเมดกึ่งอุตสาหกรรมรายใหญ่ในไทย ที่ยังคงให้มีพนักงานร่วมผลิตแบบโฮม เป็นอีกเคล็ดลับความอร่อยของการทำเบเกอรี่ ไม่ได้ให้เครื่องจักรผลิตทั้งหมด ในปัจจุบันมีพนักงานร่วมทำงานในองค์กรกว่า 450 คนแล้ว
สำหรับร้าน คาเฟ่ อเมซอน วางจำหน่ายในหลายสาขาทั่วประเทศมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว เป็นกลุ่มขนม อย่างทั้ง ขนมปังเนยสด ขนมปังกระเทียม ขนมขาไก่ เป็นต้น
พร้อมขยายไปสู่การเสนอสินค้าไปในร้าน สตาร์บัคส์ ที่ใช้เวลาตรวจสอบโรงงานถึง 6 เดือน และมีกลุ่มสินค้าหลากหลาย รวมถึงสินค้าขนมตามช่วงซีซั่นต่างๆ แต่การที่จะเข้าทั้งสองร้านได้นั้น ต้องผ่านมาตรฐานและการตรวจสอบอย่างเข้มข้น พร้อมผ่านมาตรฐานในทุกขั้นขั้นตอน
อีกทั้งแม้แบรนด์จะเข้าสู่ช่องทางจำหน่ายรายใหญ่ในประเทศได้แล้ว ต้องมีการพัฒนาสินค้าต่อเนื่อง โดยต้องมีการสร้างสรรค์และคิดค้นเมนูใหม่ๆ ตลอดเวลา โดยมีคุณโบว์ ทำหน้าที่ร่วมคิดสูตรจากความชอบและในการทำขนม พร้อมด้วยทีมพัฒนาและวิจัย (อาร์แอนด์ดี) ในการร่วมยกระดับมาตรฐานการผลิตและสูตรต่างๆ ไม่มีคำว่าหยุดนิ่ง โดยเฉลี่ยจะมีขนมแบบใหม่ ออกมาประมาณเดือนละ 2 ครั้ง
The next chapter สู่การปักธงโรงงานแห่งแรกที่กัมพูชา
“วิสิทธิ์” กล่าวถึง สเต็ปต่อไปของแบรนด์ โบว์ เบเกอรี่ สู่ตลาดต่างประเทศ โดยได้ลงทุนสร้างโรงงานแห่งแรกในต่างประเทศที่กัมพูชา เมืองพนมเปญ พร้อมใช้งบลงทุน 30 ล้านบาท จะเริ่มกำลังการผลิตในเดือน พ.ย.2566 เบื้องต้นมีกำลังการผลิตที่ 3-4 หมื่นชิ้นต่อวัน พนักงานรวม 20 คน เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าหลักของแบรนด์ที่ได้ขยายธุรกิจออกไปในต่างประเทศ ทั้งเซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีการเปิดสาขาแล้ว 90 สาขา สตาร์บัคส์ ประมาณ 35 สาขา และ คาเฟ่ อเมซอน มีสาขากว่า 200 สาขา
รวมถึงวางแผนที่จะพัฒนาขนม (snack) เพื่อทำตลาดและจำหน่ายในทั่วโลก อย่างในปัจจุบันได้เริ่มผลิตกลุ่มขนมอบกรอบ ส่งไปในตลาดประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 5% ของการผลิตทั้งหมด
วางแผนในระยะยาว จะขยายการส่งออกขนมไทย พร้อมเตรียมแผนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในระยะ 7 ปีข้างหน้า รองรับการนำพาบริษัทก้าวสู่การเป็น องค์กรในระดับโลก หรือ โกลบอลแบรนด์ ปักธงสร้างแบรนด์ขนมจากประเทศไทย ส่งออกไปทั่วโลกเพื่อทำให้ลูกค้าทุกคนต่างรู้จัก
สำหรับเป้าหมายยอดขายรวมในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 500 ล้านบาท ขยายตัว 10-20% จากปีก่อน
“รุจา และ “วิสิทธิ์” สองซีอีโอ ก้าวทิ้งท้ายว่า ได้วางแนวทางการบริหารจัดการแบรนด์ให้เติบโตอย่างมั่นคง ทำให้แม้มีสถานการณ์ภายนอกเปลี่ยนแปลง แต่แบรนด์สามารถขยายตัวได้อย่างดีต่อเนื่อง อย่างในช่วงโควิด บริษัทก็ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
สำหรับแนวคิดสำคัญของสองซีอีโอ ในการขับเคลื่อนองค์กร นอกจาก Passion ในการรักทำธุรกิจเบเกอรี่แล้ว ยังมาจากทั้งสองต่างมีมุมมองที่บวกในการทำธุรกิจ และไม่อยากมองทุกอย่างเป็นอุปสรรค มองเป็นความท้าทายที่ต้องเจอ และเชื่อมั่นว่าจะต้องผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
อีกสิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าทั้งสอง มีทายาทสองคน ทั้งลูกชายและลูกสาว โดยลูกสาวคือ "น้องเบลล์" ประภัสสร สดแสงเทียน กำลังเรียนระดับมหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในนักร้องของวง FLI:P ที่กำลังมาแรง ซึ่งได้หยิบเพลงดังในตำนานยุค 90 "มองนานๆ" ของวง 'Vitamin A' มาคัฟเวอร์ใหม่ กลายเป็นไวรัลในต่างชาติไปเรียบร้อย
สุดปังทั้งครอบครัว!