จับตาก้าวต่อไป 'อมรินทร์' ในมือเจ้าสัว 'ฐาปน'หลังปิดตำนาน 'อุทกะพันธุ์'

จับตาก้าวต่อไป 'อมรินทร์' ในมือเจ้าสัว 'ฐาปน'หลังปิดตำนาน 'อุทกะพันธุ์'

หลังการขายหุ้นทิ้งบิ๊กล็อตของ “ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์” จำนวน 138,387,052 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 13.86% ของหุ้นทั้งหมด ให้กับบริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด ของ 2 เจ้าสัวน้อย “ฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี” ทายาทของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ราชันย์น้ำเมา ด้วยมูลค่า 761 ล้านบาท

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการลาออกของบรรดาผู้ปลุกปั้น อดีตเจ้าของกิจการ หรือธุรกิจครอบครัว “อมรินทร์” ซึ่งประกอบด้วย "เมตตา อุทกะพันธุ์" ทิ้งเก้าอี้ประธานกรรมการ บุตรสาว “ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และเขย “โชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์” กรรมการบริษัท ระหว่างนี้ที่ประชุมกรรมการบริหาร ได้แต่งตั้ง “นายศิริ บุญพิทักษ์เกศ” รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่

เป็นการปิดตำนาน! 47 ปีของธุรกิจครอบครัว “อุทกะพันธุ์” เจ้าของอาณาจักรสื่อครบวงจรรายใหญ่ของเมืองไทย เปลี่ยนมือสู่ตระกูล “สิริวัฒนภักดี” แบบเบ็ดเสร็จ!

จับตาก้าวต่อไป \'อมรินทร์\' ในมือเจ้าสัว \'ฐาปน\'หลังปิดตำนาน \'อุทกะพันธุ์\'

  • ‘อุทกะพันธุ์’ สร้างตำนานวงการหนังสือ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตระกูล “อุทกะพันธุ์” ไม่เพียงทรงอิทธิพลในแวดวงธุรกิจสำนักพิมพ์ หนังสือ ฯ แต่ยังมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานกระตุ้นให้คนไทยอ่านหนังสือผ่านแนวคิดที่ว่า “การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ” ยาวนานถึง 31 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2535

“อมรินทร์” ก่อตั้งโดย “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” และผลิตนิตยสาร “บ้านและสวน” ออกสู่ตลาดในปี 2519 หนึ่งในเรื่องราวน่าสนใจของการทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ คือการที่ผู้นำองค์กร แม่ทัพขับเคลื่อนกิจการสร้างความสำเร็จได้ คือการมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทว่า “ชูเกียรติ” กลับยกให้เป็นเรื่องของ “การมีสติ” เพราะตระหนักตนเป็นคนที่สติปัญญาปานกลาง

“การทำธุรกิจ สติสำคัญกว่าปัญญา เพราะถ้าเอาปัญญานำ จะหลงระเริงกันไปใหญ่”

แม้อมรินทร์ จะเป็นกิจการครอบครัว แต่ก็เป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดลหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ที่ผ่านมากิจการมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งเจอจุดเปลี่ยนสำคัญ เจอพายุเทคโนโลยีถาโถม และการตัดสินใจประมูลใบอนุญาตประกอบการกิจการทีวีดิจิทัล(ไลเซนส์) กลายเป็นความ “เพลี่ยงพล้ำครั้งใหญ่” บบนเส้นทางธุรกิจ

  • กระอักเลือด เพราะ “ทีวีดิจิทัล”

“อมรินทร์” แข็งแกร่งในบนสังเวียนธุรกิจสำนักพิมพ์ ทว่า วันหนึ่งประเทศไทยต้องเปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อกสู่ “ทีวีดิจิทัล” ภาครัฐจึงเปิดประมูลใบอนุญาต ทำให้เศรษฐี สื่อ ทุนใหญ่ต่างๆตบเท้าเข้ามาชิงไลเซ่นส์ด้วยการทุ่มเม็ดเงินมหาศาล! โดยไม่รู้ว่ากำลังจะพาธุรกิจเข้าสู่หายนะ!ครั้งใหญ่

ท่ามกลางการเกิดทีวีดิจิทัล เป็นจังหวะเดียวกับพายุเทคโนโลโยีถาโถมหรือเข้ามา “ดิสรัป” ธุรกิจดั้งเดิม โดยเฉพาะสื่อเก่าๆ(Traditional Media) จนยากจะต้านแรงเสียดทาน เพราะมี “สื่อใหม่” สารพัดแพลตฟอร์มเข้ามาแย่งเม็ดเงินโฆษณาแสนล้าน! ที่ผู้ประกอบการหมายปอง

จับตาก้าวต่อไป \'อมรินทร์\' ในมือเจ้าสัว \'ฐาปน\'หลังปิดตำนาน \'อุทกะพันธุ์\' เส้นทางอมรินทร์ และการเข้ามาของทุน "วัฒนภักดี"

ธุรกิจทีวีดิจิทัล เดินไม่ถึงครึ่งทางของไลเซ่นส์ 15 ปี(หมดอายุปี 2572) แต่กลับรากเลือดถ้วนหน้า และ “อมรินทร์” เจ้าของช่อง “อมรินทร์ 34 เอชดี” เป็นหนึ่งที่ผู้เล่นรายใหญ่ที่ออกสตาร์ททำทีวีดิจิทัลไม่กี่ปีต้องเผชิญ “ขาดทุนบักโกรก” เกือบ “พันล้านบาท”(ระหว่างปี 2557-2559) เมื่อสถานการณ์ธุรกิจร่อแร่ ทำให้ต้องหาทางออก ด้วยการหา “พันธมิตร” ใหม่มาช่วยกอบกู้กิจการ “เสริมสภาพคล่องทางการเงิน” เพื่อให้อยู่ต่อได้ จึงดึงกลุ่ม “วัฒนภักดี” มาเพิ่มทุนด้วยมูลค่า 850 ล้านบาท และถือหุ้น 47.62% ที่สำคัญกลายเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่” ในอมรินทร์ทันที

  • ‘ฐาปน’ คุมธุรกิจเบ็ดเสร็จ 6 ปีแล้ว

หลังเจ้าสัว “หนุ่ม ฐาปน” เข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน “อมรินทร์” นอกจากเข้าไปนั่งเป็น “ประธานคณะกรรมการบริหาร” ยังส่งทีมงาน ผู้บริหารเข้ามากุมบังเหียนตั้งแต่ปี 2559 และทยอยเข้ามาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น กำพล ปุญโสณี, นรรัตน์ ลิ่มนรรัตน์, เรืออากาโท กมลนัย ชัยเฉนียน เป็นต้น(ข้อมูล ณ สิ้นปี 2565)

ถือว่ามีอำนาจบริหารเบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบันเป็นเวลาราว 6 ปีเศษ กระทั่งการขายหุ้นบิ๊กล็อตของท “ระริน” ทำให้สิ้นสุดการเป็นเจ้าของอาณาจักรสำนักพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของเมืองไทย

  • จับทิศซีนเนอร์ยีอาณาจักร “เจ้าสัวเจริญ”

ปฐมบทใหม่ของ “เจ้าสัวหนุ่ม ฐาปน” ในการขับเคลื่อน “อมรินทร์” จากนี้ไปน่าติดตาม เพราะจะเห็นการ “ซีนเนอร์ยี” การบริการจัดการ เสริมแกร่งอาณาจักรของ “ไทยเบฟ” และอาณาจักร “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” อย่างไรบ้าง

จับตาก้าวต่อไป \'อมรินทร์\' ในมือเจ้าสัว \'ฐาปน\'หลังปิดตำนาน \'อุทกะพันธุ์\'

Big Data ของอมรินทร์ที่ทำให้รู้ Behavior ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

หากพิจารณา “จุดแข็ง” ของอมรินทร์ บนเส้นทางธุรกิจ 47 ปี มี “ฐานนักอ่าน” ครอบคลุมทุกเพศทุกวัย “นับล้าน” การมีสมาชิกผ่านร้านหนังสือ “นายอินทร์” ถือเป็น “ขุมทรัพย์ข้อมูล”(Big Data) การมีหน้าร้านนายอินทร์กว่า 100 สาขา มีสายส่งหนังสือไปยังร้านค้าหนังสือประเทศ การมีธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร มีตราสัญลักษณ์ AM Green ตอบโจทย์ภารกิจรักษ์โลก ธุรกิจอีเวนต์ มีสื่อในมือที่ Reach คนมหาศาล เช่น โซเชียลทุกแพลตฟอร์มมีคนติดตามกว่า 15 ล้านราย(Followers) ผู้ร่วมงานอีเวนต์ 3 ล้านราย ฯ ล้วนต่อยอดธุรกิจได้

งาน Thairath Forum 2023 จัดขึ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แจงภาพที่บรรดานักธุรกิจชั้นนำเข้าพบ รวมถึงกล่าวถึงการพูดคุยกันตอนหนึ่งถึง “ฐาปน” เน้นเรื่องการพัฒนาด้านการศึกษาเป็นหลัก ค่อนข้างสอดคล้องกับธุรกิจอมรินทร์ไม่น้อย

นอกจากนี้ ฐาปน กล่าวในรายงานประจำปี 2565 ถึงการขับเคลื่อนธุรกิจ ของกลุ่มอมรินทร์ หลังผ่านพ้นโควิด-19 ระบาด เผชิญความท้าทายเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ราคาพลังงานสูง อัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนการทรานส์ฟอร์มของดิจิทัล 2.0 บริษัทยังคงให้ความสำคัญในการยกระดับโมเดลธุรกิจทุกมิติ ทั้งการพัฒนาแบรนด์ควบคู่ขยายธุรกิจ เพื่อต่อยอดให้กับกลุ่มธุรกิจหลัก มีพัฒนาการที่ดีในการทำธุรกิจสื่อครบวงจร มีสินค้าหลากหลายตอบสนองความต้องการของลูกค้า

จับตาก้าวต่อไป \'อมรินทร์\' ในมือเจ้าสัว \'ฐาปน\'หลังปิดตำนาน \'อุทกะพันธุ์\'

โปรเจคต์ลงทุนอมรินทร์

ที่ผ่านมา การซีนเนอร์ยีธุรกิจกับไทยเบฟ เห็นชัดคือการให้ “อมรินทร์” เป็นหัวหอกสำคัญในการลุยงานอีเวนต์ของเครือ เช่น งานด้านความยั่งยืนใหญ่สุดในเอเชียอย่าง Sustainability Expo การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน การร่วมโครงการ ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม(ประเทศไทย) ซึ่งไทยเบฟเป็นหนึ่งในพี่ใหญ่ด้วย

อีกก้าวสำคัญของ “อมรินทร์” เกิดขึ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น “อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์” พร้อมวางโครงสร้างธุรกิจ มุ่งสู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว

การเปลี่ยนชื่อบริษัท เวลานั้น “ระริน” ให้เหตุผลในการ “สร้างภาพจำใหม่" เพื่อที่บริษัทจะขับเคลื่อนธุรกิจไปไกลกว่าสำนักพิมพ์ ผลิตหนังสือ มุ่งสู่การเติบโตใหม่ๆ ผลักดันสู่องค์กรชั้นนำด้านการสื่อสารครบวงจร

บริษัทยังวางเงินลงทุน 2,100 ล้านบาท ขยายธุรกิจ มองหาโอกาสในการควบรวมและซื้อกิจการหรือM&A สไตล์โตทางลัดของ”เจ้าสัวหนุ่ม ฐาปน” และ “เจ้าสัวเจริญ” ด้วย รวมถึงการเตรียมเปิดร้าน "นายอินทร์ใหญ่สุดในประเทศไทยที่โครงการ "วัน แบงค็อก" โปรเจคต์ “1.2 แสนล้านบาท” รวมถึงการจัดอีเวนต์ที่จะดึงงานแฟนมีทติ้ง คอนเสิร์ตขนาดย่อม ไปจัดที่ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” เพื่อให้มีงานและรายได้ตลอดทั้งปี เป็นต้น

เหล่านี้เป็นเพียงการ "ซีนเนอร์ยี" อาณาจักรธุรกิจเจ้าสัวเจริญ ผ่านทายาทเจ้าสัว "หนุ่ม ฐาปน" แม่ทัพไทยเบฟ เท่านั้น และต่อไปจะเห็นอะไรใหม่ๆ ยังต้องติดตามต่อ