"ชนะชัยรีไซเคิลกรุ๊ป" ธุรกิจเปลี่ยนขยะเป็นทองคำ

"ชนะชัยรีไซเคิลกรุ๊ป" ธุรกิจเปลี่ยนขยะเป็นทองคำ

คุณเคยสังเกตไหมว่าในหนึ่งวันเราสร้างขยะกี่ชิ้น ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากบุคคลหนึ่ง จากชุมชนหนึ่ง เราไม่ทันได้คำนึงถึงการเดินทางของขยะเหล่านั้น ว่าหากหลาย ๆ ครัวเรือนรวมกัน จะได้กองขยะมหึมาขนาดไหน และจะจัดการไม่ให้กลายเป็นปัญหาขยะล้นโลกได้อย่างไร

ส่วนสำคัญของการจัดการขยะให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นก็คือการรีไซเคิล วันนี้มาทำความรู้จักกับบริษัท ชนะชัยรีไซเคิลกรุ๊ป ผู้นำในการจัดการขยะรีไซเคิลของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นธุรกิจรีไซเคิลครบวงจร ทั้งรับซื้อและคัดแยก ,แปรรูป ย่อย อัดเป็นก้อน และ ขนส่ง มีรถบรรทุกและทีมงานขนส่ง พร้อมส่งวัสดุไปยังโรงงานรีไซเคิลทั่วประเทศไทย

กับทายาทรุ่นที่ 2 วลัยพร เสริมวราพันธ์ หรือ คุณเกด (รองประธานบริษัทชนะชัยรีไซเคิลกรุ๊ป) คุณเกดเล่าถึงที่มาของบริษัทว่า ก่อตั้งโดยคุณพ่อ ชนะชัย เสริมวราพันธ์  เดิมทีคุณพ่อทำธุรกิจค้ายางพาราอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 แต่ด้วยวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง จึงได้ย้ายมาที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร และเริ่มต้นธุรกิจรีไซเคิลด้วยเงิน 1 แสนบาท กับรถกระบะ 1 คัน จากการเป็นร้านรับซื้อขนาดเล็ก ในช่วงปีพุทธศักราช 2541 และค่อย ๆ ขยายกิจการสาขาเพิ่มขึ้น ภายในระยะเวลา 7 ปี จึงเปลี่ยนมาเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่

ดำเนินธรุกิจด้วยหลักการที่โปร่งใส การค้าขายที่ยุติธรรม โดยรักษาคำมั่นสัญญากับพันธมิตรว่าจะไม่รับซื้อรายย่อย จะไม่แย่งลูกค้ากัน ซึ่งหมายความว่า

ทางบริษัทจะไม่มีตราชั่งขนาดเล็กสำหรับรายย่อยเลย มีแต่ตราชั่งขนาดใหญ่สำหรับรถกระบะ หรือรถบรรทุก จนได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าและพันธมิตรมากมายทั่วทุกพื้นที่ ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี

\"ชนะชัยรีไซเคิลกรุ๊ป\" ธุรกิจเปลี่ยนขยะเป็นทองคำ

การรับช่วงต่อของธุรกิจจากคุณพ่อไม่ใช่อุปสรรคของคุณเกด เพราะได้เข้ามาช่วยกิจการเคียงคู่มาตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย และได้นำระบบการจัดการต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาการทำงาน แต่มีพบอุปสรรคบ้าง เนื่องด้วยเป็นธุรกิจที่เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

นโยบายภาครัฐที่นำขยะจากต่างประเทศเข้ามา ทำให้ขยะล้น ส่งผลกระทบให้ราคารับซื้อลดลง คนก็ไม่เก็บมาขาย ซึ่งเป็นเรื่องของ Demand Supply ที่เกิดขึ้นในทุกธุรกิจ และยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผู้คนไม่สามารถออกจากบ้านได้ รับซื้อขยะได้น้อยลง

แต่คุณเกดพลิกวิกฤตนี้เป็นโอกาสในการพัฒนา เพื่อรองรับการฟื้นตัวและการเติบโตทางธุรกิจ ด้วยการลงทุนซื้อเครื่องจักรขนาดใหญ่ สำหรับย่อยกระดาษ ทำให้พนักงานก็ยังคงมีรายได้และมีงานทำในช่วงโควิด “ขอบคุณธนาคารที่ให้การสนับสนุนด้วยสินเชื่อธุรกิจพร้อมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้งาน อย่าง Payroll “มีตังค์” ที่ช่วยให้พนักงานสามารถเบิกเงินล่วงหน้าได้”

เมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้ตัดสินใจสมัครสินเชื่อเพื่อลงทุนติดตั้ง Solar Cell ซึ่งคุณเกดมองว่าคุ้มมาก ๆ “เสมือนเป็นการนำส่วนลดของค่าไฟในโรงงาน เป็นค่าใช้จ่ายกับธนาคาร และยังมีผู้จัดการสัมพันธ์ลูกค้าที่ให้คำแนะนำเป็นอย่างดี โดยเฉพาะบางเรื่องของการเงินที่เรายังไม่รู้ นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ร่วมงานสัมมนา และได้เจอเพื่อนเจ้าของธุรกิจใหม่ ๆ อีกด้วย”

\"ชนะชัยรีไซเคิลกรุ๊ป\" ธุรกิจเปลี่ยนขยะเป็นทองคำ

ในช่วงนี้เองที่คุณเกดเริ่มมองหาช่องทางใหม่ ๆ จนได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปจัดการเรื่องขยะรีไซเคิลให้กับโรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทย เป็นหนึ่งในโครงการที่คุณเกดภาคภูมิใจ ด้วยการส่งทีมงานเข้าไปให้ความรู้การคัดแยกขยะกว่า 200 แผนกของโรงพยาบาล จนปัจจุบันนี้ถือว่าการคัดแยกขยะรีไซเคิลของโรงพยาบาลประสบความสำเร็จ และสามารถวัดเป็นรายได้กลับไปให้ทางโรงพยาบาลได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ด้วยศักยภาพและมาตรฐานของบริษัทชนะชัยรีไซเคิลกรุ๊ป ได้เซ็นสัญญากับบริษัทเอ็นวิคโค (ENVICCO) ในการจัดส่งขวด PET เพื่อนำไปรีไซเคิลกลับไปใช้ในกลุ่มสินค้าเดิม (Bottle-to-Bottle Recycling)  ตามหลักการจัดการทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อคืนคุณค่าให้กับพลาสติกใช้แล้ว

     หลังจากได้พูดคุย สัมผัสได้ถึงแรงบันดาลใจของคุณเกดที่อยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันทำให้โลกเราน่าอยู่ขึ้น ทั้งมีส่วนช่วยสังคมและลดภาวะโลกร้อนจากการฝังกลบขยะ

“ในอนาคตอยากให้ทุกคนได้เห็นคุณค่าของขยะแต่ละชิ้นก่อนจะทิ้ง เช่น ดื่มน้ำเสร็จ เก็บขวด PETเลยเพราะนี่คือ 1 บาท ปากกาหมึกหมด หรือเสียแล้ว ก่อนจะทิ้งเลยอยากให้ลองแยกว่า นี่คือพลาสติก อะลูมิเนียม”

โดยเริ่มจากในชุมชนใกล้ ๆ ของบริษัทชนะชัยรีไซเคิลกรุ๊ป ที่คุณเกดสนับสนุนถุงขยะรีไซเคิล เพราะเชื่อว่า หากถุงขยะในท้องตลาดปัจจุบันราคาต่ำลงกว่านี้ ทุกครัวเรือนแยกขยะมากขึ้น

นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลสนับสนุนใบขออนุญาตในการประกอบอาชีพสำหรับธุรกิจรีไซเคิล เพราะไม่ว่ารายเล็ก-รายใหญ่ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้เท่ากัน”

ปัจจุบันบริษัทชนะชัยรีไซเคิลกรุ๊ป รับซื้อเศษเหล็ก เศษกระดาษ พลาสติก PET เศษแก้ว และลังเบียร์ทุกชนิด ขยะที่รับมาทุกชิ้นล้วนเป็นขยะรีไซเคิล ส่วนขยะ Refused Derived Fuel, RDF หรือขยะกำพร้า นำไปทำเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อไปได้อีกด้วย ถือว่าเป็นธุรกิจที่ดำเนินตามการพัฒนาที่ยั่งยืน และเหมาะสมกับคำที่กล่าวกันว่า “ธุรกิจเปลี่ยนขยะเป็นทองคำ”