ภาคเอกชนวัสดุก่อสร้าง-ค้าปลีก ทรานส์ฟอร์มใช้ MarTech เสริมแกร่งธุรกิจ

ภาคเอกชนวัสดุก่อสร้าง-ค้าปลีก ทรานส์ฟอร์มใช้ MarTech เสริมแกร่งธุรกิจ

บทสรุปจากเวทีสัมมนา DAAT ในหัวข้อ MARTECH & TECHNOLOGY ภาคธุรกิจทั้งจาก โมเดิร์นฟอร์ม คิวช่าง พีที ต่างกำลังเร่งทรานส์ฟอร์มองค์กร ด้วยการใช้ฐานข้อมูลจากดาต้า มาสร้างประโยชน์ทางธุรกิจ เชื่อมต่อทั้งการให้บริการ และการวางแผนการตลาดอย่างครบวงจร

งานเสวนาสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ในเวที MARTECH & TECHNOLOGY ที่มีหัวข้อ MarTech in Action: Real-world Insights and Lessons Learned from Marketing and Technology Integration Brand ในแต่ละอุตสาหกรรม มีการนำ Martech และ CDP ไปใช้อย่างไรบ้าง?”

ภาคเอกชนในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และธุรกิจค้าปลีกสถานีบริการน้ำมัน ทั้งโมเดิร์นฟอร์ม คิวช่าง และ พีที ต่างกำลังเร่งทรานฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล ด้วยการใช้ “Martech” ที่มาจากคำว่า “ Marketing Technology” หมายถึงการนำเทคโนโลยีมาเป็นกระบวนการสำคัญในการทำตลาด 

 

และ CDP หรือ Customer Data Platform ที่เป็น โปรแกรมในการช่วยเก็บข้อมูลของลูกค้า มาร่วมบริหารจัดการข้อมูล หรือ ดาต้า (DATA) ที่มีปริมาณมหาศาล เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ทางธุรกิจ พร้อมเชื่อมต่อทั้งการให้บริการ และการวางแผนการตลาด รวมถึงมีการดึง AI มาใช้ นำมาร่วมเปลี่ยนโลกการวางแผนทำตลาดยุคใหม่ ที่เน้นทำตลาดแบบเฉพาะบุคคลมากขึ้น ทั้งแคมเปญ และ โปรโมชั่น ต่างๆ

สุไพบูลย์ ชูใหม่ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์บ้าน เฟอร์นิเจอร์ครัว กล่าวว่า โมเดอร์นฟอร์มได้ดำเนินธุรกิจมากว่า 40 ปีแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาองค์กรมีฐานข้อมูลจำนวนมาก

 

จึงต้องมุ่งนำเทคโนโลยีมาร่วมบริหารจัดการข้อมูลให้เป็นระบบและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงวางระบบ CDP และมีการนำดาต้า ที่มีอยู่ไปบริหารจัดการ จัดกลุ่มลูกค้า (เชคเมนต์) วางแผนทำการตลาด ช่วยในการสื่อสารแบบสองทาง พร้อมร่วมสนับสนุนการทำโปรโมชั่นให้ตรงใจกับกลุ่มลูกค้ามากที่สุด

ขณะเดียวกันบริษัทยังมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายในระยะยาว 1-2 ปีนับจากนี้ จะมีการนำเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ไปร่วมสร้างผลิตภัณฑ์ให้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด ตั้งแต่กระบวนการผลิต การออกแบบดีไซน์ ไปจนถึงการส่งมอบให้แก่กลุ่มลูกค้าในทุกกลุ่ม

ปกเขตร รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมกซ์บิท ดิจิทัล แอสเซท จำกัด (MAXBIT DIGITAL ASSET ) ในเครือ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี มีธุรกิจในเครือย่างหลากหลาย ทั้งสถานีบริการน้ำมันพีที ร้านกาแฟพันธุ์ไทย ไปจนถึงธุรกิจค้าปลีก ทั้งหมดจะต้องมีวางระบบเพื่อเชื่อมโยงเก็บฐานข้อมูลของลูกค้า ผ่าน CDP เพื่อทำให้เกิดฐานข้อมูล ดาต้า สามารถช่วยสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง โดยเมื่อเข้าใจลูกค้ามากเท่าใด (Customer journey) จะยิ่งเพิ่มจุดแข็งและสร้างแต้มต่อในการแข่งขันมากขึ้น

“ในปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่ใช้บัตรสมาชิก พีที แมกการ์ด มีจำนวนกว่า 19 ล้านคน ทั้งหมดคือ digital asset ที่มีความสำคัญมาก โดยในระยะต่อไปสามารถนำดาต้า ไปใช้บริการจัดการ ทั้งเรื่อง cross-sell และ up-sell ในการช่วยเพิ่มยอดขาย และนำไปใช้เพื่อเพิ่มสร้างประสิทธิภาพในองค์กร”

แผนในระยะยาว 2-3 ปีข้างหน้า จะเชื่อมโยงกับธุรกิจในเครือทั้งหมด โดยผสมทั้งการใช้ Data driven marketing ในการเก็บข้อมูลลูกค้า การใช้เครื่องมือ แมชชีน เลิร์นนิง ในการเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้า และใช้ เจเนอเรทีฟ เอไอ (generative AI) เพื่อร่วมต่อยอดไปสู่การสร้างแคมเปญและโปรโมชั่นให้แก่ลูกค้า ไปจนถึงเปรียบเทียบข้อมูลแคมเปญการตลาดต่างๆ ผลตอบรับกับลูกค้า ทั้งหมดจะสร้างและยกระดับประสิทธิภาพทางธุรกิจให้สูงยิ่งขึ้น (business efficiency)

กันธิยา ดำริห์กุล Marketing Team Lead,  Q-CHANG (คิวช่าง) แพลตฟอร์มศูนย์รวมช่างคุณภาพและบริการดูแลบ้านครบวงจร กล่าวถึง การนำเครื่องมือ CDP มาร่วมบริหารจัดการเก็บข้อมูลต่างๆ ให้เป็นระบบ จากที่ผ่านมา ข้อมูลขององค์กรจะกระจายไปในส่วนต่างๆ โดยเมื่อมีการจัดอย่างเป็นระบบและรวมไว้ในที่เดียว จึงทำให้ทีมการตลาด สามารถนำข้อมูลมาวางแผน สร้างแผนการตลาดได้อย่างรวดเร็ว เชื่อมต่อสร้างเชคเมนต์ต่างๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

“การนำข้อมูลมาใช้อย่างรวดเร็วและตรงกลุ่มจะยิ่งเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากในปัจจุบันโลกการแข่งขันในธุรกิจต้องใช้ความรวดเร็ว”

แผนในระยะ 1 ปีข้างหน้า จะมีการนำ MarTech มาร่วมพัฒนาในธุรกิจอย่างหลากหลายส่วนทั้ง การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า (customer experience) ในกลุ่มลูกค้า b2b และ b2c ตั้งแต่การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงใจกลุ่มลูกค้าอย่างสูงสุด การกำหนดราคาให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าในแต่ละพื้นที่ด้วย Dynamic Pricing เพื่อให้ราคาสินค้าในแต่ละพื้นที่สะท้อนต้นทุนที่เหมาะสมมากที่สุด เช่น ใน กทม. และต่างจังหวัด จะมีราคาสินค้าที่สอดคล้องกับแต่ละทำเล รวมถึงการนำเทคโนโลยีไปช่วยสร้าง Working Route ให้แก่กลุ่มช่างที่ทำงาน สามารถวางแผนบริหารจัดการ สร้างกำหนดเวลาทำงานได้ดีขึ้นและเพิ่มรายได้ในระยะยาว