จด ‘สิทธิบัตร’ ให้ ‘สูตรอาหาร’ ได้หรือไม่ แบบใดเข้าเกณฑ์คุ้มครอง?

จด ‘สิทธิบัตร’ ให้ ‘สูตรอาหาร’ ได้หรือไม่ แบบใดเข้าเกณฑ์คุ้มครอง?

ทำความเข้าใจการจด “สิทธิบัตร” และ “ความลับทางการค้า” มีความแตกต่างกันอย่างไร ให้การคุ้มครองแบบไหน “สูตรอาหาร” แต่ละประเภทควรจดแจ้งอะไร

จากกรณีดรามา “ปังชา” นอกจากจะทำให้เกิดข้อสงสัยในเรื่องลิขสิทธิ์แล้ว ยังเกิดคำถามตามมาว่า ถ้าเกิดเราคิดค้น “อาหารสูตรใหม่” ได้ หรือ มี “สูตรเด็ดประจำตระกูล” จะต้องทำอย่างไรไม่ให้คนอื่นเลียนแบบได้ ?

ข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุไว้ว่า “สูตรอาหาร” และ “กรรมวิธีการผลิต” จะได้รับการปกป้องและคุ้มครองผ่านการจด “สิทธิบัตรการประดิษฐ์” และ “อนุสิทธิบัตร”

สำหรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตรจะให้ความคุ้มครองใน "ผลิตภัณฑ์" ซึ่งในที่นี้รวมไปถึง สูตรอาหาร อีกทั้งยังคุ้มครอง "กรรมวิธี" เช่น การผลิตอาหาร ขั้นตอนการปรุงอาหาร กรรมวิธีการถนอมอาหาร โดยมีข้อแม้ว่า ต้องเป็นสูตรหรือกรรมวิธีที่ถูกคิดค้นขึ้นใหม่ ไม่สามารถคาดเดาถึงผลลัพธ์ได้โดยง่าย และมีความสามารถในการประยุกต์ทางอุตสาหกรรม นั่นก็คือสามารถนำไปผลิตซ้ำได้

อย่างไรก็ตาม ในการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรืออนุสิทธิบัตร ผู้เป็นเจ้าของสิทธิจะต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสูตร กรรมวิธีโดยชัดแจ้ง ว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง ใส่ในปริมาณเท่าไหร่ และมีขั้นตอนการทำอย่างไร ซึ่งจะถูกนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการผลิตอาหารอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ว่าจะเป็นเมนูอาหารชนิดเดียวกัน แต่หากมีปริมาณหรือส่วนผสมสูตร หรือกรรมวิธีการปรุง ไม่เหมือนกัน ผู้อื่นก็อาจยื่นขอรับความคุ้มครองในสูตรสิ่งที่แตกต่างออกไปซึ่งถูกคิดค้นขึ้นใหม่ได้ โดยพิจารณาจาก 

  • ต้องมีส่วนประกอบต่างกันจนทำให้มีผลเชิงเทคนิคทางอาหาร
  • ใส่สัดส่วนต่างกันจนเกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของอาหาร
  • มีสภาวะการประกอบอาหารที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายถึงอุณหภูมิที่ใช้แตกต่างจากเดิมจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของอาหาร  

ใช้กระบวนการต่างกัน เพิ่มเทคนิคใหม่จนเกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของอาหารนั้น

ทั้งนี้สิทธิบัตรอาหาร “คุ้มครองสองส่วน” คือ เฉพาะ “ส่วนผสม” และ “สัดส่วนที่ใส่” เท่านั้น ไม่ได้คุ้มครองอาหารชนิดนั้น ๆ และให้ความคุ้มครองแค่ส่วนประกอบในช่วงที่เปิดเผยในสิทธิบัตรเท่านั้น โดยมีอายุในการคุ้มครอง 20 ปี 

ดังนั้นหากเปิดเผยสูตรบางส่วน และมีบุคคลอื่นคาดเดาส่วนผสมลับได้ แล้วนำไปผลิตจำหน่าย สิทธิบัตรก็จะไม่ครอบคลุมถึงส่วนผสมลับนั้น

เมื่อสูตรหรือกรรมวิธี ได้รับความคุ้มครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าของจะเป็นผู้มี “สิทธิแต่เพียงผู้เดียว” ที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งหากใครต้องการใช้สูตร หรือกรรมวิธี จำเป็นต้องต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของสิทธิก่อน 

  • ความลับทางการค้า

อย่างไรก็ตาม การจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ประเภทสูตรอาหาร จำเป็นต้อง “เปิดเผยสูตร” ให้ทุกคนได้รับรู้ ซึ่งหากเป็นเมนูที่ทำยาก ใช้เวลาคิดค้นนาน จนกลายเป็น “ต้นตำรับ” หรือเป็น “สูตรลับ” ที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ก็คงเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยากหากจะต้องนำความลับประจำตระกูลออกมาเผยแพร่เพื่อแลกกับความคุ้มครอง 

กฎหมายจึงได้เปิดช่องทางไว้สำหรับเหล่าสูตรลับเอาไว้ด้วยการคุ้มครองสูตรอาหารในฐานะ “ความลับทางการค้า” โดยจะต้องเข้าข่ายองค์ประกอบที่กำหนดเอาไว้ใน พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 คือ

1.ต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นความลับ 

2.ต้องเป็นข้อมูลการค้า ไม่ใช้ข้อมูลอย่างอื่น  

3.ต้องอาศัยข้อมูลเพื่อใช้ในการแข่งขันทางธุรกิจการค้า 

4.ต้องมีข้อตกลงในสัญญาห้ามเปิดเผย 

5.ต้องเปิดเผยข้อมูลให้เป็นที่ล่วงรู้แก่บุคคลอื่นโดยทั่วไป ไม่รวมถึงการนำความลับทางการค้าไปใช้เองเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจการค้าของตนเอง

6. ไม่รวมกรณีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องไปเปิดเผย  

ความลับทางการค้า จะให้ความคุ้มครองเจ้าของสูตรอาหาร ในกรณีมีคนขโมยหรือนำความลับไปเปิดเผย แต่ไม่คุ้มครองกรณีมีคนอื่นสามารถคิดค้นได้เองและนำไปจดสิทธิบัตร โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครอง ตราบใดที่สูตรนั้นยังเป็นความลับอยู่

จะเห็นได้ว่า “สูตรน้ำอัดลม” แบรนด์ดังยักษ์ใหญ่ “สูตรทำไก่ทอด” ร้านที่มีสาขาทั่วโลก หรือแม้แต่สูตรส่วนผสมของ“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ที่มีอายุร่วมร้อยปี ก็ยังไม่มีใครล่วงรู้ว่าใช้วัตถุดิบและมีสัดส่วนอย่างไรจนถึงปัจจุบัน 

การจดสิทธิบัตร และความลับทางการค้าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่ก่อนที่จะดำเนินการ ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า สูตรอาหารของตนเหมาะกับการจดแจ้งแบบใด

หากเป็นสูตรอาหารไม่ได้มีความซับซ้อนมาก ใคร ๆ ก็ทำตามได้ แล้ว ควรจดเป็น “สิทธิบัตร” เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายอื่นก๊อปปี้สูตรอาหารของเราไปใช้ แต่หากเป็นสูตรลับและไม่อยากเปิดเผยให้ใครรู้ สามารถจดแจ้งเป็น “ความลับทางการค้า” ได้ 

ทั้งนี้ผู้ประกอบการจำเป็นพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วน ทั้งสิทธิตามกฎหมาย ระยะเวลาการคุ้มครอง ความเสี่ยง ผลกระทบ อำนาจการต่อรองของธุรกิจจากการเปิดเผยข้อมูล เพื่อเลือกทางที่เหมาะกับการดำเนินธุรกิจ