ฟ้องร้อง-โลโก้ลอกเลียนแบบ-หิว คีย์เวิร์ดร้อนแรง จาก “ปังชา”

ฟ้องร้อง-โลโก้ลอกเลียนแบบ-หิว  คีย์เวิร์ดร้อนแรง จาก “ปังชา”

จากประเด็นการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า หรือ Trademark เมนูขนมหวาน “ปังชา” ไม่เพียงทำให้ร้าน “ลูกไก่ทอง” ดังยิ่งกว่าเดิม แต่เป็นในเชิงลบ และยังถูกพาดพิงด้านการให้บริการของพนักงานเกือบทุกสาขาที่ปฏิบัติต่อลูกค้าไม่ดีนัก

ผู้บริโภคยุคดิจิทัลไม่เพียงขุดสารพัด “จุดอ่อน” มาคอมเมนต์ จนอาจกลบเรื่องเครื่องหมายการค้า แต่ไม่ทันไรมีผู้ประกอบการบางรายได้รับเอกสารการฟ้องร้อง ละเมิดลิขสิทธิ์กับร้านอาหารที่ใช้คำว่า “ปังชา” กว่า 102 ล้านบาท ทำให้เกิดแฮชแท็ก #ปังชา พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องบนทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย นำไปสู่การถกเถียงกันว่าจริงๆ แล้วร้านอื่นๆ สามารถใช้คำว่า ปังชา ได้หรือไม่ และเรื่องการฟ้องร้องสามารถทำได้หรือไม่

บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้ ZOCIAL EYE เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 พบผู้คนโพสต์สื่อสารบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับปังชากว่า 19,000 ข้อความ และมีแนวโน้มพุ่งขึ้นต่อเนื่อง

ทว่า ช่วง 5 วัน กระแสปังชาทำให้เกิดเอนเกจเมนต์มากกว่า 2 ล้านเอนเกจเมนต์ เฉพาะวันที่ 31 สิงหาคม 2556 วันเดียว กวาดไปถึง 1.2 ล้านเอนเกจเมนต์ โดยข้อความส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนเฟซบุ๊ก(Facebook) มากที่สุด 63.48% ตามด้วย เอ็กซ์หรือ ทวิตเตอร์(Twitter) 29.78% ยูทูป(Youtube) 5.03% อินสตาแกรม(Instagram) 0.45% และอื่นๆ 1.26% ข้อมูลดังกล่าว ทำให้แบรนด์นำไปตีโจทย์ วางแผนแก้วิกฤติ และผลกระทบที่เกิดขึ้นให้สอดคล้องกับแต่ละแพลตฟอร์มได้

ฟ้องร้อง-โลโก้ลอกเลียนแบบ-หิว  คีย์เวิร์ดร้อนแรง จาก “ปังชา”

สำหรับ 3 ประเด็นหลักที่โซเชียลถกสนั่น ดังนี้

1.เสียงวิพากย์วิจารณ์การฟ้องร้อง ชาวโซเชียลตั้งคำถามเกี่ยวกับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและเครื่องหมายการค้ากับเมนู “ปังชา” ในครั้งนี้ บ้างมองว่าไม่เป็นธรรมกับธุรกิจขนาดเล็ก และเปรียบเทียบกับธุรกิจใหญ่อื่นๆ ที่ชื่อแบรนด์ถูกใช้เป็นคำเรียกสามัญไปแล้วแต่ไม่มีการฟ้องร้องใดๆ รวมถึง บ้างแสดงออกว่าจะเลิกสนับสนุนเพราะรู้สึกไม่พอใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น

ทั้งยังมีหลายโพสต์ที่ออกมาให้ความรู้เรื่องกฎหมายดังกล่าวว่ามีความซับซ้อน ไม่แปลกใจหากคนไทยจะสับสน โดยให้ความรู้ว่าแท้จริงแล้ว ปังชา ได้รับความคุ้มครองในด้านเครื่องหมายการค้า ส่วนคำว่า ปังชา Pang Cha ไม่สามารถจดทะเบียนได้เนื่องจากเป็นคำสามัญ หากองค์กรหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อให้ความรู้ที่ถูกต้อง จะช่วยลดข้อโต้แย้งบนโลกโซเชียลได้มากทีเดียว

2.กระแสตีกลับ "โลโก้ลอกเลียนแบบ" และความสับสนในแบรนด์ ซึ่งจากกระแสที่เกิดขึ้น ทำให้มีนักออกแบบออกมาพูดถึงโลโก้ประกอบผลิตภัณฑ์ทางร้าน มีความคล้ายคลึงกับลายเส้นหญิงชุดไทยนั่งพับเพียบ เกล้าผมมวยพันอก ทัดดอกไม้ ใส่สร้อยคอ ยื่นมือขวาเหยียดยาว ที่อยู่บนปฏิทินของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อดังที่ทำตลาดเมื่อปี 2550 จนเกิดการตั้งคำถามถึงเรื่องความเป็นต้นฉบับ (Originality) และแบรนด์เองถูกมองว่าได้ไปลอกเลียนแบบงานของผู้อื่นมาเช่นกัน

ฟ้องร้อง-โลโก้ลอกเลียนแบบ-หิว  คีย์เวิร์ดร้อนแรง จาก “ปังชา”

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความสับสนในตัวแบรนด์ระหว่างร้าน “ลูกไก่ทอง” ที่ถูกพูดถึง และร้าน “ไก่ทองออริจินัล” ที่โดนผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวเพราะชื่อคล้ายคลึงกัน จนต้องมีประกาศออกมาว่าไม่มีความเกี่ยวข้องในการตัดสินใจและการดำเนินการใด ๆ ในทางธุรกิจทั้งสิ้น

3.ความหิวไม่เข้าใครออกใคร แม้สังคมไทยจะอุดมไปด้วยดราม่า และประเด็นร้อน “ปังชา” ถูกถกเถียงกันบนโซเชียลแค่ไหน แต่อีกมุมหนึ่งยังคงมีผู้บริโภคที่โพสต์ภาพปังชา รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเกี่ยวข้อง ทั้งชาไทย น้ำแข็งไส และขนมปังปิ้ง หรือแม้กระทั่งแบรนด์ดังในหมวดอาหารก็เกาะกระแส

แน่นอนว่าการเห็นภาพขนมหวานยามดึกน่า กระตุ้นให้ชาวโซเชียลผู้เสพคอนเทนต์และเกาะติดดราม่า “หิว” ได้อย่างไม่ยาก สะท้อนไม่ว่าสถานการณ์ไหน คนไทยขอเลือกอิ่มท้องก่อนเป็นอันดับแรก!

กระแสร้อนและเป็นประเด็นใหญ่ทางสังคม เพราะเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ การทำมาหากินของผู้ประกอบการ อีกด้านทำให้สังคมลุกขึ้นมาสนใจเรื่องลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้ามากขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่นักลงทุน พ่อค้าแม่ขายต้องเรียนรู้กฎกติกา กฎหมาย เพราะหลายแบรนด์ไม่แค่เล็ก แต่บิ๊กเนมเคยเจอ “ตอ” การใช้เครื่องหมายการค้ามาแล้ว โดยเฉพาะในต่างประเทศ ที่แบรนด์ไทยชื่อดังหลายหมวดหมู่ ถูกนำไปจดทะเบียน “ตีกัน” ไว้ไม่น้อย ชนิดที่ผู้ประกอบการไทยต้องหาช่องใช้แบรนด์ตัวเองอย่างไรเพื่อค้าขายให้กลุ่มเป้าหมายต่างแดน