‘ปังชา’ จด ‘เครื่องหมายการค้า’ แล้วต่อไปจะขาย ‘บิงซูชาไทย’ ได้หรือไม่?

‘ปังชา’ จด ‘เครื่องหมายการค้า’ แล้วต่อไปจะขาย ‘บิงซูชาไทย’ ได้หรือไม่?

ทำความรู้จัก “เครื่องหมายการค้า” (Trademark) คืออะไร สำคัญอย่างไร หลัง ‘ปังชา’ ยื่นจดทะเบียน ทำประชาชนหวั่นขายปังเย็นและบิงซูใส่ชาไทยไม่ได้

เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก Pang Cha - ปังชา World Class Thai Tea  ซึ่งเป็นเมนูสุดฮิตของร้านลูกไก่ทองและปังชาคาเฟ่ ก่อตั้งโดย “แก้ม-กาญจนา ทัตติยกุล” ได้โพสต์ว่า ทางแบรนด์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) ทั้งภาษาไทย “ปังชา” และภาษาอังกฤษ “Pang Cha” ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

โดยการออกมาประกาศครั้งนี้ ทางแบรนด์ระบุว่า ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข  และห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย 

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของแบรนด์ปังชาในครั้งนี้ สร้างการถกเถียงและสงสัยในโลกออนไลน์ว่า “เครื่องหมายการค้า” ครอบคลุมอะไรบ้าง และเจ้าของแบรนด์จะได้ประโยชน์อะไรจากการจดทะเบียนบ้าง “กรุงเทพธุรกิจ” หาข้อมูลมาให้แล้ว

‘ปังชา’ จด ‘เครื่องหมายการค้า’ แล้วต่อไปจะขาย ‘บิงซูชาไทย’ ได้หรือไม่?

พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ระบุไว้ว่า “เครื่องหมายการค้า” เป็นเครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายนั้น แตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น

ขณะที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ระบุไว้ว่า “เครื่องหมายการค้า” (Trademark) เป็นเครื่องหมายที่ใช้ในการระบุ และจําแนกความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจจะเป็นสินค้าหรือบริการก็ได้ ในบางประเทศ รวมถึงประเทศไทย ใช้คำว่า “เครื่องหมายการค้า” สำหรับสินค้า และ “เครื่องหมายบริการ” สำหรับบริการ

สำหรับองค์ประกอบที่สามารถใช้เป็นเครื่องหมายการค้าตามพ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่สัญลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วย คำ ชื่อ ตัวอักษร ตัวเลข ภาพวาด รูปภาพ รูปร่าง สี สัญลักษณ์ หรือจะนำสัญลักษณ์มารวมกัน จนกลายเป็น ชุดคำ หรือประโยค สโลแกนโฆษณา และชื่อเรื่อง (Titles) รวมไปถึงภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่าง หรือรูปทรงของวัตถุ เสียง หรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน

อีกทั้ง เครื่องหมายที่จะสามารถจดทะเบียนได้จะต้องมีลักษณะบ่งเฉพาะ ต้องไม่เป็นคำหรือสิ่งที่ใช้กันสามัญทั่วไป หรือเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าหรือบริการอื่นที่มีอยู่ก่อน มีความโดดเด่นทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าแตกต่างจากสินค้าและบริการอื่น ๆ 

 

  • สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้า

สำหรับผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปสามารถยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ที่ ศูนย์บริการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา จ.นนทบุรี หรือยื่นคำขอผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้ทุกจังหวัด หรือทางเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้

เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วจะมีอายุคุ้มครอง 10 ปีนับตั้งแต่วันยื่นคำของจดทะเบียน และสามารถต่ออายุได้ครั้งละ 10 ปีไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ถ้ายื่นคำขอต่ออายุหลังจากหมดอายุ 90 วัน จะถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นถูกเพิกถอนการจดทะเบียนทันที

เมื่อจดทะเบียนเรียบร้อยแล้วเจ้าของเครื่องหมายการค้าจะได้รับสิทธิดังนี้

1. สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายสำหรับสินค้าที่อยู่ในรายการขอจดทะเบียนไว้ รวมถึงการโอนหรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายสินค้าที่จดทะเบียนไว้ทั้งหมดหรือบางส่วน โดยจะค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้

2. สิทธิป้องกันไม่ให้ผู้อื่นจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกัน จนทำให้ผู้บริโภคสับสนหรือหลงผิด รวมทั้งมีสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ละเมิดเครื่องหมายการค้าของตน หรือฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับ เครื่องหมายการค้าของตนได้

3. สิทธิที่จะโอนหรือรับมรดกสิทธิกันโดยการโอนหรือรับมรดกพร้อมกิจการที่เกี่ยวกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ได้ โดยจะต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียน และ ในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เป็นเครื่องหมายชุดจะต้องโอนหรือรับ มรดกสิทธิกันทั้งชุด

4. สิทธิในการดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ละเมิดเครื่องหมายการค้า

อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้บังคับให้ผู้ประกอบการธุรกิจต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก่อนถึงจะทำธุรกิจได้ ดังนั้นผู้ประกอบการมีสิทธิที่จะไม่จดทะเบียนก็ได้ แต่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนจะได้รับเพียงสิทธิในการใช้เครื่องหมายทางการค้าเท่านั้น ไม่สามารถฟ้องร้องคดีหรือเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้ละเมิดเครื่องหมายทางการค้าได้ เว้นแต่กรณีลวงขาย ซึ่งเป็นการทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าสินค้าของตน มีความเกี่ยวข้อง หรือเข้าใจว่าเป็นสินค้าของแบรนด์อื่น แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเครื่องหมายทางการค้า 

 

  • ปังชา ได้รับคุ้มครองอะไรบ้าง

จากข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า แบรนด์ปังชาได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า บริการรับรอง เครื่องหมายร่วมใช้ โดยมีสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองดังนี้

  • ตัวอักษรที่เป็นแบบการเขียนพิเศษ
  • ตัวอักษรในรูปแบบของลายเซ็น
  • ผู้หญิงนั่งหรือคุกเข่า
  • ผู้หญิงสวมชุดกิโมโน สาหรี เจลาบา ชุดไทย
  • ตัวอักษรหรือตัวเลขที่เป็นรูปพืช
  • ใบไม้ประเภทอื่น ๆ
  • ใบไม้ในรูปแบบอื่นที่ไม่เป็นธรรมชาติ
  • ใบไม้หนึ่งใบ
  • อาหารที่ใส่ไว้ในจานและชาม

‘ปังชา’ จด ‘เครื่องหมายการค้า’ แล้วต่อไปจะขาย ‘บิงซูชาไทย’ ได้หรือไม่?
 

  • “เสือพ่นไฟ vs หมีพ่นไฟ” กรณีศึกษาคดีละเมิดเครื่องหมายทางการค้า

ในปี 2564 เกิดการฟ้องร้องคดีของแบรนด์ชานมไข่มุกที่ทำเอาสะเทือนทั้งวงการ โดย “เสือพ่นไฟ” ฟ้อง “หมีพ่นไฟ” ซึ่งทางศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ หมีพ่นไฟ (The Fire Bear) ได้ใช้ชื่อแบรนด์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่มีความใกล้เคียงกับ เสือพ่นไฟ (The Fire Tiger) อีกทั้งทำธุรกิจขายชานมไข่มุกเช่นเดียวกัน ตลอดจนการใช้ประติมากรรมรูปหัวหมีพ่นไฟ ที่มีลักษณะอ้าปากเป็นช่องส่งสินค้าชานมไข่มุกให้แก่ลูกค้า เป็นการกระทำละเมิด ฐานลวงขาย เนื่องจากมีลักษณะการดำเนินธุรกิจที่คล้ายกับ เสือพ่นไฟ ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าทั้งสองแบรนด์เป็นสินค้าที่มีเจ้าของเดียวกัน ทำให้หมีพ่นไฟต้องชดใช้เงิน 10 ล้านบาท ฐานลวงขาย ซึ่งกลายเป็นค่าเสียหายสูงสุดในคดีเครื่องหมายการค้าไทย

ดังนั้นเมื่อนำมาเทียบกับการจดเครื่องหมายทางการค้า ปังชา - Pang Cha และจดสิทธิบัตร คุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์ ถ้วยใส่น้ำแข็งไส ทำให้ผู้ทำธุรกิจน้ำแข็งไสไม่สามารถใช้ชื่อหรือโลโก้ รวมถึงการตกแต่งร้าน จุดเด่น สโลแกน การตกแต่งร้าน ตลอดภาชนะที่คล้ายคลึงกับ ปังชาได้ แต่ยังสามารถขายเมนู ปังเย็นใส่ชาเย็น หรือ บิงซูชาไทยได้เหมือนเดิม


ที่มา: กรมทรัพย์สินทางปัญญากรมทรัพย์สินทางปัญญา 2สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม